132
มื้อเช้าสำคัญไฉน...แนะอาหารเด็กวัย 6 - 8 ปี

มื้อเช้าสำคัญไฉน...แนะอาหารเด็กวัย 6 - 8 ปี

โพสต์เมื่อวันที่ : October 9, 2024

 

เด็กวัย 6 - 8 ปี วัยที่เริ่มเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น แน่นอนว่าเป็นวัยที่กำลังพัฒนาทักษะต่าง ๆ เรื่องการกินถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากกับเด็ก ๆ ในวัยนี้ 

 

นายจิระพษ์ ภูสมนึก นักกำหนดอาหาร กล่าวว่า เด็กวัยนี้ สามารถที่เริ่มเลือกทางอาหารได้แล้ว สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือต้องช่วยดูแลในเรื่องของปริมาณอาหาร โดยพลังงานที่แนะนำอยู่ที่ 1,400 กิโลแคลอรี (Kcal) ต่อวัน โปรตีน 30 กรัมต่อวัน มีไขมันไม่เกิน 45 - 47 กรัมต่อวัน ส่วนคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ตามสัดส่วนโดยประมาณ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมด

 

โดยทั่วไปเด็กวัย 6 - 8 ปี รับประทานอาหาร 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) เหมือนผู้ใหญ่ได้ อาจมีมื้อว่างเพิ่มเติมได้ เช่น นม ขนมปัง แนะนำให้กินไข่วันละ 1 ฟอง เพราะถือเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ สารอาหารเบื้องต้นที่สำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

 

ปัญหาสำหรับเด็กวัยนี้ คือ เด็กจะเริ่มเลือกรสชาติอาหารได้เองตามที่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็จะไม่รับประทาน พ่อแม่สามารถเริ่มพฤติกรรมการกินได้ตั้งแต่เริ่มมื้อแรก แนะนำให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสชาติกลาง ไม่ปรุงแต่งเพิ่ม เมื่อโตขึ้นเด็กก็จะคุ้นชินหรือถูกปากกับรสชาติอาหาร เวลาเลือกรับประทานเองก็จะเลือกอาหารแบบรสชาติกลางมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เผ็ด เค็ม

 

 

มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญจริงไหม...?

 

พญ.พัชรนันท์ ธัญสิริชัยศรี กุมารแพทย์ กล่าวว่า มื้อเช้าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก เด็กต้องได้รับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน หากไม่ได้รับประทานอาจทำให้เกิดความหิว และขาดสมาธิในการเรียน โดยมีงานวิจัยระบุว่า เด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าไปโรงเรียนจะทำให้การทำคะแนนด้านทักษะการคำนวนลดลง

 

และหากเด็กไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้า ทำให้เกิดความหิว มีความอยากอาหาร อาจมีความเสี่ยงในการที่เด็กจะรับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟูด น้ำหวาน เพื่อทำให้อิ่มท้องก่อน และหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำ ๆ อาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน หรือโรคอื่น ๆ ได้

 

 

ขอบคุณที่มา 

- โภชนาการอาหารเด็ก 6 - 8 ปี | Talk about kids (13 เม.ย.67)

- พญ.พัชรนันท์ ธัญสิริชัยศรี กุมารแพทย์

- คุณจิระพษ์ ภูสมนึก นักกำหนดอาหาร

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง