4800
"ยับยั้งชั่งใจ" ทักษะที่ต้องฝึกและพัฒนา

"ยับยั้งชั่งใจ" ทักษะที่ต้องฝึกและพัฒนา

โพสต์เมื่อวันที่ : December 25, 2020

ช่วงสุดสัปดาห์ได้เห็นหนังสือเรื่อง “Don’t Eat The Marshmallow…Yet! The Secret to Sweet Success in Work and Life” (หยุด…อย่ารีบกินมารช์มาลโลว์ แล้วคุณจะประสบความสําเร็จทั้งงานและชีวิต)

 

หนังสือเกี่ยวกับวิธีคิดที่ทำให้ชีวิตของคนเราประสบความสำเร็จและแตกต่างกว่าคนอื่น เขียนโดย ดร.โจอาคิม เดอ โพซาด้า, เอลเล็น ซิงเกอร์ ซึ่งต้องการสะท้อนว่าทําไมคนที่ฉลาดเท่ากัน บางคนจึงประสบความสําเร็จ แต่บางคนล้มเหลว 

 

..."คําตอบคือ เพราะวิธีคิดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยสําคัญทําให้แต่ละคนมีบั้นปลายชีวิตที่แตกต่างกัน"...

 

และสิ่งสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือ “ความยับยั้งชั่งใจ” ของคนเราในวัยเด็ก ! พลันทำให้คิดถึงคลิปขนม “มาร์ชเมลโล่” (Marshmallow) ซึ่งได้ทำการทดลองในโครงการวิจัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อหลายปีก่อนของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า “ทฤษฎีมาร์ชมาลโลว์” นั่นแหละ

งานวิจัยชิ้นนั้นเป็นการปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังกับขนมมาร์ชมาลโลว์โดยรับปากว่าถ้าไม่กินก็จะได้ขนมเพิ่ม ซึ่งพบว่า เด็กที่สามารถยับยั้งใจไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ได้ จะมีผลการเรียนที่ดีกว่า สามารถเข้ากับคนอื่นได้ และจัดการกับความเครียดได้ดีกว่าเด็กที่ไม่สามารถห้ามใจตัวเองไม่ให้กินขนมมาร์ชมาลโลว์ได้

 

จากนั้นมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 10 ปี พบว่างานวิจัย The Marshmallow Test เรื่องการยับยั้งชั่งใจนี้เชื่อมโยงกับสุขภาพของเด็ก ๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยเด็กที่มีการควบคุมตัวเองได้ดีจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเด็กที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี โดยความสามารถในการควบคุมตนเองตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็กเล็ก จะติดดัวไปเมื่อโตขึ้น กลายเป็นวินัยในตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อนิสัยการกินและน้ำหนักตัวในอนาคต

 

และเด็กที่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ยังส่งผลดีต่อความสามารถในการเรียนรู้ทักษะทางสังคม มีนิสัยการวางแผน รวมถึงการจัดการกับความเครียดที่ดีด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการยับยั้งชั่งใจต้องขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เล็กด้วย

การยับยั้งชั่งใจ (Inhibition)

เป็นทักษะพื้นฐานในการควบคุมตนเอง (Self Control) และความต้องการของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในเวลาที่สมควรโดยอาศัยสมาธิและเหตุผลเป็นตัวช่วย 

 

ทักษะการยับยั้งชั่งใจเป็นส่วนหนึ่งของทักษะด้าน Executive Functions (EFs) หรือกระบวนการทางความคิดที่ช่วยให้เรามุ่งมั่นสามารถจัดการกับงานหลาย ๆ อย่างให้สำเร็จ ควบคุมแรงกระตุ้นต่าง ๆ ไม่ให้สนใจไปนอกลู่นอกทาง ซึ่งจะช่วยควบคุมพฤติกรรมและการกระทำที่ไม่เหมาะสม และให้เราตอบสนองในทางที่ดีขึ้นต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ นับเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน 

 

ทักษะดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถคิดก่อนพูด ช่วยให้สงบสติอารมณ์และยับยั้งชั่งใจ ไม่วอกแวกกับสิ่งกระตุ้น หากทักษะด้านนี้ดีก็จะส่งผลที่ดีต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ทั้งยังช่วยปรับพฤติกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี เช่น การเรียน, การทำงาน, การขับรถ และการใช้ชีวิต ฯลฯ 

 

Q : ความยับยั้งชั่งใจที่ว่านี้ฝึกได้หรือเปล่า ?
A : ตอบว่าฝึกได้ !

 

✚ พ่อแม่ต้องฝึกก่อน ✚

เริ่มแรกพ่อแม่ต้องฝึกตัวเองให้มีความยับยั้งชั่งใจก่อน ถ้าพ่อแม่เป็นคนอารมณ์ร้อน มุทะลุ ใจเร็ว หรือไม่ค่อยอดทนรอคอยสิ่งใด ๆ ลูกก็จะซึมซับเอาพฤติกรรมต่าง ๆ ของพ่อแม่ไปด้วยอย่างแน่นอน ฉะนั้นถ้าอยากฝึกลูก ต้องเริ่มปรับตัวเองก่อน มีสติและพยายามคิดให้รอบคอบก่อนทำสิ่งใด ๆ 

 

✚ อดทนเป็นรอคอยได้ ✚

การฝึกให้รู้จักการอดทนรอคอยเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรฝึกตั้งแต่ลูกเล็ก เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ระยะเวลาสั้น ๆ โดยดูวัยของลูกเป็นหลัก เมื่อลูกเริ่มโตก็เพิ่มระยะเวลามากขึ้น หรือเรื่องที่ยากขึ้นตามวัย เมื่อลูกได้รับการฝึกฝน และเข้าสู่วัยรุ่นก็จะทำได้ดีขึ้น มีระยะในการรอคอยที่นานมากขึ้นไปตามลำดับ ที่สำคัญถ้าลูกทำได้ดี พ่อแม่ก็ต้องชื่นชม หรือให้รางวัล อาจเป็นอ้อมกอดของพ่อแม่ หรือใช้ทฤษฎีแบบเดียวกับมาร์ชมาลโลว์ก็ได้ เมื่อทำได้ก็จะได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการเน้นย้ำให้ลูกได้รับรู้ว่าลูกได้พยายามทำสิ่งที่ดี และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจที่เขาสามารถควบคุมตัวเองได้ ก็จะเป็นการช่วยให้เขาปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดีอีกด้วย

 

✚ สร้างวินัยที่ดี ✚

เรื่องวินัยเป็นเรื่องที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น วินัยการกิน การนอน การเรียน ฯลฯ จะช่วยฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบในเรื่องของการช่วยเหลือตัวเอง และเมื่อเขาเติบโตก็ขยับให้เขามีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักแยกแยะสิ่งที่ควรไม่ควร ดีไม่ดี

 

✚ ฝึกให้รู้จักความพอดี ✚

เรื่องนี้พ่อแม่ควรสอนและปลูกฝังตั้งแต่เล็ก อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไป หรือเพราะว่ารักลูกก็เลยตามใจลูกทุกอย่าง ทำให้เด็กไม่รู้สึกขาด แต่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีทุกสิ่งอย่างที่อยากได้ ควรจะมีเฉพาะสิ่งจำเป็น ถ้าลูกมีของเล่นหรือของใช้มากแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้ออีก หรือลูกมีโทรศัพท์มือถือแล้ว เห็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่สวยก็อยากได้อีก กลายเป็นว่าที่ซื้อของใหม่เพราะอยากได้ ไม่ใช่เพราะจำเป็น ฉะนั้น ต้องฝึกให้รู้จักความพอดีและพอใจในสิ่งที่มีด้วย

 

ตรงกันข้าม หากลูกไม่เคยได้รับการฝึกฝนให้มีสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะเกิดความเคยชินว่าจะต้องได้ทุกอย่างดั่งใจ ก็จะทำให้เขาไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ และนำไปสู่การเป็นคนไม่รู้จักพอ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ อยากมี ก็จะทำให้หงุดหงิดอารมณ์เสีย และเห็นก้าวร้าว ซึ่งมีให้ข่าวคราวในสังคมมากมาย

 

ยุคปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุและสิ่งเร้าอยู่ล้อมรอบตัวที่เข้ามาปะทะตัวเด็กได้โดยง่าย ถ้าพ่อแม่ไม่สร้างภูมิต้านทานให้ลูกมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีก็ตาม โอกาสที่จะเกิดปัญหาจะเกิดขึ้นตามมากมาย 

 

..."ความยับยั้งชั่งใจเป็นทักษะที่สำคัญมากในยุคนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกและพัฒนาด้วย"...