เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็ก ที่รอคอยที่จะได้เล่นสาดน้ำอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานนี้ พ่อแม่ก็จำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของเจ้าตัวน้อยในทุกด้านทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที และความเจ็บป่วยอันเกิดจากการเล่นน้ำนานเกินไป เป็นต้น
กรมการแพทย์ จึงอยากฝากเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกรัก เพื่อเป็นคู่มือปฏิบัติให้ทุกครอบครัวผ่านช่วงเวลาสงกรานต์นี้ไปได้โดยไม่ต้องเสียน้ำตา ดังนี้
ในเด็กเล็กการออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเอง หรือระวังอันตรายได้ดี ดังนั้นการออกไปเล่นน้ำสงกรานต์กับผู้อื่นนอกบ้าน จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดอันตราย ในเทศกาลสงกรานต์กับเด็กเล็ก การเล่นน้ำสงกรานต์สามารถทำได้
โดยเป็นการเล่นน้ำกับบุคคลในครอบครัว ใช้ปืนฉีดน้ำกระบอกเล็ก หรือ ประพรมน้ำกันเบาๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เด็ก ๆ ยังไม่รู้ว่าการเล่นน้ำแบบสาดน้ำคืออะไร ดังนั้นผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเล่นแก่เด็ก ไม่เล่นน้ำแบบผู้ใหญ่กับเด็ก แค่นี้เด็กก็สามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้อย่างสนุกและปลอดภัย
เราอาจปลูกฝังประเพณีที่ดีให้แก่เด็กได้โดยก่อนหรือหลังเล่นน้ำแล้วให้มารดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งในเด็กเล็ก แค่การได้รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก ๆ แล้ว
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเล่นน้ำของเด็กไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจาก การเล่นน้ำเมื่อร่างกายเจอกับน้ำ และ สภาพอากาศที่ร้อน จะทำอุณหภูมิร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ง่าย
สิ่งที่ต้องดูแลเมื่อให้เด็กเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยและสนุก
- สถานที่ ต้องเป็นสถานที่ๆปลอดภัย ไม่ควรเล่นริมฟุตบาท กลางถนน หรือบนรถ เพื่อไม่เกิดอุบัติเหตุพลัดตก หรืออุบัติเหตุทางจราจร และต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลให้อยู่ในสายตาตลอด ไม่ควรเล่นน้ำตอนกลางคืน เพราะแสงสว่างในช่วงกลางคืนอาจไม่เพียงพอต่อการมองเห็น มีโอกาสเสี่ยงเกิดอันตรายได้มาก
- อุปกรณ์ในการเล่น ใช้น้ำประปาอุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำแข็ง ดินสอพอง หรือน้ำผสมสี เพราะเด็กอาจปาน้ำแข็งกันให้เกิดอุบัติเหตุ หรือนำเข้าปากได้
- เสื้อผ้า สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ ไม่คับแน่นจนเกินไป และต้องสบาย เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี
- กลุ่มคนที่เล่นด้วย ควรเป็นกลุ่มที่มีการเล่นน้ำที่ไม่รุนแรงเพราะ จะเป็นแบบอย่างในการเล่นน้ำของเด็กต่อไป ไม่ใช้สารเสพติดมึนเมา ในเด็กควรเฝ้าดูแลเรื่องการถูกลวนลาม
- ช่วงเวลาที่เล่น ควรเลี่ยงช่วงที่อากาศร้อนจัด เช่น ช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากเด็กจะสูญเสียน้ำในร่างกายเป็นจำนวนมากเพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกาย และระหว่างเล่น ควรให้เด็กพัก แวะดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะ ย้ำแก่เด็กไม่ให้ดื่มน้ำที่ใช้เล่น
- หลังจากเล่นน้ำเสร็จ ควรให้เด็กอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าที่แห้งและอบอุ่น
เด็กไม่ควรติดตามพ่อแม่ไปเล่นน้ำสงกรานต์โดยอยู่บนท้ายรถกระบะ และการเล่นน้ำสงกรานต์บนรถกระบะ ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการเล่นทั้งในเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งผู้เล่นและผู้ใช้รถใช้ถนนข้างเคียง
ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุรถชน เนื่องจากถนนลื่น หรือมองไม่เห็นทาง อุบัติเหตุรถคว่ำจากบรรทุกน้ำหนักเกิน และพลัดตกจากรถ ขณะรถแล่นเร็วเป็นต้น
- โรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หูอักเสบ ปอดบวม
- โรคทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง จากอาหารและน้ำไม่สะอาด
- โรคตาแดง จากการเล่นน้ำที่ไม่สะอาด หรือจากการปาน้ำแข็ง ใช้ดินสอพอง อันตรายอาจถึงกับตาบอดได้
- โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ผดร้อน
- โรคลมแดด (Heat stroke) เกิดจากอากาศที่ร้อนมาก ๆ ในช่วงที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ช่วงกลางวันหรือบ่าย ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้มีการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก ยิ่งเด็กเล็กโอกาสเกิดการเสียน้ำยิ่งง่าย
- สารปนเปื้อนจาก ดินสองพอง หรือจากน้ำผสมสี เช่น โลหะหนัก สารตะกั่ว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อบาดทะยัก เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- อันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้ม รถชน หรือจมน้ำเป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติก่อนการเล่นสงกรานต์
- เลือกสถานที่เล่นให้กับเด็กอย่างปลอดภัย และกำหนดขอบเขตให้เด็กทราบก่อน เช่น ไม่เล่นใกล้ถนน หรือ บ่อน้ำ เพราะระหว่างเล่นจนเกิดความสนุก เด็กจะลืมและไม่ระวังความปลอดภัยของตนเอง
- กำหนดระยะเวลาการเล่นน้ำสงกรานต์กับเด็ก และบุคคลที่จะดูแลเด็ก
- อธิบายวิธีเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถูกต้องแก่เด็ก เช่น ไม่เล่นน้ำแข็งหรือดินสอพอง
- มีบุคคลที่สามารถดูแลเด็กได้ตลอดโดยไม่ให้เด็กคาดสายตา ดังนั้นผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำจนสนุกจนเกินไปจนลืมดูเด็ก
ข้อควรปฏิบัติหลังการเล่นสงกรานต์
- อาบน้ำหลังเล่นให้สะอาด สวมเสื้อผ้าที่แห้งสบาย ให้ความอบอุ่น หากมีอาการหนาว อาจจิบน้ำอุ่นช่วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเล่นน้ำติดต่อกันหลายวัน. เพราะร่างกายจะเหนื่อยล้า ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำเกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย
- รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และ ถูกสุขอนามัย
- เฝ้าสังเกตอาการป่วยหลังหยุดเล่นน้ำภายใน 1 สัปดาห์
เทศกาลสงกรานต์ไม่ได้มีแต่กิจกรรมสาดน้ำเพียงอย่างเดียว ควรปลูกฝังให้เด็กทราบขนบธรรมเนียมประเพณีอื่น ๆ ที่ควรทำในวันสงกรานต์ เช่น เข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง
ขอบคุณที่มา : กรมการแพทย์