1875
ในวันที่...เราทะเลาะกับลูกมากขึ้น

ในวันที่...เราทะเลาะกับลูกมากขึ้น

โพสต์เมื่อวันที่ : November 30, 2020

..."ทำไม ลูกถึงดื้อขนาดนี้"...

..."ทำไม เราถึงขึ้นเสียงกันบ่อยขึ้น"... (ทุกวัน บางบ้านทุก 1-2 ชม.ด้วยซ้ำ)

..."ทำไม มองไปทางไหนก็เห็นแต่ลูกทำเรื่องไม่ถูกใจ"...

 

คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยที่รู้สึกว่า “ทำไมเราถึงทะเลาะกันมากกว่าคุยกันดี ๆ” แต่ละวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอน เรารู้สึกว่าทุกอย่างหรือเรื่องส่วนใหญ่ที่ลูกทำ มักไม่เข้าตา ไม่ถูกใจพ่อแม่อย่างเรา ทั้งดื้อ ทั้งเถียง ทำตัวไม่น่ารัก

 

ดังนั้นพ่อแม่หลายคนจะพยายามจับลูกมาปรับพฤติกรรมปัญหา ตั้งกฎเกณฑ์ ทำโทษ ดุและเด็ดขาดมากขึ้น และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยเสียงดุของพ่อแม่ และเสียงร้องไห้ของลูก เพราะปัญหาพฤติกรรมมันเยอะและหยุมหยิมเหลือเกิน

 

เพราะเรากำลัง ‘จับผิด’ ลูกมากกว่าที่จะมองหาพฤติกรรมที่ดีของเขาและต่อยอด ทุกอย่างที่เราเห็นจึงเป็นการมองลูกในแง่ ‘ลบ’ และ ‘ไม่เข้าตา’ ลูกก็จะรู้สึกว่าถูกพ่อแม่จับผิดตลอดเวลา ในขณะที่พ่อแม่ก็เหนื่อยกายและเหนื่อยใจที่ลูกไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ ดังนั้นยิ่งตั้งเป้าที่จะปรับพฤติกรรม ก็ยิ่งทำให้เราทะเลาะกันมากขึ้น

 

เมื่อวันที่เราทะเลาะกันมากขึ้น

สิ่งที่เราควรทำก่อนการปรับพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจพ่อแม่ก็คือปรับที่ผู้ปกครอง - คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ดี เพราะวันที่พ่อแม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป เครียดเกินไป ร่างกายทรุดโทรมเกินไป คุณพ่อคุณแม่จะหงุดหงิดง่าย ทะเลาะกับลูกง่ายขึ้น หรือกระทั่งพ่อแม่ทะเลาะกันเองมากขึ้น

 

❤︎ การดูแลตนเองให้มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจให้ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกเสมอ รับประทานอาหารที่เพียงพอ ครบถ้วนห้าหมู่ สามมื้อ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายทำในสิ่งที่ชอบของตนเองบ้างในเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง ดูละคร ไปช้อปปิ้ง นั่งจิบกาแฟ รับประทานอาหารหรือขนมที่ชอบบ้าง โดยสิ่งเหล่านี้จะเยียวยาใจของเราในวันที่เราอ่อนล้าไม่มากก็น้อย การดูแลตัวเองให้เป็น นอกจากจะทำให้เรามีแรงกายและใจในการเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่แล้วยังทำให้ร่างกายของคุณพ่อคุณแม่แข็งแรง อยู่กับลูกไปได้นาน ๆ อีกด้วย

 

❤︎ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานในช่วงกลางวัน และกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ในช่วงเย็น นั่นคือ ช่วงเวลาที่เราจะทะเลาะกับลูกมากที่สุด รองเท้าที่ไม่ได้วางบนชั้นวางรองเท้า ของเล่นและหนังสือนิทานที่กระจัดกระจาย บ้านที่รก เสียงที่เจี๊ยวจ๊าวของลูก สิ่งเหล่านี้มักกระตุ้นให้เราหงุดหงิดได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงกระทำก็คือ ไปอาบน้ำ ดื่มน้ำสักแก้ว หรือพักเอนหลังนั่งให้สบายก่อนสักพักก็ได้เพื่อลดความเครียดและความหงุดหงิดของเราลงก่อน เพราะบ่อยครั้งความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นนั้น จริง ๆ อาจไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่ขนาดนั้น และเราสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้อย่างละมุนละม่อมโดยที่ไม่ต้องปะทะกับลูกนั่นเอง

 

✚ เวลาคุณภาพร่วมกัน (Quality Time)

คือ เวลาที่พ่อแม่ลูกได้ใช้ร่วมกันแบบใกล้ชิด ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมนอกบ้าน ใช้เวลาร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน พูดคุยกันในเชิงลึก โดยอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกของการมีกันและกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน ดังนั้นการเพียง ‘อยู่กับลูก’ แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์อันดีนั้นไม่ถือเป็นเวลาคุณภาพ

 

✚ การเลี้ยงลูกเชิงบวก (Positive Parenting)

เป็นหลักการในการเลี้ยง ลูกที่อิงตามหลักจิตวิทยาและพัฒนาการของสมองที่เน้นการสร้างพฤติกรรมที่ดีและลดพฤติกรรมที่ไม่ดีโดยวิธีการที่ดีต่อสมอง การชมเชย การเป็นตัวอย่างที่ดี การให้ขอบเขตและความรับผิดชอบกับลูก มากกว่าการลงโทษและวิธีการเชิงลบ

 

เริ่มต้นจากการหันมาใช้เวลาดี ๆ และมีความสุขกับลูกก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อดึงใจลูกกลับมาหาเรามากขึ้น สร้างความสัมพันธ์อันดีมากขึ้น แล้วคุณจะเห็นว่า ลูกจะน่ารักขึ้น และปัญหาที่เราต้องลงแรงเพื่อปรับพฤติกรรมจริง ๆ จะเหลือไม่มากขนาดที่เราคิดไว้ตอนแรก และย้ำว่า แค่พ่อแม่พักบ้างให้ความเครียดของเราเองลดลง เราจะมองเห็นความน่ารักของลูกมากขึ้น

 

..."แค่มี Time-in ที่ดี เราจะไม่ต้อง Time-Out กันบ่อยครับ"...