ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ลูกสาว 6 ขวบ ชวนลูกเรียนว่ายน้ำ เรียนไปแป๊บนึงพอจะว่ายได้ก็ไม่ยอมไปเรียนแต่ไปเล่นน้ำไปค่ะ ชวนเรียนเปียนโนเรียนยังไม่จบคอร์สก็ไม่อยากเรียนอีกแล้วบอกไม่ชอบ เราควรให้ลูกไปต่อหรือพอแค่นี้คะ ควรให้ลูกเรียนต่อหรือให้ลูกค้นหาสิ่งที่ลูกชอบ ใจนึงก็กลัวลูกหยิบโหย่งทำอะไรไม่สุดค่ะ
ก่อนตัดสินใจให้ลูกเรียนต่อหรือไม่เรียน หมอขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาร่วมวิเคราะห์สาเหตุกันก่อนค่ะ สาเหตุที่ทำให้ลูกหยุดเรียนสิ่งที่เคยบอกว่าชอบ หลังจากที่เรียนไปได้ไม่นาน มีดังต่อไปนี้
🌟 1. ลูกไม่อดทน 🌟
เด็กหลายคนเป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี ชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์ แต่พอลงทำกิจกรรมที่ต้องฝึกฝน กลับแป๊ก ไม่ยอมไปต่อเพราะเด็กกลุ่มนี้เขาชินกับกิจกรรมที่ให้ผลลัพธ์ทันทีทันใด เช่น ถ้าวาดรูป เด็กจะมีความสุขที่เห็นรูปภาพเป็นไปตามจินตนาการเขา ผลลัพธ์มันเกิดขึ้นตามที่ใจคิดเลยค่ะ
แต่กิจกรรมที่ต้องมีการฝึกฝนซ้ำ ๆ ถึงจะเป็น เช่น ว่ายน้ำ เปียโน บัลเลต์ กว่าจะทำได้ เด็กจะต้องฝึกฝนอยู่หลายหน อย่างว่ายน้ำ กว่าจะลอยตัวได้ ก็ต้องฝึกตีขาอยู่หลายครั้ง หรือจะเล่นเปียโนได้สักเพลง ก็ต้องจิ่มซ้ำ ๆ แบบเดิมหลายครั้งมาก เด็กที่ชินกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามใจคิดทันที จะไม่ชินกับการรอคอยผลลัพธ์ที่ต้องเก็บสะสมฝีมือแบบนี้ นี่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กยุคนี้
หมอขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งหยุดเรียน ไม่งั้นลูกอาจหยิบโหย่ง(ตามที่คุณแม่ในคำถามกำลังกังวล) อย่าเพิ่งหยุดเรียนตามคำบอกของลูก แต่ควรให้กำลังใจลูกว่า “ลูกน่าจะไม่ชินกับการฝึกฝนซ้ำ ๆ เพราะงานที่ลูกทำส่วนใหญ่ไม่มีฝึกซ้ำ ๆ แบบนี้ แม่อยากให้ลูกลองเรียนต่อไปก่อน แม่เชื่อว่าถ้าลูกทำไปเรื่อย ๆ ลูกก็จะทำได้ดีขึ้นค่ะ” อย่าลืมสีหน้าท่าทางของคุณพ่อคุณแม่จะต้องมีพลังบวกส่งไปให้ลูกด้วยนะคะ
🌟 2. ลูกไม่มั่นใจในศักยภาพตนเอง 🌟
หลังจากที่เด็กฝึกฝนไปได้สักพักหนึ่ง เด็กจะไม่รู้สึกว่าเขาดีขึ้นหรือเก่งขึ้น เพราะความเก่งที่พัฒนาขึ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์นั้นเห็นไม่ชัด เช่น วันนี้ลูกเรียนตีขา ความจริงคือความสามารถในการตีขาและลอยตัวนั้นดีขึ้นกว่าครั้งแรก แต่ลูกยังไม่สามารถลอยตัวได้ ลูกก็เข้าใจว่าตัวเองทำไม่ได้สักที ความเก่งที่เพิ่มขึ้นในระดับเล็ก ๆ เด็ก ๆ เขาไม่เห็นภาพ ความรู้สึกอยากเรียนจึงลดลง
ข้อนี้หมอขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ สังเกตสิ่งที่ลูกพัฒนาขึ้นในระดับเล็กน้อยนี้ และชื่นชมแบบบรรยายออกมาให้ลูกเห็นชัด ๆ เช่น “วันนี้แม่เห็นลูกลอยตัวได้นานกว่าครั้งที่แล้วนะ แถมยังลอยตัวได้มั่นคงกว่าเดิม ไม่ได้ผลุบโผล่ ๆ แล้ว เยี่ยมเลยลูก”
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมองให้เห็นภาพความสำเร็จในระดับเล็ก ๆ ลูกก็จะมองเห็นตนเองพัฒนาขึ้น และเริ่มเข้าใจความเก่งในกิจกรรมที่ต้องสะสมฝีมือ เก่งทีละนิด ๆ ลูกจะมั่นใจว่า เขากำลังเดินหน้าไปข้างหน้าอยู่ ไม่ได้อยู่ที่เดิมหรือถอยหลัง (เด็กหลายคนรู้สึกถอยหลัง เมื่อทำไม่ได้) ความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะเกิดขึ้น
🌟 3. คุณครูผู้สอนดุ ในลักษณะไม่ให้กำลังใจ 🌟
ครูผู้สอนจะดุจะเข้มงวด หมอไม่ว่า แต่หลายท่านทั้งดุ ทั้งด่า ตัดกำลังใจเด็ก มีขู่มากเกินไปด้วย แบบนี้หมอคิดว่าไม่โอเค ก็อยากจะบอกคุณครูว่า จะดุจะเข้มงวดเพื่อให้ลูกศิษย์ได้ดี หมอคิดว่าเราทำได้ แต่อย่าให้อารมณ์เชิงลบเราเข้าไปคุกคามเด็กให้กลัว และหมดกำลังใจกับตัวเองเลยค่ะ
หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่คิดให้ถ้วนถี่ก่อนสรุปว่าลูกไม่ชอบกิจกรรมนั้น ๆ อย่าเพิ่งคิดว่าลูกไม่อยากเรียนว่ายน้ำเพราะเขาไม่ชอบว่ายน้ำ เพราะหากเราหยุด ตามใจลูก เราอาจทำให้ลูกเป็นคนหยิบโหย่งได้
อย่าเพิ่งอนุญาตให้ลูกหยุดว่ายน้ำหรือหยุดเรียนเปียโน แต่ขอเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจลูก แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก ที่แม้วันนี้ยังไม่เห็น แต่ในอนาคตจะต้องมีอะไรพัฒนาขึ้นแน่ ๆ (มีแน่ค่ะ มองให้เห็นในรายละเอียดที่ก้าวหน้าขึ้น ลูกไม่เห็นพ่อแม่ต้องเห็น)
ขอให้ลูกลองไปให้ถึงที่สุด โดยมีกำลังใจและคำชื่นชมในความก้าวหน้าเล็ก ๆ ของเขาจากพ่อแม่ ให้ลูกได้สัมผัสเนื้อในของกิจกรรมนั้นให้มากที่สุดจริงๆ ซึ่งอย่างน้อยก็ควรจบคอร์สหนึ่ง หรือสัก 10 ครั้ง เพราะข้อมูลที่มากพอ จะทำให้เราประเมินได้ดีว่า ลูกชอบหรือไม่ชอบจริงๆ
🌟 4. ลูกไม่ชอบจริง ๆ เมื่อลูกคลุกวงในมากพอและนานพอ 🌟
เมื่อถึงตอนนั้นพ่อแม่จะเห็นชัดขึ้น ก็ควรยอมรับการตัดสินใจของลูก เด็กสามารถหยุดเรียนได้ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครอบครัวด้วย
หลายบ้านไม่ยอมหยุด ฝืนให้เรียนต่อ ลูกต่อต้านทั้งพ่อแม่และวิชานั้น ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่อีกหลายบ้าน เด็กสามารถเรียนต่อในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบได้ โดยความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกไม่เสียหาย ตรงนี้มีข้อดีอยู่เพราะการทำในสิ่งที่ฝืนใจได้ เพาะบ่มความอดทนให้เราได้ดีเยี่ยม หมออยากให้ประเมินลูกและบริบทครอบครัวเราดูค่ะ ไม่ต้องเหมือนใคร เพราะไม่มีผิดหรือถูก
...”อย่าเพิ่งตัดสินใจตามลูกบอกทั้งหมด ให้ใช้กระบวนการของพ่อแม่ในการตัดสินใจร่วมด้วย เท่านั้นเองค่ะ”...