2041
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้สปอยล์ ?

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้สปอยล์ ?

โพสต์เมื่อวันที่ : July 20, 2020

 

คุณพ่อคุณแม่คงอาจเริ่มเห็นภาพบ้างแล้วว่าวิธีการในการเลี้ยงลูกบางอย่างของเราอาจมีแนวโน้มที่จะสร้างเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองขึ้นมาได้โดยที่เราเองไม่ได้ตั้งใจ

 

..."ไม่มีเด็กคนใดเกิดมาด้วยพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเอง และขี้โวยวาย แต่เขาเรียนรู้ที่จะมีพฤติกรรมเหล่านี้ ดังนั้นเราสามารถปรับพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้นได้ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งปรับพฤติกรรมได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่า"...

 

 

4 สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การเรียนรู้พื้นฐาน

 

  • 1. เรียนรู้ที่จะผิดหวัง เพราะคนเราทุกคนต้องอยู่ได้ในวันที่เสียใจ ล้มแล้วต้องลุกเป็น และเรียนรู้จากน้ำตาแห่งความเสียใจให้ได้ ปล่อยให้ลูกร้องไห้และเสียใจเสียบ้างก็ดี ขณะเดียวกันสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงกระทำก็คือ “รับรู้” ว่าลูกกำลังรู้สึกผิดหวังเสียใจอยู่ “สื่อสาร” ให้ลูกรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองว่าเขารู้สึกอะไรอยู่ สอนลูกให้ “จัดการ” อารมณ์และสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างสงบและเหมาะสมที่สุดโดยปราศจากความรุนแรง ด้วยพื้นฐานที่ว่าคนเราทุกคนเสียใจได้ แต่เราจะทำรุนแรงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายสิ่งของ 3 อย่างนี้เป็นสิ่งต้องห้ามที่ยอมรับไม่ได้ พ่อแม่ต้องไม่อนุญาตให้ทำโดยเด็ดขาด 

 

พ่อแม่ควรพูดคำว่า “ไม่” ได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิด หากสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่จะถูกปฏิเสธ โดยพ่อแม่เองก็ต้องอดทนต่อน้ำตาของลูกให้ได้ในระดับหนึ่งด้วย มิฉะนั้นเราจะถูกน้ำตาและเสียงร้องของเขาควบคุมเราให้ทำตามที่ลูกต้องการโดยไม่สมเหตุสมผลได้ บนพื้นฐานที่ว่าเราจะไม่พูดคำว่า “ไม่” และห้ามพร่ำเพรื่อให้เขาใช้ชีวิตและเล่นอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบของวินัย ศีลธรรม และกิจวัตรที่เหมาะสมนั่นเอง ไม่ใช่ห้ามวิ่ง ห้ามเสียงดัง ห้ามเถียง ห้ามไปเสียหมดทุกเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ

 

ยกตัวอย่าง

ลูกอยากเล่นที่สนามเด็กเล่นต่อ ไม่ยอมกลับบ้านทั้งที่ถึงเวลาที่ได้ตกลงกันแล้ว ร้องไห้เสียใจและกำลังจะต่อรองกับเราเพื่อจะเล่นต่อ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำมิใช่การต่อรองแต่เป็นการยืนกรานว่าถึงเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว หากลูกจะร้องไห้เสียใจ ผิดหวังก็ต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะผิดหวังได้ ลูกร้องไห้เสียใจ พ่อแม่ก็แค่อยู่ใกล้และเข้าใจความรู้สึกของลูก โดยเราอาจจะพูดสะท้อนความรู้สึกของเขาสั้น ๆ ให้เขาเข้าใจว่า “เสียใจได้ค่ะลูก แต่วันนี้ถึงเวลาต้องกลับแล้วค่ะ” จากนั้นรอให้เขาร้องไห้สักพัก พอสงบลงบ้างก็พากลับบ้านแล้วค่อย ๆ คุยกับเขาต่อก็ได้เพื่อให้ภาพของเหตุการณ์ชัดขึ้น เช่น “แม่รู้นะว่าหนูอยากเล่นต่อ และเสียใจที่ต้องกลับบ้านแล้ว แม่เข้าใจลูก เป็นแม่ แม่ก็เสียใจ แต่ถึงเวลากลับบ้านแล้วค่ะ เราตกลงกันไว้แล้วใช่ไหมคะ พรุ่งนี้เรากลับมาเล่นใหม่ได้นะคะ”

 

 

⁂ ข้อแม้ ⁂ อย่าพยายามสอนหรือพูดเยอะในขณะที่ลูกกำลังเสียใจฟูมฟาย สงบอยู่ข้างลูก เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะรับกับความผิดหวังและอารมณ์ที่กำลังพุ่งพล่านอยู่ได้ เพราะบ่อยครั้งที่ความเงียบและความสงบของพ่อแม่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ได้ผลดีสำหรับสถานการณ์ที่วุ่นวายตรงหน้า

 

 

  • 2. เรียนรู้ที่จะรอคอย การต่อแถวและอดทนรอคอยเป็นพื้นฐานในการควบคุมตนเองอย่างหนึ่งที่เราควรฝึกให้ลูกเรียนรู้และปฏิบัติตาม สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักการอดทนรอยคอยได้ตั้งแต่ในวัยเตาะแตะ จากช่วงเวลาสั้น ๆ ผ่านกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างการกินอาหาร การดื่มน้ำ หรือแม้กระทั่งการเล่น 

 

ยกตัวอย่าง

เมื่ออาหารหมด ต้องการให้แม่เติมอาหารหรือนมให้ หรือเมื่อลูกร้องไห้เรียกแม่มาเล่นด้วยในขณะที่แม่กำลังทำอย่างอื่นอยู่ การสอนให้ลูกรออีกนิด รอแม่ทำงานที่อยู่ตรงหน้าเสร็จก่อน เริ่มต้นสัก 1 - 2 นาทีตอนลูกยังเล็ก ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะสอนให้ลูกรู้จักรอคอยนะครับ การซื้ออาหารที่ลูกชอบกิน แล้วบอกเขาว่า เดี๋ยวเราจะกินด้วยกันตอนพ่อกลับมาบ้าน หรือของเล่นใหม่ที่เพิ่งได้มา แล้วบอกเขาว่า ..."เดี๋ยวเราค่อยกลับไปแกะกล่องที่บ้าน"... แทนที่จะแกะเลยตั้งแต่อยู่บนรถ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เปิดโอกาสให้ลูกรู้จักการอดทนรอยคอยได้ดีทีเดียว และแน่นอนว่าการอดทนรอคอยอาจไม่ถูกใจลูกจนเกิดอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดได้ ก็ต้องให้ลูกเรียนรู้ที่จะผิดหวังและควบคุมตนเองได้นั่นเอง 

 

การสอนให้ลูกมีระเบียบวินัยและกิจวัตรที่ดี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันอย่างการกิน การนอน การอาบน้ำ-แปรงฟัน งานบ้าน ตลอดจนการบ้านจากโรงเรียน นี่คือกิจวัตรที่ต้องทำ เบื่อแค่ไหนก็ต้องทำ ไม่ควรต่อรอง ต้องควบคุมตัวเองให้ทำกิจวัตรเหล่านี้ให้ได้ก่อนการเล่นสนุกและทำในสิ่งที่ชอบ และทำให้ลูกจะคาดเดาได้ว่าตอนนี้เขาควรทำอะไรก่อนหลัง เหล่านี้ก็จะช่วยลดการดื้อหรือต่อต้านลงได้มากเลยครับ

 

 

  • 3. เรียนรู้ที่จะมองสิ่งดี ๆ ในชีวิต วิธีที่ง่ายที่สุดที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกเป็นเด็กคิดบวก มองโลกในแง่ดี มองเห็นเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตทุกวัน ก็คือ แบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ที่จะมองโลกในแง่ดี โดยให้ความสำคัญกับ “ตัวตนของลูก” และ “วิธีคิด” มากกว่าสิ่งของหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีอยู่ ใช้เวลาคุณภาพกับลูกให้ได้มากที่สุดกับของเล่น หนังสือนิทานหรือสิ่งของทุกอย่างที่มีอยู่ มิใช่เน้นการหาของสวยงาม ของเล่นใหม่ ๆ ที่ล่อตาล่อใจ หรือความหรูหราที่ฉาบฉวยภายนอก เพราะสิ่งนอกกายเหล่านี้ที่ได้มาง่ายก็จะกระตุ้นให้อยากได้อยากมีอีกมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายครั้งที่เราซื้อของให้ลูกน้อยลงแต่มีเวลาใช้กับเขามากขึ้น เขาอาจจะไม่เรียกร้องหาของเล่นชิ้นใหม่อีกเลยก็ได้

 

 

  • 4. เรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา แทนที่ทุกอย่างจะหมุนรอบตัวลูก จนกระทั่งลูกเห็นแต่ ฉัน ฉัน และฉันเพียงเท่านั้น เราต้องขยับการมองโลกจาก “ฉัน” มาเป็น “เรา” และจาก “เรา” มาเป็น “คนอื่น” มากขึ้นเรื่อย ๆ สอนลูกให้ถามคนอื่นให้เป็นว่ามีความเห็นหรือรู้สึกอย่างไร ที่กล่าวมาคือวิธีการปรับพฤติกรรมเบื้องต้นเพื่อให้ลูกรู้จักใช้สมองส่วนคิดมากำกับสมองส่วนอารมณ์ ความอยากได้-อยากมีที่เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ แต่การที่สมองส่วนคิดจะเติบโตและสามารถทำงานของมันได้อย่างเต็มที่ ร่างกายและจิตใจของเด็กต้อง “ปลอดภัย” ก่อนเสมอด้วย

 

พ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับเขาที่พร้อมจะมอบความรักแบบไร้เงื่อนไขให้เขา มองข้อดีพฤติกรรมที่ดีของเขาได้ เพราะเมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ตัวเองมีดี ทำดีแล้วมีค่าพอให้ชื่นชม เขาจะอยากทำเรื่องที่ดี ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อเด็กมีความปลอดภัยทางอารมณ์เพียงพอ เขาจะเริ่มสังเกตและใส่ใจกับความรู้สึกของคนอื่นที่อยู่รอบตัว เอาใจเขามาใส่ใจเรา และลูกจะเป็นที่รักของคนรอบข้างได้โดยไม่ต้องพยายาม 

 

 

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จะเริ่มปรับพฤติกรรมลูกอย่างไร ให้เริ่มที่ตัวเราเองก่อน อยากให้ลูกเป็นอย่างไร จงเป็นแบบนั้นให้ลูกดู เห็น สัมผัส เพราะคำพูดสักร้อยพันคำก็ไม่หนักแน่นพอเท่ากับการกระทำที่ทำจริงของพ่อแม่นั่นเอง 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง