236
Time Out! ขอเวลานอก ไม่ใช่ทอดทิ้ง

Time Out! ขอเวลานอก ไม่ใช่ทอดทิ้ง

โพสต์เมื่อวันที่ : December 31, 2021

 

Time out หรือ ขอเวลานอก คือ วิธีการช่วยลูกสงบอารมณ์แบบหนึ่ง โดยมีการจัดพื้นที่ตรงมุมห้อง เก้าอี้ หรือตรงไหนก็ได้ที่ลูกอยู่ได้อย่างปลอดภัย

 

ซึ่งก่อนที่จะใช้วิธี Time Out นี้ พ่อแม่ได้ตกลงกับลูกก่อนแล้วว่า “พื้นที่ตรงนี้” จะมีไว้สำหรับช่วยลูกตอนมีอารมณ์ เพื่อให้ลูกสงบอารมณ์เอง และพ่อแม่จะไม่โมโหเด็ดขาดตอนพาลูกมานั่งตรงนี้ พ่อแม่ไม่เดินหนีลูกไป เหมือนจะทิ้งหนีหาย อาจเดินไปมา หรือหากจะเบี่ยงเบนตนเองไปทำธุระอื่นก็ต้องบอกลูกว่า “แม่ไปล้างจาน(หรืออื่น ๆ) ระหว่างรอลูกสงบนะ” แต่พ่อแม่จะไม่พูดอะไรมากว่านี้แล้ว เพราะลูกจะได้ฝึก “เอาอารมณ์ลง” เป้าหมายของการ Time out คือ “สร้างพื้นที่” ให้ลูกพาตนเองไปอยู่ เพื่อจัดการอารมณ์ตนเองได้

 

 

เด็กที่เกาะพ่อแม่เวลาร้องไห้ หากพ่อแม่ส่งภาษาท่าทางผิด เช่น โอบกอด ลูกจะรู้สึกถูกโอ๋และสงบลงได้เร็ว ข้อดีคือลูกสงบลงเร็วมาก ข้อเสียคือลูกจะพึ่งพิงคนอื่นเพื่อสงบ และอาจจัดการอารมณ์ตนเองไม่เป็น หากไม่เคยทำเองเลย 

 

คนมากมายเข้าใจผิดว่า Time out คือ การทอดทิ้งอย่างไม่แยแส ประหนึ่งว่าจะเป็นอะไรก็ไม่อยากสนใจแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดมาก ๆ และบางคนก็ใช้เป็นวิธีลงโทษเมื่อลูกทำผิดอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่ (แต่บางตำราก็มีใช้ แต่หมอไม่แนะนำเพราะมีรายละเอียดมากกว่านี้)

 

พ่อแม่ที่จะใช้วิธี Time Out ! ควรจัดการอารมณ์ตนเองก่อน ถ้ายังอารมณ์ไม่ดี ไม่ควรทำ Time out นะคะ เพราะช่วงที่เด็กไม่เดินไปเอง เราอาจกระชากเด็ก แนะนำให้เอาเก้าอี้มาอยู่ใกล้ ๆ เด็กได้ 

 

 

บริเวณที่ทำ Time out อาจจะเป็นเก้าอี้เปล่า ๆ วางตรงมุมห้อง หรือบางตำราก็แนะนำให้วางของเล่นโปรดไว้ด้วย เช่น ตุ๊กตาหมีที่ลูกชอบ หรือวางดินสอ-กระดาษ เพื่อให้ลูกเบี่ยงเบนตนเองกับของเหล่านี้ จะได้สงบเร็วขึ้น เมื่อลูกสงบแล้ว พ่อแม่ก็มาคุยเพื่อทำความเข้าใจกันต่อ (เหมือนช่วง Reconnect ในเทคนิคเพิกเฉย รบกวนอ่านตอน “เทคนิคเพิกเฉยทำอย่างไร ลูกไม่รู้สึกถูกทิ้ง”)

 

เนื่องจากคนเข้าใจผิดเรื่อง Time out มาก มีการนำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง และเมื่อทำไม่เป็นก็ย่อมไม่ได้ผลดี กล่าวหาว่า Time out ไม่ดีและอันตราย หมอฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะถ้าใช้เป็น ลูกจะได้ประโยชน์มาก เพราะเด็กรู้ว่ามีพื้นที่จะพาตัวเองไปอยู่ตอนอารมณ์ไม่ดี 

 

กรณีลูกสะอื้นหรือระบายความเศร้า พ่อแม่ควรรับฟังและสะท้อนความรู้สึกลูกเพื่อให้ลูกรู้ว่าเรารับฟังเขาทุกเรื่อง แต่อย่าสับสนกับการทำ Time out ซึ่งเราทำเพื่อเป็นช่องทางให้ลูกสงบกรณีที่ร้องไห้คุยไม่รู้เรื่อง หรือลูกต้องการสงบในพื้นที่ของเขาก่อนค่อยคุยกับพ่อแม่

 

ดังนั้น Time out เป็นวิธีที่เคารพตัวตนเด็กและพื้นที่ของเด็ก เด็กได้จัดการอารมณ์ตนเอง ไม่พึ่งพิงคนอื่นให้เงียบ ไม่ใช่การทอดทิ้ง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง