810
รับมือ "ลูกร้องไห้อาละวาด" ปรับพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้

รับมือ "ลูกร้องไห้อาละวาด" ปรับพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้

โพสต์เมื่อวันที่ : June 29, 2023

 

"ลูกของคุณร้องอาละวาดบ้างไหมครับ" หากถามคำถามนี้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัย 1 - 4 ปี เชื่อได้เลยว่า เกือบทุกคนต้องเคยรับมือกับมันมาแล้วทั้งนั้น จะมากจะน้อยจะนานจะสั้นก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องของพื้นอารมณ์ ปัจจัยกระตุ้น เหตุการณ์ สถานที่ วิธีการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงลักษณะบุคลิกส่วนตัวของคุณพ่อคุณแม่ด้วย 

 

โดยการรับมือกับเด็กที่ร้องอาละวาด หรือ Temper Tantrum นั้นเป็นเรื่องที่ 'ไม่ง่าย' เลย เพราะเมื่อเด็กตัวน้อยสติหลุด ร้องไห้แผดเสียงอย่างสุดเสียง ร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเต็มที่ไปกับอารมณ์ที่พุ่งพล่าน บางคนนอนลงชักดิ้นชักงอ บางคนกระทืบเท้าไปมา บางคนอาจทำร้ายตัวเอง ผู้อื่นหรือทำลายสิ่งของ

 

ผู้ที่รับมือกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นย่อมรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย และหลายครั้งโกรธกับพฤติกรรมของลูกที่ดูแล้วไม่มีเหตุผลของเขา พ่อแม่อาจขาดสติได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการปะทะ การทำโทษรุนแรงรวมถึงการด่าทอและการใช้ความรุนแรงอย่างการตีเพื่อหยุดพฤติกรรมร้องอาละวาดลง ซึ่งไม่ดีต่อเราและลูกเลย 

 

 

เราควรตอบสนองกับลูกอย่างไร เมื่อเขาร้องอาละวาด

สิ่งแรกที่ไม่ควรทำเลยก็คือ “การตะคอก” และ “การตี” ลูก เพราะนั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ซ้ำยังทำให้เกิดผลเสียอีกมากมายตามมา รองลงมาที่ไม่ควรทำก็คือ “การยอมแบบไร้เงื่อนไข” ต่อเสียงร้องอาละวาดของลูก เพราะนั่นจะทำให้เกิดการร้องแบบนี้อีกซ้ำ ๆ ในอนาคต 

 

สิ่งที่ควรทำก็คือ ให้ความสนใจต่อ “อารมณ์ความรู้สึก” มากกว่า “พฤติกรรม” ยกเว้นพฤติกรรมนั้นรุนแรงเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายสิ่งของ ก็ให้หยุดพฤติกรรมที่รุนแรงนั้นก่อนทันที จับหยุด ย้ายที่ เข้ามุมสงบตามความเหมาะสม แต่หากไม่มีก็ให้โฟกัสที่อารมณ์ความรู้สึกก่อนเสมอ 

 

เสียใจ โกรธ หงุดหงิด ความอยากได้ และอีกหลากหลายอารมณ์ที่เกิดขึ้น ผลักให้เกิด ‘พฤติกรรมร้องอาละวาด’ ที่อยู่ตรงหน้าคุณพ่อคุณแม่ตอนนี้ ดังนั้นความเข้าใจ อยู่ข้าง ๆ ปลอบโยนลูกให้เขารู้จักและจัดการกับอารมณ์แย่ ๆ เหล่านี้อย่างเหมาะสมคือเรื่องที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยเงียบสงบอยู่ข้าง ๆ เขาตอนที่เขาร้องไห้สุดเสียงก็ช่วยได้แล้วในระดับหนึ่ง อย่าเดินหนีเขาไป

 

เมื่ออารมณ์เริ่มลดลงบ้างก็เข้าไปกอดปลอบใจ แล้วค่อยว่ากัน โดยมีข้อแม้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วคือสิ่งที่เกิดไปแล้ว เงื่อนไขกติกาก็คือกติกาที่ควรทำ เช่น เย็นแล้วก็ควรต้องกลับบ้าน ทุกคนก็ต้องแปรงฟันอาบน้ำ ของเล่นที่ล้มครืนลงมามันก็คือล้มลงมาแล้ว ของเล่นวันนี้เราตกลงกันแล้วว่าเราจะไม่ซื้อ เป็นต้น มันเกิดขึ้นแล้ว บางอย่างใจเย็น ๆ แล้วแก้ไขได้ บางอย่างก็ต้องเข้าใจและยอมรับมันให้ได้คือสิ่งจำเป็น วันนี้อาจยังเสียใจมาก แต่วันหน้าลูกจะเข้าใจมันมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง 

 

 

คุณสมบัติที่สำคัญมากของพ่อแม่ในการรับมือการร้องอาละวาดของลูกก็คือ “สติ” ดังนั้นพ่อแม่ต้องฝึกสติของตัวเองให้ดีเสมอ แล้วทุกอย่างจะผ่านไป ลูกจะเติบโตและดีขึ้นได้ในที่สุด

 



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง