2454
เมื่อเด็กทะเลาะกันเพื่อแย่งของกัน

เมื่อเด็กทะเลาะกันเพื่อแย่งของกัน

โพสต์เมื่อวันที่ : November 17, 2020

 

"ลูกชอบแย่งของกันจะทำอย่างไรดีคะ บางครั้งของมันเหมือนกันแต่เค้าก็ยังแย่งกันอยู่ดีทั้ง ๆ ที่ของมันก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่คนน้องจะชอบแย่งของพี่ ไม่ว่าพี่จะจับอะไรน้องก็จะเอาทุกอย่าง พี่ 4 ขวบ น้อง 2 ขวบค่ะ แย่งของกันทุกวันทะเลาะกันทุกวันเลยแม่จนปัญญาที่จะแก้ไขเรื่องนี้แล้วจริง ๆ ค่ะ"

 

คำตอบ : “เราไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นเพิ่มเป็นสองชิ้นให้เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องห้ามลูกเล่นด้วยกัน และการทะเลาะกันในพี่น้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ”

 

รับมือลูกแย่งของเล่นกัน !

 

➜ กรณีที่ 1 “เด็ก ๆ มีความสามารถมากพอ และสามารถไกล่เกลี่ยกันได้”

คุณพ่อคุณแม่แค่เพียงเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากเด็ก ๆ สามารถไกล่เกลี่ย ประนีประนอมกันได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 - 5 ปีขึ้นไป เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มเรียนรู้การเล่นแบบร่วมมือ หรือ “Coorporative play” เด็ก ๆ เริ่มสนใจเล่นกับเด็กคนอื่น (ที่วัยใกล้เคียงกับพวกเขา) พวกเขาอยากทำกิจกรรมร่วมกัน เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้การตอบโต้พูดคุยกับเด็กคนอื่น การผลัดกันเล่น การแบ่งหน้าที่กันทำงาน และการแบ่งปันกันในช่วงนี้ ถ้าพวกเขาอยากเล่นด้วยกันพวกเขาจะต้องฝึกการประนีประนอม

 

ดังนั้นเด็ก ๆ ที่ได้เล่นกับเด็กคนอื่นจะเรียนรู้ ‘การให้ (เพื่อจะได้เล่นด้วยกัน)’ ‘การอดทนรอคอย (ให้ถึงตาตัวเอง)’ และ ‘การต่อรอง (เพื่อจะได้เล่นที่ตนและผู้อื่นอยากเล่นด้วย)’ ทักษะทางสังคมจึงถูกพัฒนาอย่างมากในวัยดังกล่าว ถ้าหากผู้ใหญ่สนับสนุนให้เด็กได้เล่นกับเด็กคนอื่น

 

 

➜ กรณีที่ 2 “เด็ก ๆ ไม่สามารถไกล่เกลียกันได้ และการทะเลาะนำไปสู่การทำร้ายทางร่างกายกัน ซึ่งมักเกิดในเด็กเล็ก”

ในกรณีนี้ผู้ใหญ่ต้องเข้าไปเป็นกรรมการ ย้ำว่าเป็นกรรมการ ไม่ใช่เข้าไปตัดสินใครทันที

 

● ขั้นที่ 1 ให้เราดูว่าของชิ้นนั้นเป็นของส่วนตัวหรือของส่วนรวม หากเป็นของส่วนตัวแล้วเด็กผู้ที่เป็นเจ้าของนั้นไม่พร้อมที่จะแบ่งบัน นั่นเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะไม่แบ่งปัน ซึ่งผู้ใหญ่บางคนมักจะพูดว่า “พี่ต้องรู้จักแบ่งปันให้น้อง” คำพูดนี้หากมองในมุมของเด็กก็อาจจะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของ

 

เคล็ดลับ พ่อแม่ควรมีพื้นที่หรือกล่องสำหรับเก็บของส่วนตัวของเด็กให้คนละหนึ่งกล่อง เพื่อให้เด็กเรียนรู้การดูแลรักษาของ ๆ ตัวเอง ถ้าตนเองไม่เก้บเมื่อเล่นเสร็จแล้วน้องหรือคนอื่นมาเล่น เขาจะได้บทเรียนจากการไม่ดูแลรักษาของด้วย นอกจากนี้การมีพื้นที่หรือกล่องเก็บของของตนเอง ทำให้เด็กมีพื้นที่ส่วนตัว ที่แห่งนี้เขาได้เป็นเจ้าของ และมีความรับผิดชอบที่ต้องดูแลอย่างดี

 

แต่หากของชิ้นนั้นเป็นของส่วนรวมที่มีไว้สำหรับใช้ด้วยกัน ก็ให้ยึดหลักว่าของชิ้นนี้เป็นของส่วนรวมไม่ได้มีไว้สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง โดยผู้ใหญ่ที่เข้าไปไกล่เกลี่ยจะให้สิทธิ์ผู้ที่หยิบของชิ้นนั้นมาก่อนได้มีสิทธิ์ใช้ก่อนเพียงช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ให้เด็กคนที่หยิบมาก่อนใช้/เล่นได้ 1 นาที ถ้าครบ 1 นาทีแล้วต้องแบ่งให้อีกคนนะ หรือในเด็กที่เล็กมาก ๆ ให้ผู้ใหญ่นับ 1-10 แล้วให้เด็กผลัดกันเล่นหรือดูในเวลา 10 วินาที

 

 

● ขั้นที่ 2 ถ้าหากเป็นของส่วนรวมแล้ว เด็กไม่ยอมผลัดกันเล่น อาละวาด และทำร้ายผู้อื่น เราควรพาเด็กคนดังกล่าว ออกมาจากบริเวณนั้นก่อน พาไปนั่งสงบด้วยกัน บอกเขาชัดเจนว่า “หนูไม่พอใจได้ แต่เราไม่ตีไม่ทำร้ายคนอื่น” ผู้ใหญ่ควรบอกเด็ก ๆ ชัดเจนเสมอว่า “เราอนุญาตให้หนูรู้สึกและระบายความรู้สึกนั้นอย่างเหมาะสม แต่เราไม่อนุญาตให้ทำร้ายเด็ดขาด”

 

เราจะไม่สอนหรือตำหนิเด็กอีกคนต่อหน้าเด็กอีกคน ยิ่งเป็นพี่น้องแล้ว ยิ่งรู้สึกมากเป็นพิเศษ ถ้าเราไม่สามารถแยกเด็กสองคนออกจากกันได้ เเนะนำให้พาออกมาสงบด้วยกันทั้งคู่ เรานั่งกลาง แล้วรอให้พวกเขาสงบ จากนั้นสอนพร้อมกัน ย้ำเรื่องกติกาการอยู่ร่วมกัน เช่น กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ ซึ่งลูกทั้งสองกำลังทำผิดด้วยกันทั้งคู่ ถ้าอยากเล่นด้วยกันต่อ ให้ขอโทษและคืนดีกัน แต่ถ้าไม่พร้อมก็นั่งสงบรอเวลาต่อไป

 

 

● ขั้นที่ 3 หากการทะเลาะกัน นำไปสู่การทำร้ายที่ร้ายแรง หรือ การคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เราควรสอนเด็ก ๆ ให้จัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น...

 

  • สอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ต่าง ๆ โกรธ เศร้า เหงา เบื่อ กังวล กลัว เป็นต้น เพื่อที่เขาจะได้ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนเองได้เท่าทันมากขึ้น ก่อนที่จะระเบิดอารมณ์ออกมาใหญ่โต
  • สอนให้เด็กขอเวลานอก แล้วเดินออกมานั่งพัก หรือ อยู่ในพื้นที่ที่สามารถระบายอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม จะไปล้างหน้า ไปดื่มน้ำ ไปวิ่ง ไปเดิน ไปหายใจเข้าออกแรง ๆ ด้านนอก หรือ มาคุยกับเรา ได้ทั้งนั้น ขอเป็นทางเลือกที่เด็กสบายใจที่จะระบายออกทางอารมณ์ ไม่ใช่เก็บกดความรู้สึกนั้นไว้ก็เพียงพอแล้ว
  • ผู้ใหญ่รอบตัวเขาควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอาณ์ด้วย เพราะเด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราสอน

 

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว ให้เราแยกเด็กที่ทำร้ายผู้อื่น ออกมาก่อน พามาสงบด้วยกัน จับมือเขาหากเขาจะยังทำร้ายอยู่ บอกชัดเจนและหนักแน่นว่า “ไม่ทำ” รอสงบ แล้วสอนอีกครั้ง ย้ำเรื่องเดิม และสอนวิธีการจัดการอารมณ์ให้ตามที่แนะนำไปข้างต้น ทดลองทำวิธีการระบายอารมณ์ต่าง ๆ ทำไปพร้อมลูก เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่า นี่ไม่ใช่การลงโทษนะ แต่เราต้องการจะช่วยเหลือเขาอยู่

 

 

● ขั้นที่ 4 เมื่อการทะเลาะกันสิ้นสุดลง ควรจบลงที่การ “ขอโทษ” แล้วจึงให้เล่นต่อเสมอ เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้ว่า “เมื่อเราทะเลาะกับใคร หรือ ทำให้ใครรู้สึกไม่ดี” เราควรรู้จักการขอโทษ แม้ว่าเด็กยังไม่เข้าใจคำว่าขอโทษอย่างแท้จริงในวันนี้ แต่เมื่อเราสอนและปลูกฝังเขาจนเป็นนิสัย เขาจะเรียนรู้ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

 

ที่สำคัญผู้ใหญ่สามารถสอนเด็กได้ว่า "เมื่อเรารู้สึกไม่ดี แสดงว่า เราทำอะไรผิดไปบางอย่าง แม้ว่าเราจะผิดด้วยกันทั้งคู่ (ทะเลาะกัน) การขอโทษก่อน ไม่ได้แปลว่า เราผิดอยู่ฝ่ายเดียว หรือ เราเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เเปลว่า เราสนใจเรื่องมิตรภาพมากกว่าการเอาชนะกัน”

 

สุดท้าย การทะเลาะกันของเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด ผู้ใหญ่ควรเรียนรู้การปล่อยวาง และปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง ทั้งนี้อย่าลืมสอนสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ การสื่อสาร และทักษะการช่วยเหลือตัวเองตามวัย ให้กับเด็ก ๆ เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง