
7 พื้นฐาน ช่วยลูกเติบโตทั้งกาย-ใจ
"คุณภาพชีวิตที่ดี" ไม่ได้เท่ากับการเป็นคนที่เก่งที่สุด
บางคนเป็นเด็กเลี้ยงง่าย กินง่าย นอนง่าย มีชีวิตที่คาดเดาได้ กินเป็นเวลา ขับถ่ายเป็นเวลา ขณะที่บางคนเลี้ยงยาก คาดเดาได้ยาก หิว-อิ่มไม่เป็นเวลา ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัว ร้องไห้ง่าย บางคนเพียงแค่ผายลมก็ร้องไห้แล้ว เราทุกคนต่างมีความแตกต่างกัน แต่บ่อยครั้ง เรากลับมองความแตกต่างผ่าน 'ไม้บรรทัด' ของใครบางคน
ดี-ไม่ดี เก่ง-ไม่เก่ง สวย-ไม่สวย มีค่า-ไร้ค่า ผู้ชนะ-ผู้แพ้ น่ารัก-น่ารังเกียจ สูงสง่า-เตี้ยม่อต้อ รวย-จน ประสบความสำเร็จ-ย่ำอยู่กับที่ และอีกหลากหลายการตัดสินผู้คนด้วย 'คุณค่า' หรือ 'มาตรวัด' บางอย่างว่าสิ่งใดควรชื่นชม หรือไร้ค่าควรเพิกเฉย
มองในมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจช่วยสร้างมาตรฐานหรือเป้าหมายบางอย่างให้กับการใช้ชีวิตของผู้คน สังคม จารีต หรือประเทศ ทำให้ผู้คนยึดถือและพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มอบบาดแผลให้กับ 'ตัวตน' ของใครบางคนอย่างแสนสาหัส เพราะ...
"ความดีงาม" คืออะไร ?
"ความสวยหล่อ" ใครเป็นผู้กำหนด ?
สิ่งใดเรียกว่า "มีค่า" หรือ "ไร้ค่า" ?
อะไรคือ "น่ารัก" หรือ "น่ารังเกียจ" ?
หากใครบางคนไม่สามารถไปถึงเป้าหมายหรือมาตรฐานที่สังคมกำหนดไว้ สิ่งเหล่านั้นอาจหล่อหลอมความคิดว่า
"ฉันมีค่าไม่พอ"
"ฉันเก่งไม่พอ"
"ฉันสวยไม่พอ"
"ฉันผอมไม่พอ"
"ฉันดีไม่พอ"
จนทำให้ใครบางคนเติบโตขึ้นโดยที่ ไม่สามารถรักตัวเองได้ ความรู้สึกเหล่านี้ทรงพลังมาก เพราะไม่มีใครทำร้ายความรู้สึกของตัวเองได้อย่างใจร้ายเท่ากับตัวเราเอง ความรู้สึกนี้ส่งผลกระทบด้านลบต่อ การเรียน การทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความเชื่อมั่นในตนเอง และ ความกล้าที่จะคว้าโอกาสในชีวิต พวกเขาเหล่านี้อาจสร้างกำแพงแห่ง "ความจำกัดในความสามารถของตัวเอง" มากั้นระหว่างตนเองกับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต
"ฉันเรียนไม่เก่ง"
"ฉันทำงานไม่เก่ง"
"ไม่มีใครอยากได้ฉันเป็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน"
"ฉันคงทำมันไม่ได้หรอก"
สุดท้าย พวกเขาเลือกจะอยู่ใน "พื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง" ด้วยเหตุผลที่กล่อมตัวเองว่า "เราก็เป็นแบบนี้" แล้วใครกันแน่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานเหล่านี้ ?
