320
เทคนิคเพิกเฉย 5 ข้อ ปราบลูกร้องไห้โวยวาย

เทคนิคเพิกเฉย 5 ข้อ ปราบลูกร้องไห้โวยวาย

โพสต์เมื่อวันที่ : May 2, 2023

 

เชื่อว่าพ่อแม่หลาย ๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเทคนิคมาก่อน เป็นเทคนิคที่เอาไว้ใช้รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมโวยวาย ร้องไห้ เอาแต่ใจ แบบไม่มีเหตุผล 

 

“การเพิกเฉย” ในที่นี้ ไม่ใช่การละเลยหรือทอดทิ้งลูก แต่คือการไม่ให้ความสนใจ เมื่อลูกร้องไห้โวยวาย คุยไม่รู้เรื่อง และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกสงบลงด้วยตนเอง เหมาะกับเด็กในช่วงวัยที่สามารถเข้าใจภาษาและสื่อสารได้ หรือประมาณ 2 ขวบขึ้นไป ส่วนพ่อแม่เองก็ได้มีเวลาสงบสติอารมณ์ และจัดการกับพฤติกรรมลูกได้โดยไม่ต้องตวาดหรือดุลูก 

 

 

การใช้เทคนิคนี้ให้ได้ผล ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พ่อแม่ต้องตั้งสติและเข้าใจหลักการจริง ๆ ถึงจะได้ผล หมอขอสรุปขั้นตอนการใช้เทคนิค “เพิกเฉย” ดังนี้

 

  • 1. เริ่มที่พ่อแม่ ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เพราะถ้าทำตอนมีอารมณ์โกรธ น้ำเสียงและท่าทางจะกลายเป็นส่งสัญญาณว่า “แม่ไม่เอาหนูแล้ว” ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง 

 

 

  • 2. ย่อตัวลงในระดับเดียวกับลูก จับมือ มองหน้าสบตา แล้วพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆนิ่งๆ สีหน้าจริงจัง “หนูร้องไห้แบบนี้ แม่ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าหนูเงียบเมื่อไร เราค่อยมาคุยกัน”

 

 

  • 3. เพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด สีหน้า การกระทำ ไม่พูดซ้ำว่าเงียบได้แล้ว ไม่มองหน้า ไม่สบตา รวมทั้งไม่อุ้มหรือเช็ดน้ำตาให้ ระหว่างนั้น ก็หันไปหาอะไรทำอย่างอื่น กวาดบ้าน เช็ดโต๊ะ แต่อย่าเดินหนีไปเลย

 

 

  • 4. ในกรณีที่ลูกใช้ความรุนแรง ทำร้ายตัวเอง คนอื่น หรือข้าวของ เช่น เดินมาตีแม่หรือปาของเล่น ให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว แล้วหันไปจับมือลูกแน่น ๆ สบตา พูดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “ไม่ตีแม่” หลังจากนั้นปล่อยมือลูกและกลับมาเพิกเฉยต่อ หากลูกทำซ้ำให้ทำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด

 

 

  • 5. กลับมาให้ความสนใจเมื่อลูกสงบ ด้วยการชมแบบเฉพาะเจาะจง และชวนลูกพูดคุย เพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน “หนูเก่งมากเลยลูก ที่หยุดร้องไห้เองได้” “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น/มีอะไรอยากให้แม่ช่วย” ปิดท้ายด้วยการกอดปลอบ บอกรักลูก และชวนไปเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นด้วยกัน 

 

 

ดังนั้นถ้าบ้านไหนที่เคยทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ลองเช็กดูว่ามีขั้นตอนไหนตกหล่นไปรึเปล่า และอย่าลืมว่าทุกเทคนิคการเลี้ยงลูกจะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อพ่อแม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกมากพอ เป็นพ่อแม่ที่ ใจดี ใจเย็น แต่ไม่ตามใจ มีเวลาคุณภาพให้ เข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก 

 



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง