347
ปลอบหนูหน่อยได้มั้ย ในวันที่หนูผิดหวัง

ปลอบหนูหน่อยได้มั้ย ในวันที่หนูผิดหวัง

โพสต์เมื่อวันที่ : February 19, 2024

 

เมื่อเด็ก ๆ เข้าสู่วัยประถม พวกเขาต้องเผชิญความเป็นจริงประการหนึ่ง นั่นคือ “เขาไม่ได้เก่งที่สุด” และ “มีคนอีกมากมายที่เก่งกว่าเขา”

 

ดังนั้นเด็กวัยประถมอาจจะรู้สึกผิดหวัง โกรธ เศร้า เสียใจ และสุดท้ายพวกเขาอาจจะยอมแพ้กับบางอย่างไป ทั้งนี้ความผิดหวังเป็นเรื่องปกติ และการรับมือเพื่อให้ตัวเองเติบโตต่อไปได้คือสิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก ๆ สามารถให้การสอน ช่วยเหลือ และเคียงข้างได้

 

 

รับมือในวันที่ลูกเผชิญความผิดหวัง

ขั้นที่ 1 ให้การยอมรับและเคียงข้าง เมื่อเด็กผิดหวังจากสิ่งที่เขาหวังไว้ เด็กอาจจะเสียใจรุนแรงจนแสดงออกมา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. แสดงออกชัดเจนว่ารู้สึกผิดหวัง เด็กเล็กอาจจะร้องไห้อาละวาด เด็กโตอาจจะร้องไห้ออกมาเงียบ ๆ 2. ไม่แสดงออกทางอารมณ์ แต่เก็บตัวเงียบ ซึม ไม่พูดคุย

 

 

...“ผู้ใหญ่ควรอนุญาตให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ได้ แต่ให้เขาแสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือ ทำลายสิ่งของ”...

 

 

ผู้ใหญ่ควรให้เคียงข้างอย่างเข้าใจ ผ่านการรับฟัง การกอด การปลอบประโลม ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมาย บางครั้งแค่นั่งลงข้าง ๆ และบอกเขาว่า “พร้อมเมื่อไหร่ พ่อ/แม่พร้อมรับฟังนะ” ไม่ต้องรีบบอกให้เขาก้าวต่อไป ให้เขาหยุดเสียใจหรือพยายามใส่คำสอนหรือบทเรียนให้ตอนนั้น เด็กไม่ได้ต้องการการซ้ำเติม และการสอนตอนที่เขารู้สึกเสียใจมาก ๆ ไม่ได้ช่วยอะไร ผู้ใหญ่ควรให้เวลา และให้การยอมรับว่าการเกิดความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ

 

 

ขั้นที่ 2 ให้การเคียงข้างเพื่อก้าวต่อไป เมื่อเด็กพร้อมพูดคุย ชวนเขาพูดคุยถึงสิ่งที่เขารู้สึกผ่านคำถามที่เป็นกลาง “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร?” “เป็นยังไงบ้าง?” “ไหวมั้ย?” และให้เสนอความช่วยเหลือ “มีอะไรที่พ่อ/แม่ช่วยเราได้บ้าง ?”

 

จากนั้นลองพูดคุยถึงแผนสำรองหรือทางเลือกที่เด็กสามารถเลือกได้ “ถ้าไม่ได้เราพอจะเลือกอะไรได้บ้าง” หรือ “เราจะลองใหม่อีกครั้งหน้า ให้เรากลับไปฝึกฝนมาใหม่” แต่ถ้าความผิดหวังนั้นไม่มีแผนสำรอง กล่าวคือไม่มีทางเป็นไปได้ ให้พูดคุยถึงการเปลี่ยนเส้นทาง

 

ระหว่างทางเดินที่เขาเลือกเดิน ผู้ใหญ่ให้การเคียงข้าง เราแนะนำได้ แต่เด็กควรเป็นคนตัดสินใจเลือกเอง เพราะเขาต้องรับผิดชอบต่อการเลือกนั้น ไม่ใช่เรา อย่างไรก็ตามถ้าเด็กยังไม่พร้อม ไม่ต้องกดดันให้เด็กต้องเลือกหรือทำทันที เพราะ บางครั้งการลุกขึ้นเมื่อพร้อมจะเป็นผลดีต่อสุขภาพใจระยะยาวมากกว่าฝืนลุกเดี๋ยวนี้

 

 

ขั้นที่ 3 ขอความช่วยเหลือ ความผิดหวังบางอย่างสร้างความเสียหายให้กับจิตใจพอสมควรจนทำให้เด็กบางคนไม่สามารถก้าวต่อไปได้ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาเด็ก เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

เกณฑ์ที่ควรประเมินว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่...

  1. “ร่างกาย” กินไม่ได้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
  2. “ความจำ” “สมาธิ” เด็กไม่มีสมาธิกับการเรียน หรือ การทำสิ่งใด จำอะไรไม่ค่อยได้ ทำงานผิด ๆ ถูก ๆ ไม่สามารถทำงานได้เสร็จ
  3. “อารมณ์” หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว เบื่อหน่าย
  4. “ความคิด” ไม่มีคุณค่า ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

 

 

..."ความผิดหวังนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายจิตใจเป็นระยะเวลานาน 4 - 6 สัปดาห์ต่อเนื่อง"...

 

 

“เมื่อเด็กข้ามผ่านความผิดหวังและเติบโตต่อไป”

 

สิ่งที่ความผิดหวังได้สอนเรา...

▶︎ 1. ความผิดหวัง สอนให้เด็กเรียนรู้ว่า “โลกใบนี้ไม่ได้หมุนรอบตัวเขา”

▶︎ 2. ความผิดหวัง สอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะ “เห็นอกเห็นใจผู้อื่น”

▶︎ 3. ความผิดหวัง สอนให้เด็กรู้จัก "การอดทนและรอคอย”

▶︎ 4. ความผิดหวัง สอนให้เด็กรู้ว่า “ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะสมหวัง แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งเช่นกันที่เขาจะผิดหวัง”

▶︎ 5. ความผิดหวัง สอนให้เด็กรู้ว่า “วันนี้เขาเดินมาไกลแค่ไหน หรือ ทางที่เดินอยู่ยังใช่เส้นทางที่เขาต้องการจะไปอยู่หรือเปล่า”

 

แท้จริงแล้วแม้ต้องผิดหวัง แต่เขาได้รู้ว่าอย่างน้อยวันนี้เขาทำได้มากแค่ไหน และเขาต้องพยายามอีกเท่าไหร่เพื่อจะไปถึงฝั่ง หรืออย่างน้อยเขาได้รู้ว่าเส้นทางที่เดินอยู่อาจจะไม่ใช่เส้นทางสำหรับเขา ความผิดหวังทำให้เขาได้ทบทวนอีกครั้งว่าที่เขาทำไม่สำเร็จ “เพราะพยายามไม่มากพอ” หรือ “เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่สำหรับตัวเอง”

 

 

“ความผิดหวังเล็ก ๆ” ในวัยเด็ก ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะได้อย่างที่ตนหวัง แต่ก็อีกเช่นกันไม่ใช่ทุกครั้งที่เขาจะผิดหวัง เด็กจะเรียนรู้ที่จะยอมรับทีละเล็กทีละน้อย ๆ เขาจะเรียนรู้ที่จะปลอบประโลมตัวเองให้มีความหวัง และลุกขึ้นยืนใหม่

 

 

...“ไม่มีใครที่สมหวังไปตลอด และอีกเช่นกัน ไม่มีใครที่ผิดหวังไปตลอดกาล”...