62
อย่าปล่อยให้ "หน้าจอ" พรากลูกไปจากคุณ !

อย่าปล่อยให้ "หน้าจอ" พรากลูกไปจากคุณ !

โพสต์เมื่อวันที่ : March 4, 2025

 

เด็กติดจออาจดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกคุณอาจรุนแรงกว่าที่คิด มาเรียนรู้วิธีป้องกันและแก้ไขก่อนสายเกินไป

 

ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกครัวเรือน ส่งผลให้เด็กสามารถเข้าถึงหน้าจอได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้หน้าจออย่างไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็ก

 

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอทุกชนิด
  • เด็กอายุ 2 - 6 ปี สามารถรับชมได้ แต่ต้องเป็นรายการที่มีคุณภาพและอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้หน้าจอเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และควรได้รับการควบคุมเนื้อหาที่รับชม

 

 

ผลเสียของการติดจอในเด็ก

1. ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร : เด็กที่ใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อภาวะ "ออทิสติกเทียม" เนื่องจากการใช้หน้าจอเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ส่งผลให้พูดช้า ไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ และขาดทักษะในการโต้ตอบกับผู้อื่น

 

พ่อแม่หลายคนอาจสังเกตว่าเด็กสามารถท่อง A-Z หรือจดจำคำศัพท์จากหน้าจอได้ดี แต่กลับไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับเพื่อนหรือคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่าเด็กอายุ 1 ปี 6 เดือนแล้วยังพูดคำโดด ๆ ไม่มีความหมาย หรืออายุ 2 ปีแล้วยังไม่สามารถพูดได้อย่างมีความหมาย ควรหยุดการใช้หน้าจอโดยเด็ดขาด และเพิ่มการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ เช่น อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน เล่นกับลูก

 

 

2. พฤติกรรมเลียนแบบและความรุนแรง : เด็กที่รับชมสื่อที่ไม่เหมาะสมอาจซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การใช้ความรุนแรง ตีหรือทำร้ายกัน การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม หรือการเลียนแบบพฤติกรรมจากการ์ตูนบางเรื่องที่มีเนื้อหารุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หากไม่ได้รับการคัดกรองเนื้อหาที่เหมาะสม อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์

 

 

3. ความเสี่ยงจากโลกออนไลน์ : เด็กที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว อาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพหรือพบเจอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย พ่อแม่จึงต้องใส่ใจและควบคุมการใช้งานของเด็กอยู่เสมอ

 

 

● ชมรายการคิดคลับส์ย้อนหลัง : คิดคลับส์อยากรู้ วันที่ 20 มกราคม 65

 

 

แนวทางแก้ไขและป้องกัน

  • จำกัดเวลาการใช้หน้าจอให้เหมาะสมกับวัย
  • คัดกรองเนื้อหาที่เด็กสามารถรับชมได้
  • ส่งเสริมการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การอ่านหนังสือ เล่นของเล่นที่เสริมพัฒนาการ หรือออกไปเล่นนอกบ้าน
  • พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม

 

 

"อย่าให้หน้าจอพรากลูกไปจากพ่อแม่ และในขณะเดียวกัน พ่อแม่เองก็ไม่ควรปล่อยให้หน้าจอพรากตัวเองไปจากลูก" การใช้หน้าจออย่างมีประโยชน์และจำกัดการใช้งานเท่าที่จำเป็นจะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official