
"ลูกโกหก" อย่าเค้นให้พูดความจริงด้วยความโกรธ
พ่อแม่ควรให้โอกาสพูดความจริง อย่าเค้นและต้องเด็ดขาดในการลงโทษ
บ้างก็อาจจะทะเลาะกัน มีปากเสียง และหลายคู่ก็เลิกกันเพราะถูกอีกฝ่ายโกหกหลอกลวงนี่แหละครับ หากเราเป็นคนจับได้ เราก็อาจสงสัยว่า "ทำไมต้องโกหกกัน" ทั้งที่หลายครั้งเราเองก็เป็นฝ่ายโกหกเสียเองด้วยซ้ำ
ทำไมคนเราต้องโกหกกัน ? หากตอบแบบผู้ใหญ่โดยใช้หลักของจิตวิทยาก็สามารถอธิบายได้ว่า มนุษย์เราโกหกเพื่อ 2 จุดประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อกลบเกลื่อนปกปิดความผิดที่ได้ทำ เช่น มีกิ๊กก็โกหกกิ๊กว่าไม่มีเมีย เวลาที่ไปใช้กับกิ๊กก็โกหกภรรยาว่าไปทำงาน หรือไปทำงานสาย ตื่นไม่ทันก็โกหกหัวหน้าว่าป่วย เป็นต้น
อีกเหตุผลหนึ่งคือ โกหกเพื่อความสบายใจของผู้อื่น หรือที่เราเรียกว่ามัน "คำโกหกสีขาว" (White lies) เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความมาคุ หรือสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วนอึดอัดใจ เช่น การโกหกว่า สบายดี ทั้งที่หมดแรงทั้งกายและใจไปแล้ว หรือเกิดไปซื้อกระเป๋า LV New Cluny BB dc 18 ราคาเหยียบ 6 หมื่นมาก็ให้ไปส่งที่ทำงาน แล้วถือกลับบ้านบอกว่า mirror grade AA ราคาย่อมเยาแล้วค่อยลักลอบเอากล่องกลับมาที่บ้านวันหลัง จะได้ไม่ต้องอธิบายหรือทะเลาะเรื่องการซื้อของแพงกับครอบครัว เป็นต้น
เด็กก็ไม่ต่างกัน เด็กหลายคนเลือกที่จะ 'โกหก' เพราะไม่อยากถูกดุ หรือไม่อยากทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะเขารู้ว่าพูดความจริงไปก็ถูกดุ พูดความจริงไป พ่อแม่ก็เสียใจ เขาจึงเลือกที่จะพูดไม่จริงหรือไม่พูดไปเลยแทน แต่สำหรับเด็กอาจจะต้องเพิ่มสาเหตุของการโกหกตามวัยไปอีกสัก 3 อย่าง
1. โกหกไปตามจินตนาการและการเล่น พูดบิดเบือนความจริงไปตามการเล่น นิทาน และบทบาทสมมติ ช้างมีปีก นกมีเขา มีแม่มด มีผีเพื่อนรัก แบบนี้เป็นไปได้ตามวัย
2. โกหกเพื่ออรรถรส ความสนุกสนาน เพราะหลายครั้งเล่าเรื่องที่ไม่ตรงความจริงมันสนุกกว่า ดึงความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ได้มากกว่า แล้วเขาก็เรียนรู้พ่อแม่ด้วยว่าจะตอบสนองการโกหกของเขาอย่างไร ถ้าโกหกแล้วไปต่อได้ ครั้งหน้าก็อาจจะโกหกอีก
3. โกหกเพื่อผลประโยชน์ เพื่อให้ได้สิ่งที่ลูกต้องการ บอกว่าอาบน้ำแล้วเพราะต้องการเล่นต่อ ไม่อยากไปอาบน้ำ บอกว่าแม่ให้กิน ทั้งที่แม่ไม่ให้ เพื่อให้พ่อ หยิบขนมให้กิน เป็นต้น
หาก "ลูกโกหก" สิ่งที่ควรทำก่อนคือแยกก่อนว่าเป็นการบิดเบือนความจริงเพราะ ‘จินตนาการ’ หรือ ‘การโกหก’ ถ้าเป็นจินตนาการตามการเล่น นิทาน หรือการเล่าเรื่องก็ใช้วิธีตามน้ำ-ต่อยอด-เปิดบทสนทนาต่อไปได้ ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นการโกหกจริง แบบนี้ต้องมีการจัดการและดูแล
ยกตัวอย่าง ทำน้ำหก แล้วพอเราถาม ลูกกลับตอบว่า "ไม่รู้" "ไม่ได้ทำ" หรือ "คนอื่นทำ" แทนที่เราจะเริ่มดุลูกว่า "ก็แม่เห็นว่าหนูทำน้ำหก ทำไมโกหกแม่ ทำไมทำแบบนี้ ทำไมเป็นเด็กขี้โกหก" สิ่งที่เราควรทำก็คือ ยึดมั่นใจความจริงแล้วบอกลูกไปว่า "แม่เห็นว่าหนูทำน้ำหกลงมา ไปหยิบผ้ามาเช็ดค่ะ น้ำหกเปรอะหมดแล้ว เดี๋ยวลื่นหกล้มค่ะ""ครั้งหน้าระวังมากขึ้นนะคะ น้ำจะได้ไม่หก" "แต่ถ้าทำน้ำหกอีก ก็แค่เช็ด บอกแม่ได้นะ" แค่นี้ก็พอ สำหรับเรื่องที่ไม่ได้ใหญ่โต ไม่ต้องถือโทษ แต่ให้รู้ว่าแม่ "รู้" ว่าลูกพูดไม่ตรงกับความจริง และการพูดความจริงเป็นสิ่งควรทำ
หากเหตุการณ์โกหกใหญ่ขึ้น มีผลตามมาเยอะขึ้น ก็บอกลูกได้ว่า ..."พ่อรู้สึกแย่นะ ที่ลูกไม่บอกพ่อตรง ๆ"... หรือ ..."การโกหก เป็นเรื่องที่ไม่ดี อย่าทำอีก มีอะไรบอกกันตรง ๆ ได้ และดีกว่าด้วย จะได้ช่วยกันแก้ไขนะครับ"... และหากเกิดผลลัพธ์จากการโกหกก็ควรให้ลูกได้รับผลของการกระทำนั้นด้วย เพื่อเป็นบทเรียนของเขา
ในขณะเดียวกันให้ย้อนกลับมามองตนเองด้วยเสมอ โดยเฉพาะหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่ชอบตัดสินถูกผิด ดุเก่ง ขึ้นเสียงก่อน สั่งสอนก่อน ฟังที่หลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน 'ไม่ดี' แล้วล่ะก็ ยิ่งมีความเสี่ยงที่ลูกจะปกปิดความจริงไว้เพื่อเลี่ยงการปะทะหรือการมีปัญหากับพ่อแม่ แม้เขาจะรู้ว่าเป็น โกหกเป็นเรื่องไม่ดีก็ตาม
..."ดังนั้นหากลูกโกหกบางครั้งอาจต้องย้อนกลับมามองตัวเองด้วยเสมอว่า เวลาลูกทำผิด เราทำโทษหรือดุมากเกินไปหรือไม่ด้วยนะครับ"...