225
 อย่าทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าตัวเองไม่เอาไหน !

อย่าทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าตัวเองไม่เอาไหน !

โพสต์เมื่อวันที่ : February 1, 2025

 

เด็กหลายคนฟังสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอนแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือ ไม่รู้สึกว่าตนเองจะทำได้ดีขึ้น มีแต่ความรู้สึกว่าผิด ไม่ฉลาด ไม่เก่งเท่าคนอื่น

 

พ่อแม่ต้องเริ่มปรับวิธีการสอนใหม่ ให้เน้นที่วิธีการแก้ไขปัญหา ไม่เอาแต่ตำหนิ และต้องทำให้ลูกเชื่อมั่นว่ามีความสามารถในการจัดการปัญหา ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น ถ้าทำได้แบบนี้ ไม่ว่าลูกจะเป็นเด็กหรือวัยรุ่นก็คงอยากขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ตลอดค่ะ

 

 

เริ่มต้นอย่างไร... ?

 

1. พ่อแม่ต้องโฟกัส “วิธีแก้ปัญหา” ไม่โฟกัสว่าลูกเป็นตัวปัญหา

บ่อยครั้งที่พ่อแม่จะบรรยายข้อผิดพลาดของลูกออกมาเป็นฉาก ๆ เช่น “แม่บอกแล้ว...ให้ทำก่อน แต่ลูกเป็นคนบอกเองว่าจะทำการบ้านหลังดูการ์ตูน แล้วนี่มาโวยวาย อาละวาด โทษว่าแม่ไม่เตือนอีก ! แม่เตือนแล้วนะแต่ลูกไม่ฟัง” เด็กที่ฟังแบบนี้ หมอเชื่อว่าเขามองไม่ออกหรอกว่าจะแก้ปัญหายังไง รู้แต่ว่าตัวเองไม่รักษาคำพูด เป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่อง ทำให้แม่โกรธ และอาจจะกลายเป็นเด็กขี้โมโหด้วย

 

การพร่ำบอกว่าลูกไม่ดียังไง ไม่ได้ช่วยให้สมองลูกคิดออก พ่อแม่ต้องไม่โฟกัสว่าลูกเป็นตัวปัญหา ต้องโฟกัสวิธีแก้ปัญหา ถึงจะเรียกว่า”สั่งสอน” เด็กที่รับปากแล้วทำไม่ได้ ปัญหาอยู่ตรงไหน พ่อแม่หาให้เจอก่อนถึงจะชี้แนะวิธีแก้ไขได้

 

สำหรับเคสนี้ปัญหาอยู่ตรงที่เด็กควบคุมตัวเองให้ทำการบ้านหลังดูการ์ตูนไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องหาสาเหตุก่อนว่าทำไมคุมตัวเองไม่ได้ แล้วอธิบายให้ลูกเห็นภาพ เช่น “แม่สังเกตว่า ตอนที่ลูกดูการ์ตูนเสร็จจะตรงกับช่วงที่คุณพ่อกลับบ้านพอดี ลูกก็คงอยากเล่นกับพ่อ ตอนนั้นน่าจะไม่มีสมาธิทำการบ้านเท่าไรนะ”

 

 

สาเหตุ คือ ลูกตื่นเต้นตอนพ่อกลับมา เด็กหลายคนไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งหมอพบบ่อยมากที่เด็กแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่รู้สาเหตุ พ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่จะต้องช่วยหาสาเหตุให้เจอ โดยเฉพาะถ้าพบว่าลูกผิดซ้ำซาก

 

เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ชวนลูกคิดวิธีแก้ไขหรือนำเสนอวิธีให้ลูก เช่น “แม่เสนอให้ลูกทำการบ้านก่อน แล้วค่อยดูการ์ตูนดีกว่า ถ้าพ่อกลับมาพอดีก็ชวนพ่อดูด้วยก็ได้นะ” เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่เข้ามาช่วย เป็นเหมือนฮีโร่ชี้ทางสว่าง มีความหวังกับตัวเองที่จะดีขึ้น มองพ่อแม่ในแง่ดี ไม่ติดลบกับพ่อแม่

 

 

2. พ่อแม่ต้องแสดงออกว่า “มั่นใจในตัวลูก”

พ่อแม่ควรยิ้มแย้ม มีสายตาเชื่อมั่นในตัวลูก จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตัวเอง เช่น “ที่ลูกทำไม่ได้ก็เพราะลูกยังไม่เห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว แม่เชื่อว่าลูกจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ลองทำดูนะคะ”

 

ส่วนใหญ่พ่อแม่ยิ้มไม่ออกเพราะเครียดกับปัญหาของลูก ในคำพูดจึงมีความโกรธ ทำให้ลูกรู้สึกผิด และรู้สึกเป็นตัวปัญหา หากเด็กมองตัวเองในเชิงลบบ่อย ๆ ความมั่นใจในศักยภาพตนเองที่จะแก้ปัญหาได้ก็ลดลง วนเป็นวงจร ทำผิดซ้ำ - แก้ปัญหาไม่เป็น

 

 

โดยสรุป พ่อแม่ต้องโฟกัสวิธีแก้ปัญหา ไม่โฟกัสว่าลูกเป็นตัวปัญหา และต้องโฟกัสอารมณ์ตัวเองให้สามารถสร้างความมั่นใจให้ลูกได้ ลูกจะมองตนเองในแง่ดี รู้ว่าปัญหามีทางออก รู้จักคิดวิเคราะห์สาเหตุ รวมทั้งแก้ปัญหาเก่งขึ้นอยู่รอดในยุคนี้แน่ ๆ