129
รู้จักสิทธิเด็ก ยินยอมหรือไม่ก็ห้ามทำ!

รู้จักสิทธิเด็ก ยินยอมหรือไม่ก็ห้ามทำ!

โพสต์เมื่อวันที่ : June 5, 2024

"สิทธิเด็ก" เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีผู้ใดสามารถตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิได้ ในฐานะ "ผู้ใหญ่" ทุกคนจึงควรตระหนักเข้าใจอย่างถูกต้อง และทำประโยชน์ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

 

ขยายมุมมองของโลกที่มีต่อการคุ้มครองและดูแลสิทธิเด็กก่อน โดยเริ่มจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีทั้งหมด 54 ข้อ ใจความสำคัญเรื่องสิทธิเด็ก 4 ประเภท ซึ่งอนุสัญญาฯ นี้เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 196 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยเป็น 1 ในภาคีสมาชิก และมีผลบังคับใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

 


รู้จักสิทธิเด็ก 4 ประเภท

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) 

คือ สิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการสาธารณสุข โภชนาการ และความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน

 

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)

คือ สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิดและการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การใช้สารเสพติด และการค้ามนุษย์

 

3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)

คือ สิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐานทุกรูปแบบ การส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงโอกาสในการเติบโตอย่างสามารถพึ่งพาตนเองได้

 

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)

คือ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี การได้รับข้อมูลข่าวสาร การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง

 

 

10 ข้อห้ามทำป้องกันทารุณกรรม-แสวงหาผลประโยชน์เด็ก

 

ส่วนในประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่จัดทำขึ้นเพื่อบังคับใช้คุ้มครองเด็กให้ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ 


ตามมาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

 

  1. กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
  2. จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
  3. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
  4. โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
  5. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
  6. ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
  7. บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
  8. ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
  9. บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระท าการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
  10. จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

 


ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 78

ที่มา : พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 , ThaiPBS

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง