เด็กติดเกม ภัยเงียบของเด็กไทย
ปัญหาที่พบมากในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
สิ่งที่ตามมาเมื่อเขาเรียนไม่รู้เรื่อง คือ เขาไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากทำการบ้าน และใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเล่นเกม ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เขาจะตื่นเช้ามาเล่นเกมเป็นอย่างแรก และเล่นเกมเป็นอย่างสุดท้ายก่อนนอน หนักเข้า เขาเริ่มโดดเรียนไปเล่นเกมกับเพื่อนทั้งวัน
ซึ่งวิธีการจัดการปัญหาของคุณแม่ คือ ตี ดุลูก บังคับให้ลูกเรียนพิเศษกับครูหลังเลิกเรีย นและวันเสาร์ ไม่ให้เงินค่าขนมเป็นการลงโทษ ผลลัพธ์ คือ ลูกยังคงติดเกมเช่นเดิม และมีปัญหาหนักเพิ่มเข้ามาอีกประการ คือ “น้องไม่ยอมพูดกับแม่” สำหรับแนวทางรับมือกับวัยรุ่น มีดังนี้
▶︎ ขั้นที่ 1 ทำความเข้าใจ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "ลูกเป็นวัยรุ่นแล้ว วัยนี้เป็นวัยที่พ่อแม่สอนอะไรจะเริ่มไม่ฟัง เขาฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่เสียอีก ที่สำคัญเขาไม่กลัวไม้เรียวหรือการลงโทษที่เขาเคยโดนมาสมัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้นยิ่งพ่อแม่ต่อต้านสิ่งที่เขาชอบ เช่น เกมที่เขาเล่น เพื่อนของเขา เด็กจะตั้งกำแพงสูงกับเราทันที”
▶︎ ขั้นที่ 2 พ่อแม่ไม่ควรเป็นศัตรูกับสิ่งที่เขารัก เขาชอบ เช่น “เกม” หรือ “เพื่อน” เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากสิ่งเหล่านั้น แต่เกิดจากการ “เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังไม่ได้” และ “ควบคุมตนเองไม่ได้” เพราะต่อให้เขาเล่นเกม และไปเล่นกับเพื่อน ถ้าหากเขาเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ เขาจะเลือกรับผิดชอบงานที่สำคัญก่อน (การบ้าน งานบ้าน) แล้วจึงไปเล่น
หรือถ้าเล่นจนติดลม เขาจะควมคุมตนเองให้หยุดเล่น แล้วไปทำอย่างอื่นต่อได้ ดังนั้นการไปเป็นศัตรูและต่อต้านสิ่งที่เขาชอบ นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหา ซ้ำร้ายยิ่งเป็นการผลักไสเขาให้ยิ่งไกลออกไปจากเรา
▶︎ ขั้นที่ 3 สร้างสายสัมพันธ์กับลูกใหม่ เพราะถ้าหากสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกไม่ดี อย่าได้คาดหวังการยินยอมรับฟังคำขอ หรือ คำสั่งจากเรา เราอาจจะบังคับเขาได้บางครั้ง แต่เราบังคับเขาไม่ได้ทุกครั้งหรอก จริงไหม ?
ในทางกลับกัน ถ้าเรากับลูกรักกันสายสัมพันธ์เหนียวแน่น "เราขอ เขาจะรับฟัง เราสอน เขาจะพิจารณา และอาจจะทำตาม" ซึ่งสายสัมพันธ์ สามารถสร้างได้จากหลักการพื้นฐาน คือ เคารพกันและกัน รับฟัง พูดคุย ใช้เวลากับลูก และเป็นเพื่อนเขา
...“สายสัมพันธ์เป็นดั่งเชือกที่ฉุดรั้งเขาไว้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่กับเขาตรงนั้น ลูกจะตระหนักถึงสายสัมพันธ์ที่ดีที่มีกับพ่อแม่ของเขา และอยากทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเขารักเรา ไม่ใช่เพราะเขากลัวเรา”...
▶︎ ขั้นที่ 4 ตั้งกติการ่วมกัน เราไม่ควรห้ามเขาเล่นเกม แต่เรากับลูกสามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนร่วมกันได้ และถ้าเขาไม่ทำตาม หน้าที่พ่อแม่คือ การช่วยควบคุมกติกา เราจะไม่ปล่อยลูกทิ้งไว้กับเกมเพียงลำพัง ในวันที่เขายังควบคุมตนเองให้ทำตามกติกา แนะนำให้จัดบริเวณเกมของลูกให้อยู่ในส่วนกลางของบ้านเพื่อให้เขาได้เล่นเกมนั้นกับเราได้ดัวย
▶︎ ขั้นที่ 5 หากิจกรรมทดแทน การเล่นเกมทำให้เด็กตื่นเต้นเร้าใจ อะดรีนาลีน (Adrenaline) หลั่ง ดังนั้นเราลองหากิจกรรมที่กระตุ้นฮอร์โมนตัวเดียวกันมาทำดู เช่น การเล่นกีฬา การเล่นบอร์ดเกม การไปเที่ยวธรรมชาติ และอื่น ๆ
▶︎ ขั้นที่ 6 ย้อนหาดูต้นเหตุ นอกจากการแก้ที่ปลายเหตุแล้ว เราต้องกลับมาดูที่ต้นเหตุด้วยว่า “การติดเกม” ของลูก ไม่ได้เกิดจากความอยากเพียงอย่างเดียว เขากำลังหนีปัญหาอะไรสักอย่างอยู่หรือเปล่า ? (เรียนไม่เข้าใจ เพื่อนไม่ยอมรับ โดนกลั่นแกล้ง และอื่น ๆ) เพราะขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา เวลาเจอปัญหาที่หนักหนาหรือปัญหาที่แก้ไม่ตก ยังไปพึ่งแอลกอฮอลล์บ้าง ไปเที่ยวหนีความจริงบ้าง
กลับมาที่วัยรุ่น เขายังไม่มีกำลังทรัพย์จะไปที่ไหน ทำอะไรที่ผู้ใหญ่ทำได้ “เกม” จึงเป็นวิธีการหนีโลกที่เขาไม่อยากเผชิญ ซึ่งปัญหาที่วัยรุ่นมักแก้ไม่ตก ได้แก่ การเรียนเนื้อหาที่ยากขึ้น เขาไม่เข้าใจ แล้วยังต้องทำการบ้านเอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียนด้วยซ้ำ นานวันก็กลายเป็นงานกอง ติด ร. และสอบตก เมื่อเรียนไม่ดี ก็พยายามเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน อาจจะเล่นเกมเพื่อหาเพื่อน หรือ ทำอะไรที่ดูเท่ห์ในสายตาเพื่อนวัยเดียวกัน
อย่างในกรณีของเด็กวัยรุ่นข้างต้น เขามีความบกพร่องเรื่องการเรียนเป็นทุนเดิม ทำให้เขาไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนเลย กลับบ้านมาไม่มีใครช่วยเขา เพราะคิดว่าเขาโตแล้ว ควรรับผิดชอบได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่จริงน้องต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร
บางอย่างเด็กไม่สามารถทำด้วยตัวเขาเองได้ แต่เขาไม่กล้านำมาปรึกษาเรา
ถ้าเราสนิทกับลูก พูกคุยกับเขา ทำให้เขารู้ว่า เรายินดีรับฟังเขาเสมอ เด็กจะกล้าเข้ามาคุยกับเราถึงปัญหาที่เขาเจอ อย่าบอกลูกว่า “โตป่านนี้ยังต้องให้มานั่งจ้ำจี้จ้ำไชอีกเหรอ” หรือ “ทำไมทำไม่ได้" ไม่มีวัยรุ่นคนใดอยากเป็นภาระในสายตาพ่อแม่ ตรงกันข้าม เขาอยากเป็นที่ยอมรับทั้งจากเพื่อน และพ่อแม่ของเขา
อย่าผลักไสลูก ให้เขาไปแก้ปัญหาที่ตัวเขาเองแก้ไม่ได้ เพราะถ้าหนักเข้า เด็กอาจจะแก้ปัญหาแบบผิด ๆ ด้วยการหนีปัญหา ไปอยู่กับเพื่อนที่เป็นแบบเดียวกับเขา ไปเล่นเกม และที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น คือ “การทำร้ายตัวเอง”
ดังนั้นสิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาวัยรุ่นติดเกม คือ พ่อแม่ ผู้ใหญ่รอบข้าง อย่าต่อต้านสิ่งที่เขาทำ แต่ให้เข้าไปอยู่เคียงข้าง เขา ทำความเข้าใจโลกที่เขาอยู่ ทำความรู้จักกับเขา แล้วใช้สายสัมพันธ์ดึงเขาออกมา อย่าห้ามเขาเล่นเกม แต่ให้ใช้วิธีการชักชวนเขาไปทำกิจกรรมกับเรา จนกิจกรรมเหล่านั้นไปเบียดเวลาเล่นเกมของเขาให้น้อยลง ๆ แต่อย่าลืมว่าต้องทำให้เขารู้ว่า เราเป็นเพื่อนเขา ไม่ใช่ศัตรูของเขา “ลองนั่งลงและเล่นเกมกับลูกดู ให้เขาสอนเราเล่น” แล้วเราจะพบว่า “ลูกเปิดใจกับเรามากขึ้นอีกมาก” หลังจากนั้นเมื่อพูดคุยกันจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะเราจะเข้าใจมากขึ้นด้วย
สุดท้ายถ้าหากปัญหาลูกติดเกมร้ายแรงเกินกว่าที่เราจะรับมือไหว ลูกมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองและผู้อื่น มีการทำลายข้าวของเวลาแพ้เกม พ่อแม่ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป เพราะปัญหาการติดเกมถือเป็นอาจจะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป องค์การอนามัยโลกได้จัดให้การติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่ง (Gaming disorder) เป็นอาการทางจิตที่รุนแรงและต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับ
..."โรคอื่น ๆ การเล่นจนติดเกมแตกต่างจากการเล่นเพื่อความสนุกสนาน เมื่อผู้เล่นไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องเล่นอย่างต่อเนื่องและะยะเวลาการเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจการทำกิจกรรมอื่น จนคุณภาพชีวิตเสียไป จุดนั้นเด็กควรได้รับการบำบัดรักษา ก่อนที่จะสายเกินไป"...
อ้างอิง : WHO