◉ ในช่วงปฐมวัยที่กำลังสร้างตัวตน (Autonomy) — เด็กวัยนี้มีความสามารถในการเดิน วิ่ง รื้อค้น เล่น และลงมือทำได้ดีมาก พวกเขาสำรวจและเรียนรู้โลกผ่านการลงมือทำจริง รวมถึงจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่าน การเล่นเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Play) และ การเล่นบทบาทสมมติ (Pretend Play) พวกเขาช่างสงสัย สำรวจโลก สร้างความจำเพื่อนำมาใช้ และพัฒนาทักษะการคิดเชิงเหตุและผลแบบไม่ซับซ้อน
หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นและเรียนรู้อย่างเต็มที่ มอบความรักและความปลอดภัย รวมถึงชมเชยในสิ่งที่ดี เด็กจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ภูมิใจในตนเอง และสามารถยอมรับตัวเองได้ แต่หากพ่อแม่ห้ามปราม ดุ ตำหนิในทุกสิ่งที่ลูกทำ เช่น มองว่าลูก เลอะเทอะ สกปรก เสียงดัง ดื้อ หรือ เปรียบเทียบกับผู้อื่น (“ทำไมไม่เอาอย่างคนนั้น ?” “ทำไมไม่เก่งเหมือนคนนี้ ?”) รวมถึงใช้ความรุนแรงในการดูแลลูก เด็กอาจสูญเสียความเชื่อมั่น ไม่กล้าลงมือทำ ไม่ภูมิใจในตัวเอง และอาจมีปัญหาด้านพฤติกรรมและพัฒนาการในอนาคต
◉ ในช่วงวัยประถมศึกษา — เด็กเริ่มไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ทั้งเนื้อหาตามหลักสูตร การสร้างกลุ่มเพื่อน และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การเจรจาต่อรอง การปรับตัว และการควบคุมอารมณ์
เด็กวัยนี้เริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น และเริ่มเปรียบเทียบทั้งรูปลักษณ์ ทักษะ ความสามารถ และด้านอื่น ๆ ดังนั้น ทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็ก—ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครอบครัว ครู หรือเพื่อน ล้วนมีอิทธิพลต่อกรอบความคิดและความเชื่อมั่นในตนเองของเขา
หากพ่อแม่และครูสามารถ ยอมรับตัวตนของเด็กตามความเป็นจริง โดยไม่เปรียบเทียบกับใคร ไม่ใช้คะแนนหรือความสามารถมาตัดสินคุณค่าของเด็ก แต่เลือก ชื่นชมจุดเด่น และ ให้เวลาในการพัฒนาจุดด้อยอย่างเข้าใจและใจเย็น เด็กจะสามารถ ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น และเติบโตขึ้นอย่างมั่นใจ พร้อมพัฒนาตนเองต่อไปในอนาคต
◉ ในช่วงวัยรุ่นหรือมัธยมศึกษา — เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ผ่านการเลียนแบบและซึมซับลักษณะของผู้คนที่เขามองว่าเป็น "บุคคลต้นแบบ" ซึ่งอาจเป็นหัวหน้าแก๊งเพื่อน ดารา นักร้อง ไอดอลเกาหลี นักกีฬา นักดนตรี หรือแม้แต่บุคคลที่เขามองว่าประสบความสำเร็จในสายตาของเขา (รวมถึงพ่อแม่เอง)
วัยรุ่นเริ่มสร้างบุคลิกและลักษณะของตนเองตามบทบาทที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน ลูก หัวหน้า ลูกน้อง หรือประชาชนคนหนึ่ง พ่อแม่จึงมักสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้ เช่น พฤติกรรมที่บ้านกับที่โรงเรียนอาจแตกต่างกัน หรือ บุคลิกบนสื่อสังคมออนไลน์กับในชีวิตจริงอาจไม่เหมือนกัน
พ่อแม่ควรให้โอกาสลูกได้ทดลองสร้างอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบที่เหมาะสมของครอบครัว สามารถตักเตือนหรือขอร้องได้ว่าสิ่งใดที่ไม่ควรทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ควร เคารพและยอมรับตัวตนของลูก ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า "ลูกในตอนนี้มิใช่เด็กคนเดิมอีกต่อไปแล้ว"
หากพ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และค้นหาตัวตนของตนเอง เขาอาจเกิดความสับสน และต้อง เก็บกดตัวตนที่แท้จริงไว้ เพียงเพราะพ่อแม่หรือสังคม ไม่พร้อมยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น
หากถามว่า เราจะสอนลูกให้โอบรับความแตกต่างของผู้อื่นได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มต้นจากความสามารถในการยอมรับตัวเองให้ได้ก่อน โดยสิ่งพื้นฐานของการยอมรับตนเองได้ก็คือ การได้รับการยอมรับจากคนที่เขารักที่สุดอย่างพ่อแม่และครอบครัวให้ได้เสียก่อนนั่นเอง
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