บันไดขั้นแรกของเจ้าตัวเล็ก
เด็กจะพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างมีความสุขเพราะฐานของเขานั้นมั่นคงและเเข็งแรง
คำถาม “ถ้าเป็นเราจะเข้าไปช่วยเปิดฝาขวดน้ำให้เด็กน้อยหรือไม่ ?”
หลายท่านคง(อยาก)ตอบว่า “เข้าไปช่วยเปิด เพราะเด็กก็พยายามมามากแล้ว แล้วสิ่งที่ช่วยทำให้ก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงผู้ใหญ่อย่างเรา” คำตอบดังกล่าวอาจจะไม่ผิด เพราะ “เราปรารถนาดีที่จะเข้าไปช่วยเขา”
แต่ลองฟังอีกคำตอบหนึ่งที่ตอบว่า "จะไม่เข้าไปช่วยเดี๋ยวนั้น เพราะเด็กแค่แสดงออกถึงความพยายามในการเปิดฝาขวดน้ำ แต่เขาไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากเราด้วยการบอกเราตรง ๆ ที่สำคัญ อยากให้เขาได้ลองทำจนสุดความสามารถก่อน”
เมื่อเด็กเผชิญกับปัญหาในชีวิตเขา เพียงแค่เขาแสดงท่าทางยากลำบากขณะแก้ไขปัญหาตรงหน้า ผู้ใหญ่อย่างเราจะอดไม่ได้ที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ นั่นก็ไม่ผิดเช่นกันแต่เราอาจไปทำลายโอกาสเหล่านี้
ดังนั้น “ถ้าเด็กเจอปัญหา” ที่ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งเราพิจารณาจากหลักความปลอดภัย และความเหมาะสมกับวัยของเด็ก เราควรเปิดโอกาสให้เขาได้แก้ปัญหานั้นด้วยตัวเองจนสุดกำลัง โดยที่เราเฝ้าดูเขาอยู่ห่าง ๆ และรอเป็นผู้ช่วยเหลือเมื่อเขาทำต่อเองไม่ได้แล้ว
ซึ่งการช่วยเหลือควรเป็นไปในลักษณะของ 'การสอน' ไม่ใช่ 'การทำแทน' หรือ 'การทำให้' เพราะนั่นไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งใด และอาจจะทำให้เขารู้สึกต้องพึ่งพาเราเสียทุกครั้งที่ต้องเจอปัญหานี้อีกในอนาคต วันนี้เด็กน้อยอาจจะทำได้ไม่สำเร็จ แต่เรามีเวลามากมายที่ฝึกเขา ไม่ต้องเร่งรีบ หรือ นำเขาไปเปรียบเทียบกับใคร เด็กแต่ละคนมีจังหวะในการเดินของตนเอง ผู้ใหญ่เราก็เช่นกัน
สุดท้าย “ขอแค่โอกาสให้เด็กได้ลองทำอะไรด้วยตนเองก่อนจะเข้าไปช่วยเขา” คนภายนอกที่มองเข้ามาอาจจะมองว่า 'เราเป็นพ่อแม่หรือครูที่ใจร้าย' แต่ขอให้มั่นใจว่า "เราได้ช่วยเขาแล้ว ด้วยการให้เขาได้ยืนด้วยขาของตนเอง ในวันที่มีเราคอยเคียงข้าง ถึงการยืนครั้งนี้จะคลอนแคลน เขาอาจจะล้มลง แต่เราจะพร้อมเป็นกำลังใจให้เขาได้ลุกขึ้นใหม่ด้วยตนเอง"