เด็กไม่เหมือนกัน พ่อแม่จึงต้องเลี้ยงไม่เหมือนกัน
บ่อยครั้งที่พ่อแม่คลิกหรือเคมีตรงกันกับลูกคนหนึ่งมากกว่าอีกคน
บอกตัวเองนะคะว่า เราไม่มีทางตอบสนองความอยากของลูกได้ทั้งหมด เป็นเรื่องปกติมากที่ลูกจะไม่สมหวัง จะไม่ได้เหมือนเพื่อนทุกอย่าง แม้เราจะให้วันนี้ วันหน้าก็อยากได้ชิ้นใหม่อีก ลูกก็ไม่ได้มีเพื่อนคนเดียว และเพื่อนก็ไม่ได้มีของใหม่แค่ครั้งเดียว เดี๋ยวก็มีอะไรใหม่ ๆ มากอีก บางครั้งแม้ว่าลูกจะมีของคล้าย ๆ เพื่อน ลูกก็มักเห็นสิ่งของเพื่อนเจ๋งกว่าของตนเองเสมอ เป็นความรู้สึกของคนน่ะค่ะ ถือเป็นปกติ ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็รู้สึก เด็กก็ย่อมรู้สึกเป็นธรรมดา
พ่อแม่ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ให้ลูกไม่ได้นะคะ เราไม่มีทางเติม “ความอยาก” ของลูกได้เต็มหรอกค่ะ ขอให้ทำใจนิ่ง ๆ ไม่หวั่นไหวกับความผิดหวังของลูก จงเริ่มต้นที่ใจของเราก่อน อย่ารู้สึกเสียใจที่ตนเองมีไม่พอ อย่ากลัวว่าลูกจะมีปมด้อย และอย่ากลัวว่าลูกจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้
พ่อแม่ต้องมีจิตใจที่มั่นคงกับสิ่งที่ตนมีดี และจงมั่นใจในสิ่งดี ๆ นั้น
เช่น เราเป็นคนดี เราเป็นคนมีน้ำใจ เราเป็นคนประหยัด เราเป็นคนอดทน เราเป็นคนมุ่งมั่น เราเป็นคนขยัน เราเป็นคนไม่เบียดเบียนใคร เราเป็นคนไม่อวดใคร เราเป็นคนซื่อสัตย์ เราเป็นคนคิดเป็น คิดรอบคอบ เราเป็นคนรู้จักใช้เงิน เราเป็นคนร่าเริง เราเป็นคนมีเหตุผล ข้อดีของเรามีมากมายนะคะ และเชื่อว่ามากพอที่จะทำให้ภาคภูมิใจในความเป็นเรา ถ้าเรามั่นคง และรับรู้ตนเองจริง ๆ เราจะอธิบายกับลูกได้ อย่างเข้าใจลูก และก็ไม่หวั่นไหวให้ลูกรู้สึกด้วย
เราต้องเข้าใจลูกว่า ลูกคงรู้สึกแปลกแยก ลูกคงรู้สึกแตกต่าง เราพูดออกมาค่ะว่า “แม่เข้าใจลูกนะว่าลูกรู้สึกอะไร” อยู่กับความรู้สึกลูก นั่งฟังลูกระบายความอึดอัด หรืออาจเป็นความอิจฉาก็ตาม จงรับฟังอย่างเข้าใจลูก สีหน้าสบาย ๆ ไม่โทษลูกหรือโทษตัวเองที่ไม่มี
เรื่องของความรู้สึกอยากมีเหมือนเพื่อน แก้ไขด้วยความรู้สึกจะได้ผลกว่าเหตุผล เมื่อความรู้สึกลูกระบายออกมาแล้ว พ่อแม่ก็พูดให้ลูกเห็นสิ่งดี ๆ ที่ติดตัวลูก ไม่มีใครสามารถเอาไปได้ นั่นคือ นิสัยดี ๆ ทั้งหลาย ที่เมื่อสักครู่ยกตัวอย่างไป โดยเฉพาะนิสัยดี ๆ ที่เพื่อนชอบคบด้วย เช่น มีน้ำใจ ช่วยเหลือเพื่อน เห็นอกเห็นใจ จริงใจ ไม่นินทา ไม่บังคับเพื่อน ไม่รุนแรง รับฟังเพื่อนฯ ของดีพวกนี้ ทำให้ลูกอยู่โรงเรียนแบบมีความสุขจริงๆ และได้เพื่อนดีจริง ๆ
จำเป็นมากที่พ่อแม่ต้องบรรยายออกมาให้ลูกมองเห็นตนเอง เพราะคนเรามักมองไม่เห็นข้อดีตนเองเท่ากับข้อเสีย จนลูกค่อย ๆ รู้สึกดีขึ้นกับการที่จะไม่ได้ ลูกอาจรู้สึกดีขึ้นนะคะ แต่ไม่ได้หายอยากเลย บ่อยครั้งที่หมอบอกลูกว่า นิสัยดี ๆ ของลูกไม่มีใครขโมยลูกได้ แต่มือถือรุ่นเเพง ๆ ถูกขโมยได้
สุดท้ายเราก็สรุปกับลูกว่า "หากลูกต้องการจริง ๆ ให้เขียนข้อดี ข้อเสียของสิ่งนั้น และความจำเป็นที่จะต้องมีเจ้านี่" ปล่อยให้ลูกไปนั่งคิด ค่อย ๆ เขียน ไม่ต้องรีบตอบ (เพราะถ้าให้ตอบเลยมักจะหงุดหงิด ไม่ยอมคิด) พอเขียนจริง ๆ จะเห็นเองว่า ตรงความจำเป็น มันไม่มี เด็กไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์นี่นา แต่หากต้องใช้ติดต่อตอนรับกลับบ้าน อาจหาทางอื่นแทน หรือหากพิจารณาซื้อก็ได้นะคะ แต่ตอนนี้จะซื้อเพราะเหตุผลจำเป็นหรือเหมาะสม ไม่ใช่ซื้อเพราะเพื่อนมีและต้องมีให้เหมือนเพื่อน ซึ่งตรงนี้เป็นการสอนลูก ให้รู้จักใช้เงินให้เป็นไปในตัวด้วย (ซื้อของจำเป็น) แล้วก็ตั้งเป็นเป้าหมายให้สะสมเงิน ของราคาสูงควรให้สะสมเงินมากกว่าซื้อให้เลย หรือบางบ้านอาจช่วยออกบ้างก็ได้
ดังนั้นประเด็น "อยากมีเหมือนเพื่อน" หากพ่อแม่ไม่หวั่นไหว ไม่ด้อยค่าตัวเอง มั่นใจและภูมิใจกับสิ่งดีๆของตัวเองและของลูก รวมทั้งหยิบเรื่องนี้มาจัดการอย่างมีสติ ลูกเข้าใจการใช้เงินด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์(อยากมีเหมือนคนอื่น) ลูกก็จะซึมซับคุณค่าดี ๆ ที่แม่ยึดถือไว้ มากกว่ายึดถือเปลือกนอกที่คนอื่นให้ค่า ความแข็งแกร่งแบบนี้จะสะสมไปเรื่อย ๆ ต่อไปลูกก็จะคิดเป็น และไม่ค่อยสนใจสิ่งของภายนอกที่คนอื่นเขามีกันค่ะ
..."เลี้ยงลูกให้ยึดคุณค่าภายใน ดีกว่าภายนอก ที่ไม่มีวันเติมให้เต็มนะคะ"...