319
"พ่อแม่" จุดเริ่มต้นของ Growth Mindset

"พ่อแม่" จุดเริ่มต้นของ Growth Mindset

โพสต์เมื่อวันที่ : October 26, 2023

 

กรอบความคิดเติบโต หรือ Growth Mindset เป็นวิธีคิดที่ดีต่อลูก

 

พ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกได้ตั้งแต่ลูกเริ่มรู้ความ เพื่อให้เป็นอาวุธที่จะติดตัวลูกไปเพื่อเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต และพัฒนาต่อยอดไปเป็น ‘ทักษะชีวิต’ ที่ดีให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ล้มแล้วลุกได้ ผิดพลาด-เรียนรู้และไปต่อได้ โดยการจะปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับลูกได้ คุณพ่อคุณแม่เองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ด้วยการมีกรอบความคิดแบบเติบโตเช่นกัน

 

 

4 ขั้นตอนเริ่มต้นเป็นพ่อแม่ที่มี Growth Mindset

 

▶︎ 1. พ่อแม่ที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการเป็น "พ่อแม่" มักมาพร้อมกับ ภาระหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ และปัญหาต่าง ๆ ให้เราต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนอกบ้าน - ในบ้าน โดยที่ไม่มีผู้ใดมาสอนเราว่า พ่อแม่ที่ดีควรเป็นแบบใด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้บทบาทหน้าที่ในการเป็นพ่อแม่ในแต่ละวัน สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ วิธีการพูดคุยกับลูกแบบอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว ไม่ใช้ความรุนแรง เพราะการเลี้ยงลูกเชิงบวกนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าดีต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และช่วยให้เด็กได้เติบโตอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจได้

 

พ่อแม่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นในทุกวัน แม้บางวันอาจจะไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ดีมากก็ตาม แต่ภาพรวมควรต้องดีขึ้นกว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน เดือนก่อน หรือปีก่อนได้ โดยเราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและการสื่อสารได้ผ่านหนังสือ ผ่านคอร์สอบรมต่าง ๆ หรือกระทั่งผ่านลูกน้อยที่อยู่ตรงหน้าว่าวิธีการเลี้ยงและสื่อสารใดส่งผลดี และผลเสียต่อลูกบ้าง และนำมาปรับเปลี่ยนการเลี้ยงลูกในวันต่อ ๆ ไป

 

 

▶︎ 2. ยอมรับความผิดพลาดและที่จะแก้ไข ความผิดพลาด เป็นสิ่งปกติเมื่อเราได้เริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง การเลี้ยงลูกและการเป็นพ่อแม่ก็เช่นกัน เราจะพบว่าเราต้องผ่านช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีเสมอ ทุกวันอาจมีความผิดพลาด เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปะทะกับลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่ได้อยากตวาดลูก ไม่ได้อยากจะตีลูก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ประตุ้นสมองส่วนอารมณ์อย่างฉับพลัน (หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ของขึ้น”)

 

หลายครั้งสมองส่วนเหตุผลของเราก็ทำงานไม่ทันที่จะควบคุมสมองส่วนอารมณ์ของเราได้ ผลก็คือ การปะทะกับลูก ดังนั้นนี่คือเรืองแรก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้อง ‘ยอมรับ’ ความไม่สมบูรณ์ของเรา ไม่ต้องรู้สึกผิดในความเป็นพ่อแม่ที่อาจไม่ดีในบ้างครั้งมาก (ความรู้สึกผิดก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันของการเป็นพ่อแม่ แต่ต้องไม่รู้สึกผิดจนทำร้ายจิตใจของตนเองจนเกินไป เพราะเราดีขึ้นได้) หากแต่ต้องรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่จะเกิดในอนาคตให้ดีขึ้น เก่งขึ้น และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม แล้วความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวันก่อน มันก็จะกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้เรากลายเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน

 

 

▶︎ 3. ยอมรับลูกในแบบที่เป็นเขา เพราะลูกก็คือเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่กำลังเติบโต ย่อมมีเสียงที่ดัง พลังในการเคลื่อนไหวร่างกายเยอะ และในวัยหนึ่งที่เขาโตขึ้น เขาจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ลูกจะเอาแต่ใจมากขึ้น ลูกอาจจะกรีดร้องเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ลูกอาจทำตัวไม่น่ารักในยามที่เขาต้องการความรักมากที่สุด ในทางกลับกัน ลูกก็อาจไม่ได้ดั่งใจเราเช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มต้นที่ความเข้าใจและยอมรับลูกตามวัยของเขา และโอบกอดความเป็นเขาให้ได้ก่อนด้วยความเข้าใจ

 

 

..."เพราะเมื่อเราเข้าใจ เราจะรับมือกับลูกน้อยได้ดีขึ้น"...

 

 

ในแง่ของพัฒนาการ ลูกยังไม่เชี่ยวชาญในการใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ มากประกอบกับความยับยั้งชั่งใจและการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวยังทำได้ไม่ดีนัก เราจึงพบว่าความวุ่นวาย อุบัติเหตุ และความเลอะเทอะจึงเกิดขึ้นบ่อย การหกล้ม หัวโน รอยช้ำ แก้วน้ำที่หกเลอะเทอะ ของที่กระจัดกระจาย การทำอะไรสักอย่างไม่ได้ ต่อเลโก้ไม่ได้ ต่อบล็อกแล้วล้มคว่ำลงมา เป็นเรื่องที่เกิดบ่อยกับลูก

 

หน้าที่ของพ่อแม่มิใช่ต้องจัดการกับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าแทนลูก หากแต่เป็นความเข้าใจ และสอนให้ลูกรับมือกับเหตุการณ์ที่เขาพบอย่างเหมาะสม เพื่อปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโตที่ว่า ไม่มีความล้มเหลว ความผิดพลาด หรือความไม่สมบูรณ์ใดที่เรารับมือไม่ได้ ล้มก็ลุกขึ้นมาได้ เจ็บสักพักก็ดีขึ้น แผลสุดท้ายมันก็จะหายไป บล็อกไม้ล้มลงก็ตั้งใหม่ได้ วันนี้ทำไม่ได้ อีกเดี๋ยวเราก็จะทำมันได้ดีขึ้น เพียงแค่พ่อแม่อยู่ข้าง ๆ เข้าใจเขา แนะนำเขาเท่านั้นเอง

 

 

▶︎ 4. ครอบครัว คือ การทำงานเป็นทีม การเลี้ยงลูก คือ การทำงานเป็นทีม หากคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว จงไว้ใจคนอื่นให้ช่วยเหลือในวันที่คุณต้องการความช่วยเหลือ และแน่นอนว่าที่จะเน้นในที่นี้ก็คือ “ลูก” นั่นเอง จงไว้ใจและให้โอกาสเขาได้ทำกิจกรรมด้วยตัวเอง จงเชื่อว่าเขาทำได้ และพัฒนาได้

 

เริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆ อย่างการช่วยเหลือและรับผิดชอบตัวเอง เลือกเสื้อผ้าของตัวเอง หยิบเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไปใส่ตระกร้า เก็บของเล่นของตัวเอง ช่วยตั้งและเก็บโต๊ะอาหาร (เมื่อทำได้) ให้เขาได้ขยายพื้นที่ที่เขาจะมีส่วนร่วมกับคนในครอบครัวให้กว้างขึ้น มากขึ้น ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “งานบ้าน” เขาจะรู้ว่าเขามีคุณค่าต่อคนอืน และมีความสามารถที่จะทำได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้เขามีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น

 

ทั้งนี้ให้ย้อนกลับไปที่ข้อที่สาม นั่นก็คือ พ่อแม่ต้องยอมรับถึงความสามารถตามวัยของเขาด้วยนะครับ เพราะการลงมือทำในช่วงแรก อาจยิ่งเลอะกว่าเดิม งานเราเยอะกว่าเดิม แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตัวเอง และปลายทาง เราเองนั่นแหละที่จะสบายขึ้น ผ่อนคลายขึ้น เพราะเขาจะดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้ดีขึ้นนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำง่าย ๆ สำหรับพ่อแม่ที่จะสร้าง Growth Mindset ให้กับตนเอง เพื่อเริ่มต้นและเป็นแบบอย่างให้กับลูกครับ