6 ภาษากายช่วยสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูก
เวลาเราอยากสื่อสารให้เข้าถึงหัวใจลูก อยากให้เขารับรู้ว่า "เรากำลังตั้งใจฟังเขา"
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “การชื่นชม” ทำให้ลูกมองตนเองมีคุณค่าเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ? จนลืมคิดว่า…ปัญหาที่เขาสร้างขึ้นทุกวันนั้น สามารถทำลายความรู้สึกมีค่าของเขาได้เหมือนกัน แต่เราก็เลี่ยงไม่ได้จริงไหมคะ มีเรื่องที่ต้องขัดแย้งลูกทุก ๆ วัน
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพิ่มเพื่อให้ลูกคง “ความรู้สึกมีคุณค่า” นั้นเอาไว้ ก็คือ “การสื่อสาร” แต่…ต้องเป็นการสื่อสารเพื่อช่วยลูก ไม่ใช่สื่อสารเพื่อสอนลูก
“การสื่อสาร” เพื่อคงความรู้สึกมีคุณค่าในตัวลูก คือ พ่อแม่ต้องแสดงออกว่าเข้าใจความรู้สึกเชิงลบของลูก เพราะความโกรธที่รุนแรง ตัวลูกเองก็ไม่ชอบตนเอง หากพ่อแม่มีท่าทีเข้าใจก็เท่ากับยอมรับลูกในส่วนที่ไม่สมบูรณ์แบบได้ ซึ่งก็เท่ากับลูกมีคุณค่ากับพ่อแม่เสมอ
● บทความที่เกี่ยวข้อง : "เลี้ยงลูกเชิงบวก" ไม่ใช่แค่การปรับพฤติกรรม !
แล้วพ่อแม่จะแสดงความเข้าใจความรู้สึกลูกยังไง ? พ่อแม่จะต้องนึก “ชื่อความรู้สึก” และ “เหตุผลของความรู้สึก” นั้นให้ออกก่อน แล้วจึงพูดออกมา เช่น “แม่เห็นแล้วล่ะว่าลูกคงโกรธมาก จึงได้โยนของแบบนี้ แม่เข้าใจจ้ะลูก” แล้วแม่ก็อาจจับมือลูก หรือจับบ่าแสดงความเข้าใจ
ห้าม ! พูดว่า “แม่เข้าใจที่ลูกอยากเล่นต่อ เลยไม่อยากอาบน้ำ” เพราะลูกจะไม่เห็นว่าแม่เข้าใจความรู้สึกโกรธของลูก และอาจทำให้ลูกเข้าใจผิดคิดว่า การอยากเล่นต่อไม่ใช่เรื่องที่ลูกต้องจัดการ ยิ่งกลายเป็นเด็กตัดใจยากขึ้นไปอีก
เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกโกรธที่รุนแรงของลูกแล้ว ก็ต้องตามมาด้วยคำชี้แจงว่า เราไม่ยอมรับพฤติกรรมไม่ดีตอนที่โกรธ เช่น...
“อารมณ์โกรธเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมีนะ แม่ก็มี…แม่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่แม่ไม่โอเคก็คือการโยนของตอนลูกโกรธ…ครั้งหน้าถ้าลูกโกรธแล้วโยนของ แม่จะจับมือไว้ไม่ให้โยน แต่หากลูกหยุดโยน แม่ก็จะปล่อย ไม่จับอีก เหลือแต่โกรธ ร้องไห้โวยวายอย่างเดียว”
● บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคการชมที่ให้ผลดีต่อลูก
การสื่อสารที่แสดงว่าเข้าใจความรู้สึกของลูกและยอมรับอารมณ์โกรธของลูก โดยแยกเอาพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับออกมา จะช่วยให้ลูกยังคงรู้สึกมีคุณค่ากับพ่อแม่ และยังเข้าใจว่าต้องแก้ไขตรงไหนเมื่อโกรธและโยนของด้วย
ส่วนอารมณ์โกรธก็ต้องให้เด็กค่อย ๆ สงบเอง พ่อแม่อาจจะเสนอการช่วยให้ลูกสงบเอง เช่น “แม่อยากให้ลูกฝึกจัดการอารมณ์เอง ครั้งหน้า แม่จะเข้าไปช่วยลูกออกจากตรงนั้น พาลูกไปนั่งสงบอารมณ์ที่เก้าอี้ แม่ไม่หนีไปไหน อยู่ใกล้ ๆ ลูกนี่แหละ ดีไหมจ๊ะ”
เราอยู่กับลูกทุก ๆ วัน หนีไม่พ้นการปะทะอารมณ์กันแน่นอน ขอให้พ่อแม่ระลึกไว้ว่า “เราต้องเซฟความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของลูก ลูกจะรอดจากโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และการออกนอกลู่นอกทาง”
พ่อแม่ท่องไว้นะคะ อย่ายอมรับลูกเฉพาะตอนลูกทำตัวดี แล้วออกปาก “ชื่นชม” แต่ต้องยอมรับลูกตอนลูกไม่น่ารัก โกรธ หรือก้าวร้าวด้วย แต่ต้องเป็นการยอมรับลูกในส่วนของอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น และต้องพูดพร้อมแสดงออกมาว่า “พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกของลูก เพราะอารมณ์โกรธเกิดขึ้นได้กับทุกคนจริง ๆ”
..."เซฟความรู้สึกมีคุณค่าลูก 'ยอมรับในส่วนอารมณ์โกรธ แก้ไขในส่วนพฤติกรรมโยน และช่วยลูกหาวิธีสงบอารมณ์'"...