230
อ้อมกอดของพ่อแม่ ไม่เคยทำร้ายหรือปลอยล์ลูก 

อ้อมกอดของพ่อแม่ ไม่เคยทำร้ายหรือปลอยล์ลูก 

โพสต์เมื่อวันที่ : July 9, 2023

 

วลีที่หลายคนเคยได้ยินอย่าง "อย่าอุ้มเยอะ เดี๋ยวลูกติดมือ" หรือ "ปล่อยให้ร้องบ้าง เดี๋ยวลูกติดมือ" นี่คือความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่หลายครอบครัวก็ยังยึดถือปฏิบัติกันอยู่ ทั้งที่ความจริงนั้น การอุ้มกอดบอกรัก คือ เรื่องพื้นฐานที่เด็กคนหนึ่งต้องการจากพ่อแม่หรือใครสักคนหนึ่งที่อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา 

 

ยิ่งกอด ยิ่งอุ้ม เด็กก็ยิ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับเรา เพราะวันนี้ เราคือความผูกพัน คือความเชื่อใจ​ คือความปลอดภัย คือพ่อแม่ของเขาที่ทำให้เขาปลอดภัยและมั่นคงกับโลกใบนี้ การกอดจึงเป็นเรื่องที่ดีเสมอ 

 

แม้ในวันที่เขามีพฤติกรรมที่ไม่ดี ยิ่งดื้อต้องยิ่งกอดและให้ความเอาใจใส่มากขึ้น ไม่ใช่ตี ไม่ใช่เอาแต่ดุด่า ไม่ใช่เอาแต่จับผิด เพราะนั่นยิ่งทำให้พฤติกรรมไม่ดีและความดื้ออาจมีแต่จะทรงกับทรุด เพราะงานวิจัยบอกไว้ชัดเจน

 

 

งานวิจัยพบว่า "การปรับพฤติกรรมด้วยการทำโทษทางร่างกายทำให้เกิดผลเสียและไม่ได้ผล" (Physical discipline is harmful and ineffective) พิสูจน์แล้วว่า การลงโทษทางร่างกาย (Corporal Punishment) ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว [1] บาดแผลจากความรุนแรงเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคทางอารมณ์จิตใจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง และโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ เป็นต้น 

 

อีกการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารระดับนานาชาติ The Lancet เกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายกับผลต่อเด็ก (Physical punishment and child outcomes: a narrative review of prospective studies) [2] สรุปชัดว่า ยิ่งตี จะยิ่งมีปัญหาพฤติกรรมมากขึ้นในอนาคต

 

ในทางกลับกัน การปรับพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ สายสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Trusting Relationship) ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe Environment) ด้วยความคาดหวังของพ่อแม่ที่เป็นไปตามวัยของเด็ก [3] ดังนั้น จงอย่าเป็นนางยักษ์ที่รักลูก 

 

 

หากแต่เป็นคนที่มีอ้อมกอดที่อบอุ่น ในยามที่ดี และในยามที่ไม่ดี เพราะภายใต้พฤติกรรมที่ไม่ดีหรือความดื้อนั้น มีเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่โอเค อาจจะเสียใจ ผิดหวัง หงุดหงิด โกรธ ไม่ได้ดั่งใจ หรือก็แค่ง่วง ป่วย ไม่โอเค เขาก็ควรมีใครสักคนที่เข้าใจและให้ค่ากับทุกอารมณ์ความรู้สึกของเขา กอดเขา ปลอบใจเขา อยู่ข้าง ๆ เขา และ สอนให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม

 

 

..."รักลูกให้กอด กลับบ้านไปกอดลูกให้แน่น ๆ ในวันนี้และวันต่อ ๆ ไปนะครับ กอดไม่เคยทำร้ายใคร"...

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Durrant J, et al. CMAJ. 2012 Sep 4; 184(12): 1373–1377.

[2] Heilmann A, et al. Lancet. 2021 Jul 24;398(10297):355-364

[3] Durrant JE. J Dev Behav Pediatr 2008;29:55–66

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง