92
คาดหวัง คาดหวังแล้วเมื่อไรลูกจะดีพอ ?

คาดหวัง คาดหวังแล้วเมื่อไรลูกจะดีพอ ?

โพสต์เมื่อวันที่ : December 20, 2023

 

เด็กน้อยคนหนึ่งเพิ่งก้าวจากชั้นอนุบาลสู่ชั้นประถม เขาต้องเผชิญความจริงตรงหน้ากับการแข่งขันที่เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงและความรู้สึก “พ่ายแพ้” และ “ไม่ได้เรื่อง” ที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดให้เขาผ่านคะแนนสอบ การจัดอันดับ และความคาดหวังที่ไม่สิ้นสุด

 

ที่บ้านคาดหวังให้เด็กน้อยต้องทำได้ดีอย่างที่หวัง จึงให้เขาไปเรียนพิเศษในทุก ๆ วัน ไม่รู้ว่าเด็กน้อยทำได้เต็มที่ไหม แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีพอสำหรับที่บ้าน พ่อแม่ต้องการจะจ้างครูพิเศษมาเพื่อทำให้เด็กน้อยทำได้ดีกว่านี้ 

 

คำถามของพ่อแม่ที่มีต่อตัวเขา

“ทำไมถึงพลาดได้ ?”
“ทำไมไม่ได้คะแนนเต็ม ?”
“ทำไมสอบไม่ได้เลขตัวเดียว ?”
"ทำไมทำไม่ได้"

 

 

คำถามที่เด็กน้อยอาจจะมีต่อตัวเอง

“ทำไมเขาเรียนไม่เก่ง ?”
“ทำไมถึงทำไม่ได้ ?”
“ทำยังไงถึงจะดีพอ ?”

 

 

ผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำ เพราะคิดว่าเป็นความหวังดี กลับเป็นแรงกดดันมหาศาลกดทับร่างเล็ก ๆ และหัวใจดวงน้อย ๆ เด็กน้อยไม่มีทางเลือกนอกจากนะแบกรับน้ำหนักของความคาดหวังของเราเอาไว้ ไม่รู้ว่าเขาต้องเหนื่อยแค่ไหนในวัยเท่านี้ 

 

ถ้าเขาแข็งแกร่งพอเขาอาจจะเอาตัวรอดไปจนโต แต่ถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้ เด็กคนหนึ่งจะแบกรับน้ำหนักเหล่านั้นได้นานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ บางคนเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างไป บางคนเลือกที่จะแบกต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ และถ้าวันหนึ่งเขาไม่สามารถแบกมันได้อีกต่อไป เด็กน้อยอาจจะเลือกทางที่ไม่ได้สวยงาม แล้ววันนั้นเราจะรับได้ไหม ?

 

บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะลืมไปว่า แม้แต่ตัวเองยังทำเช่นที่เราคาดหวังต่อเด็กน้อยไม่ได้เลย แล้วทำไมเราถึงใส่ความคาดหวังเช่นนั้นไปที่ตัวของเขา

 

ไม่มีเด็กคนไหนเหมือนกัน ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือตัวเองมองเห็นว่าตัวเองทำอะไรได้ดีก็เพียงพอแล้ว ทำได้ดี ไม่ได้แปลว่า ต้องดีที่สุด ต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องดีกว่าใคร ขอเพียงทำได้ดี และพร้อมจะพัฒนาต่อไป

 

 

กลับที่ปัจจุบัน วันที่เด็กน้อยยังอยู่ตรงหน้าเรา เขายังสุขภาพดีทั้งกายใจ เขายังมีรอยยิ้มที่สดใส อย่าทำลายวัยเยาว์ของเขาด้วยความคาดหวังของเรา ความคาดหวังที่เป็นอันตรายต่อใจของเด็กน้อย หวังให้เขาสมบูรณ์แบบ เก่งทุกด้าน เก่งทุกอย่าง เชื่อฟัง ทำตาม และทำต่อไปจนถึงฝันของเรา ความคาดหวังเหล่านี้สุดท้ายเพื่อใคร ? ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรคาดหวัง ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อตัวเด็ก ๆ อย่างแท้จริง

 

  • ▶︎ ให้เด็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย ผ่านการให้เด็ก ๆ ทำเองมากที่สุด โดยมีเราช่วยสอนและทำเป็นเพื่อนเขา กินข้าวเอง อาบน้ำเอง แปรงฟันเอง แต่งตัวเอง ใส่เสื้อผ้าใส่รองเท้าเอง 

 

 

  • ▶︎ ให้เด็ก ๆ สุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ ผ่านการใช้เวลาร่วมกับเขา สร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงทางใจ เช่น อ่านหนังสือให้เขาฟัง เล่นกับลูก ไปเที่ยวและทำอะไรด้วยกัน และผ่านการเล่นเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย เช่น วิ่ง กระโดด ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ

 

 

  • ▶︎ ให้เด็ก ๆ รับผิดชอบงานตามวัยได้ ผ่านการมอบหมายงานเล็ก ๆ ที่บ้าน เช่น เก็บของเล่นเอง ถือของของตัวเอง เก็บที่นอน เก็บจาน ทำความสะอาดพื้นที่ที่เขาใช้ สุดท้ายเขาควรจะรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากนอกบ้านได้ดี เช่น ทำการบ้านให้เสร็จ ทำความสะอาดที่โรงเรียน ทำงานกลุ่มกับเพื่อน

 

 

  • ▶︎ ให้เด็ก ๆ รับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาทำ เมื่อทำผิดพลาดเรียนรู้การ “ขอโทษ” และ “แก้ไข” แต่ถ้าสิ่งนั้นแก้ไขไม่ได้และทำให้ผู้อื่นเสียใจ เขาต้องเรียนรู้ที่จะชดเชยความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยการทำสิ่งดี ๆ หรือ ช่วยเหลืองานอีกฝ่าย ทั้งนี้ผู้ใหญ่ไม่ควรซ้ำเติม และลงโทษจนเกินกว่าเหตุ เราจะทำหน้าที่สอน และพาเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง

 

 

  • ▶︎ ให้เด็ก ๆ จัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม โกรธได้ เสียใจได้ กลัวได้ แต่จะจัดการอารมณ์หรือระบายออกอย่างไรให้เหมาะสม เราจะไม่ทำผิดกฎ 3 ข้อ ได้แก่ ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของโกรธ ให้ไปพักสงบที่มุมสงบ โดยมีเราเคียงข้าง หายแล้วคุยกัน เสียใจ ร้องไห้ได้ โดยมีเรากอด ปลอบประโลม กลัวได้ แต่จะไม่หนี เราจะเผชิญสิ่งนั้นไปกับเขา

 

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ จะค่อย ๆ เลือกและเติมแต่งเข้าไปในชีวิตของเขาด้วยตัวเขาเอง ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่ทำให้ตัวเขาหรือผู้อื่นเดือดร้อน 

 

“พ่อแม่มอบชีวิตให้ลูก” แต่เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก
“ชีวิตเป็นของลูก” เมื่อถึงเวลาอันสมควรพ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกไปตามทางที่เขาเลือกเดินโดยมีเราเป็นบ้านที่รอให้เขากลับมาพักใจได้เสมอ

 

 

วันนี้หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร กอดเด็กน้อยไว้แน่น ๆ บอกรักเขา มองให้เห็นสิ่งดี ๆ ในตัวเขา ช่วยสอนเขาในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เชื่อมั่นและไม่ยอมแพ้ในตัวเขา และเมื่อเด็กน้อยพยายามสุดความสามารถแล้ว แม้ผลลัพธ์สุดท้ายจะไม่ได้ดีที่สุดอย่างที่หวัง ขอให้เรายิ้มให้เขาและบอกเขาว่า “ภูมิใจในตัวลูกเสมอ” เพราะหัวใจของเด็กน้อยจะเติบโตต่อไปได้เมื่อเขาเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าและดีพอสำหรับเรา