320
ก้าวแรกของ Growth Minsdet

ก้าวแรกของ Growth Minsdet

โพสต์เมื่อวันที่ : February 7, 2024

 

Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโต เป็นอีกหนึ่งวิถีความคิดที่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

 

แทนที่จะปล่อยให้ลูกเติบโตไปแล้วค่อยไปเรียนรู้ในวัยทำงานโดยการอบรมด้วยวิทยากรในองค์กรที่ต้องการให้ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ สามารถทำงานได้อย่างมีศักยภาพและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานได้อย่างดี

 

 

...”เพราะ Growth Mindset มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของทุกคน”...

 

 

คงดีกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาด้วย Growth Mindset ที่ดีตั้งแต่แรก เพราะมันส่งผลดีกับเด็กในทุกด้าน มิใช่เฉพาะการเรียนและการทำงานเท่านั้น หากแต่ส่งผลบวกต่อการใช้ชีวิต การเลือกทางเดินชีวิต การรับมือกับความเจ็บปวด-ผิดหวังในชีวิต (รวมถึงปัญหาความรักและปัญหาชีวิตอื่น ๆ ในอนาคตของเขาด้วย) อีกด้วย และคนที่เริ่มต้นปลูกฝังกรอบความคิดเหล่านี้ได้ก็คือ พ่อแม่ จากที่บ้านและการเลี้ยงดู 

 

 

เริ่มต้นการปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโตได้อย่างเรียบง่ายด้วย ‘วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก’ ด้วยวิธีการเลี้ยงลูกแบบไม่ปะทะ

 

เริ่มด้วยพูดคุยกันด้วยความใจเย็น ฟังเป็นส่วนใหญ่ เข้าใจเป็นหลัก แล้วค่อยจับบางเรื่องมาสั่งสอนเป็นส่วนรอง ไม่สอนด้วยไม้เรียวและความรุนแรงทุกชนิด เพราะเมื่อเราใช้ความรุนแรง หรือการสั่งเป็นหลักในการเลี้ยงลูก เรากำลังกดสมองส่วนคิดของลูกลงเพื่อให้ปฏิบัติตามผู้ใหญ่เท่านั้น ยิ่งกลัว เด็กยิ่งไม่กล้าลงมือทำ เด็กยิ่งไม่กล้าคิด กลัวความล้มเหลว เริ่มสงสัยใน ‘ความสามารถ’ ของตนเอง เริ่มสงสัยใน ‘คุณค่า’ ของตนเอง และเริ่มเชื่อว่าเขาทำได้เท่านี้ พัฒนาอีกไม่ได้ หากยิ่งใช้ความรุนแรงในทุกเรื่อง และชั่งตวงวัดในทุกเรื่องโดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำความเข้าใจกับบริบทและตัวของเด็ก เด็กอาจยิ่งถอยหนี หรือหลายครั้งอาจสู้กลับด้วยอารมณ์ไม่ใช่ผ่านการคิดวิเคราะห์สอย่างเป็นเหตุเป็นผล

 

ต่อมา คือ การจับถูกมากกว่าจับผิด คำว่า “จับถูก” ในที่นี้คือ การจับเอาสิ่งที่เด็กสามารถควบคุมได้มาชื่นชม โดยสิ่งที่เด็กควบคุมได้ก็คือ ความอดทน ความพยายาม ความสนใจในอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่อาจควบคุมไม่ได้ก็คือ “ผลลัพธ์” ของการลงมือทำนั้น

 

ยกตัวอย่าง เช่น การสอบและการแข่งขัน เราต่างรู้ดีว่า เด็กที่พยายามอ่านอย่างเต็มที่ ฝึกฝนตัวเองอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสอบหรือแข่งขันได้เป็นที่หนึ่ง เพราะหลายคนต่างต้องการความเป็นที่หนึ่งด้วยกันทั้งนั้น ผลลัพธ์จึงควบคุมไม่ได้ แต่ความพยายามของลูกนั้นอาจเป็นที่ประจักษ์ว่าเขาได้พยายามแล้ว และแม้ความพยายามนั้นอาจไม่ได้ประสบผลสำเร็จที่สุด คุณพ่อคุณแม่ก็รู้ดีว่า ความพยายามนั้นทำให้ลูกเก่งขึ้นกว่าเขาเมื่อวานนี้ ดีขึ้นกว่าเขาเมื่อเดือนก่อน ปีก่อนเป็นไหน ๆ ดังนั้นยามชื่นชม ควรหลีกเลี่ยงการชื่นชมที่ผลลัพธ์ ให้ชื่นชมที่ความพยายามและการลงมือทำของเขาจะดีกว่ามาก 

 

“อ่านหนังสืออย่างตั้งใจเลยนะลูก” ลูบหัวไปที

“ไหน ๆ ตั้งใจทำอะไรอยู่ครับนี่” สนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ เมื่อทำแล้วคนเห็น คนชม คงดีกว่าเป็นไหน ๆ จริงไหมครับ 

 

 

เมื่อเกิดความผิดพลาด สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ อยู่ข้างเขาอย่างเข้าใจมิใช่ซ้ำเติม

เพราะความผิดพลาดหรือล้มเหลวที่อยู่ตรงหน้านั้นสร้างอารมณ์เชิงลบให้ลูกมากพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ ความหงุดหงิดใจ ความโกรธ และอื่น ๆ ที่ลูกจะต้องจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นของตัวเอง ผู้ใหญ่อย่างเราไม่ควรซ้ำเติมด้วยคำพูดแย่ ๆ อย่าง “เห็นไหม ไม่เชื่อพ่อ” หรือ “เป็นไงล่ะ ทำตัวเองแท้ ๆ”

 

บางครั้งเรื่องดี ๆ มองไม่เห็น แต่กลับเอาเรื่องไม่ดีมาซ้ำเติมลูกอีก เช่น ผลการเรียนลูกดีมาก แต่ทำคณิตศาสตร์ได้ไม่ดี ก็กลับตอกย้ำคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียวว่า ทำได้ไม่ดีพอ ทั้งที่ลูกก็ทำวิชาอื่นได้ดี แบบนี้ลูกอาจถอดใจมากกว่าฮึกเหิม อาจจะเริ่มถดถอยวิชาอื่นตามมาก็ได้ เพราะทำดีไม่มีใครเห็น ทำไม่ดีล่ะก็ถูกเอามาฟื้นฝอยหาตะเข็บ 

 

วันนี้ล้มได้พรุ่งนี้ก็ยืนได้ วันนี้ร้องไห้เสียใจพ่อแม่อยู่ตรงนี้ข้าง ๆ หนู พอถึงเวลาพร้อมก็ปาดน้ำตาแล้วลงมือทำต่อ ระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้เต็มที่ (อย่างเหมาะสม ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ) แล้วเมื่อจิตใจสงบลง สมองส่วนคิดจะทำงานได้ดีขึ้น

 

นั่นหมายความว่า ยามที่ผิดหวัง ล้มเหลว เด็กต้องการคนที่เข้าใจความรู้สึกเขาก่อนเป็นอันดับแรก มิใช่คนที่มาคอยสั่งสอนหรือแนะนำเขา ดังนั้นพ่อแม่ต้องรับรู้ความรู้สึกของลูก และสะท้อนความรู้สึกของลูกให้ลูกเห็นได้ผ่านคำพูด ผ่านการกระทำ และเป็นน้ำนิ่งไหลเอื่อย ๆ อยู่ข้าง ๆ ปลอบประโลมเขาในวันที่เขารุ่มร้อน มิใช่เป็นพายุห่าใหญ่ซัดทุกอย่างให้ราบพณาสูร 

 

 

จงอย่าลืมฝังกรอบความคิดที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ลองทำมัน และสิ่งใดที่ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีในวันนี้ เราจะทำได้ดีขึ้นและทำได้ ตราบใดก็ตามที่เรายังคงกัดไม่ปล่อย ลงมือทำมันซ้ำ ๆ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำด้วยตนเองด้วย มิใช่ทำแทนลูกหรือแก้ปัญหาให้ลูกตลอด ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ลูกทดลองลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างเปิดกว้างอีกด้วย 

 

..."นี่คือ ก้าวแรกของการปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโตให้ลูก ผ่านการเลี้ยงของพ่อแม่นั่นเอง"...