152
ภายใต้ความขี้อายของลูกคือ "ความกังวล"

ภายใต้ความขี้อายของลูกคือ "ความกังวล"

โพสต์เมื่อวันที่ : May 7, 2023

เด็กขี้อาย ขี้กังวล ส่วนใหญ่ตอนอยู่บ้านก็ร่าเริงดี บางคนพูดเก่งด้วยซ้ำ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ใหม่ เช่น โรงเรียนใหม่, บ้านเพื่อนใหม่ หรืออาจเป็นบ้านตัวเองนี่แหละ แต่มีคนไม่รู้จักมาที่บ้าน เช่น เพื่อนของพ่อแม่, คุณย่าหรือคุณยายที่นาน ๆ มาหาก็สามารถสร้างกังวลใจให้เด็กได้

 

ภายใต้ความขี้อายคือความกังวล หากพ่อแม่เข้าใจว่าลูกเป็นกังวลกับสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน หรือคนที่ไม่ค่อยพบกัน เราจะได้ไม่เร่งรัดลูกให้รีบสวัสดี หรือดันลูกเข้าไปยังโรงเรียนที่เพิ่งเคยเจอครั้งแรก เพราะจะยิ่งกังวลมากขึ้น ๆ หากพ่อแม่ให้เวลาเด็ก เด็กจะมีเวลาสำหรับทำความเข้าใจเรื่องใหม่นี้ได้นานพอ ดังนั้นหากลูกเราขี้อาย ปรับตัวช้า สิ่งที่ควรนึกให้ออกอันดับแรกคือ เตรียมเวลาให้มากพอ อย่าบอกลูกกะทันหัน, อย่าทำอะไรฉุกเฉินจนลูกไม่ทันตั้งตัว

 

🎀 “ลูกขี้อาย” ช่วยลูกปรับตัวอย่างไรดี ? 🎀

 

🌟 1. พ่อแม่ควรอยากรู้ ความคิดและความรู้สึกลูกด้วยท่าทียอมรับ 🌟

เราไม่ควรโฟกัสแต่พฤติกรรมขี้อาย หลบข้างหลังพ่อแม่ อย่างที่บอกภายใต้พฤติกรรมม้วนติ้วคือความกังวล เราก็ต้องช่วยให้ลูกได้ระบายความกลัวนี้ ถึงจะแก้ไขได้ตรง พ่อแม่ควรตั้งคำถามปลายเปิด ด้วยท่าทีไม่ตัดสิน เช่น...

“แม่เห็นลูกหลบข้างหลังแม่ ตอนคุณป้าน้อยมาหา ลูกคิดอะไรคะ/ลูกรู้สึกอะไรคะ”
“จะเปิดเรียนแล้ว ลูกรู้สึกยังไงคะ/กังวลอะไรอีกนะคะ”

ท่าทีของพ่อแม่สำคัญมากกว่าคำพูด พ่อแม่ต้องตั้งใจฟังลูก ฟังเพื่อทำความเข้าใจลูก ไม่ใช่ฟังเพราะจะรีบสอน ไม่เร่งรีบ ไม่ตัดบท เมื่อลูกรับรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับความรู้สึกกังวลของเขา ลูกจะกล้าพูดออกมา และความไม่รีบก็จะช่วยให้ลูกมีเวลานึกถึงความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กไม่รู้ว่าตนเองคิดอะไรหรือรู้สึกอะไรอยู่ พ่อแม่อาจช่วยลูกด้วยการถามนำก็ได้ เช่น “ลูกกังวลว่าครูที่โรงเรียนจะดุหรือ” เป็นต้น

 

🌟 2. พ่อแม่รับรู้ความรู้สึกของลูกและยอมรับได้ 🌟

หากพ่อแม่ยอมรับได้จริง ๆ เราจะปลอบใจลูกได้ เช่น บอกลูกว่า ความรู้สึกกังวลหรือกลัวเป็นภาวะปกติ ผู้ใหญ่เยอะแยะก็กังวล หลายคนเวลาจะพูดกับลูกค้าหรือเจ้านายก็อาย ที่ลูกอายก็ไม่ได้ผิดอะไร ลูกจะโล่งใจขึ้นเยอะที่เขาไม่แตกต่าง และมีคนมากมายบนโลกก็เป็นเหมือนกัน

 

🌟 3. พ่อแม่ช่วยลูกปรับตัวด้วยการพูดคุยล่วงหน้าก่อนถึงเวลาจริง 🌟

การคุยกับลูกก่อนว่าควรทำตัวยังไงดี สามารถลดความกังวลลูกลงได้พอสมควร เป็นเหมือนการซักซ้อมบทบาทของตัวเองในสมอง ซึ่งดีกว่าไปเจอเหตุการณ์แบบไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน เช่น ถ้าลูกกลัวป้าน้อย ทั้ง ๆ ที่ป้าน้อยก็ไม่ใช่คนใจร้ายกับเด็ก แต่อาจเพราะเขาเสียงดังโผงผาง เราก็บอกลูกว่า “ลองอยู่ใกล้ ๆ แม่สักพัก ยังไม่ต้องหนีไปไหน แล้วดูด้วยตาตัวเองมั้ยว่า เสียงดัง ๆ แบบป้าน้อย จริง ๆ เขาไม่มีอะไร”

 

การคุยกันก่อนทำให้ลูกได้ดึงภาพในสมองออกมาคิด ลูกอาจเห็นภาพป้าน้อยที่ใจดีพร้อมๆกับเสียงที่ดังไปด้วยก็ได้ จินตนาการเหล่านี้ ช่วยลดความกังวลลูกลงได้

🌟 4. ให้ลูกเผชิญสิ่งที่กังวลในระยะเวลาสั้น ๆ 🌟

จากนั้นแล้วค่อย ๆ นานขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกก่อน เมื่อใดก็ตามที่ลูกรู้สึกว่าควบคุมได้ ลูกจะมั่นใจขึ้น ๆ พ่อแม่จึงควรให้ลูกอยู่ในเหตุการณ์ที่กังวลระยะเวลาสั้น ๆ เช่น อนุญาตให้ลูกพบคุณป้าน้อยในช่วงแรกแป๊บนึง แต่ขอให้ยืนอยู่ข้าง ๆ แทนการหลบข้างหลังก็พอ (อย่าบังคับให้สวัสดีนะคะ อันนี้ก้าวใหญ่ไปค่ะ) เมื่อลูกรู้สึกว่าทำได้ ครั้งต่อไปจะกังวลลดลง แล้วค่อย ๆ เพิ่มความยากนะคะ ซึ่งวิธีนี้เราก็ต้องคุยกับลูกก่อน

โดยสรุป เด็กขี้อาย-ขี้กังวล ต้องการเวลาในการทำใจ ต้องการพ่อแม่เข้าใจ ต้องการรู้สึกว่าตนเองปกติ และต้องการความรู้สึกควบคุมได้แม้จะทีละนิด ๆ พ่อแม่จึงควรเข้าใจธรรมชาติของ “ความรู้สึกกังวล” อย่ามองเพียงแค่พฤติกรรมภายนอก (ที่เรามักรำคาญ)

 

“ภายใต้ความขี้อายคือความกังวล” ขอพ่อแม่เข้าใจ ขอพ่อแม่ให้เวลา ขอพ่อแม่ชวนคุยเพื่อได้เข้าใจตนเอง และได้ระบายความอึดอัด สุดท้ายขอพ่อแม่ช่วยวางแผนให้ลูกมีโอกาสปรับตัวทีละนิด ๆ นะคะ