12859
ลูกพูดคำหยาบ ต้องปราบแบบนุ่มนวล

ลูกพูดคำหยาบ ต้องปราบแบบนุ่มนวล

โพสต์เมื่อวันที่ : September 1, 2023

 

“ไอ้บ้า” “ไอ้โง่” “กรู” “มรึง” ไอ้ห่...า” “ไอ้ควา...” คำหยาบเหล่านี้ เด็ก ๆ เรียนรู้มาจากคนใกล้ตัว ซึ่งมักมาจากผู้ใหญ่ในบ้าน คนงาน เพื่อนข้างบ้าน ในหนังที่ดู หรือติดมาจากเพื่อนที่โรงเรียนก็ได้

 

เป็นธรรมดามากที่เด็กจะเลียนแบบคำเหล่านี้มาใช้ ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งตกใจว่าลูกจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าว รุนแรง เด็กเขากำลังเรียนรู้ว่า ควรจะใช้หรือไม่ใช้คำเหล่านี้ ซึ่งก็อยู่ที่วิธีการตอบสนองของผู้ใหญ่ค่ะ

 

อันที่จริงแล้ว ผู้ใหญ่หลายท่านที่มีวุฒิภาวะดีก็ยังพูดคำหยาบเลย เพียงแต่เลือกพูดเฉพาะในกลุ่มเพื่อนสนิท ไม่พูดในครอบครัวและที่ทำงานโดยเฉพาะถ้ามีเด็ก ๆ อยู่ด้วย ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ทำให้ผู้ใหญ่ จัดให้คำกลุ่มนี้ถูกใช้ในบริบทที่เหมาะสมเท่านั้น ดังนั้นลูกพูดหยาบอย่าเพิ่งกลัวว่า เขาจะเป็นเด็กเกเร หรือไม่ดีไปทั้งหมด

 

 

รับมืออย่างไรเมื่อลูกพูดคำหยาบ ?

 

❤︎ 1.พ่อแม่ต้องไม่สวนกลับ ❤︎

เมื่อได้ยินลูกพูดคำหยาบ ต้องใจเย็น ๆ นะคะ อย่าด่ากลับหรือตบปากเด็กเด็ดขาด ขอให้บอกตัวเองว่า ลูกกำลังเรียนรู้จากปฏิกิริยาของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่รุนแรงกลับ เด็กจะหยุดทำเพราะกลัวแต่ไม่เข้าใจ และจะไปพูดที่อื่นตอนโกรธหรือโมโห เลียนแบบกิริยาของพ่อแม่

 

ดังนั้นพ่อแม่จะต้องสงบนิ่งที่สุด ตอบสนองคำหยาบลูกด้วยการไม่สนใจ ทำให้คำเหล่านี้ไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่าไปเลย เมื่อพ่อแม่ทำเฉยเหมือนไม่ได้ยิน แถมยังคุยเรื่องของเราต่อไปได้แบบไม่ได้รู้สึกอะไร สมองเด็กก็ไม่ถูกกระตุ้น ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติเหมือนทุกวัน ลูกก็จะค่อย ๆ หยุดพูดหยาบไปเอง

 

 

❤︎ 2.พ่อแม่ต้องไม่ส่งเสริมด้วยการขำหรือเอ็นดู ❤︎

หลายบ้านมองเห็นเด็กพูดคำหยาบเป็นเรื่องน่ารัก เมื่อพ่อแม่หรือผู้ใหญ่หัวเราะใส่หรือแสดงสีหน้าชอบใจ เด็กจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เด็กจะทำซ้ำ พูดหยาบอีก กระตุ้นให้ผู้ใหญ่สนใจและชอบใจตนเอง แบบนี้คงเรียกได้ว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก ทำให้ฉันเป็น แล้วมาดุด่าตอนโตว่าพูดไม่ดี อย่าส่งเสริมเด็กโดยไม่รู้ตัวนะคะ หยุดหัวเราะหรือส่งยิ้มให้กับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของเขาค่ะ

 

 

❤︎ 3.ไม่วางเฉยไปเรื่อย ๆ หากไม่สำเร็จ ❤︎

วิธีไม่สนใจในคำพูดหยาบของลูก มักได้ผลในเด็กเล็กวัยอนุบาล แต่เด็กโตหรือเด็กที่ยังมีคนตอบสนองกลับอยู่ ไม่ว่าจะดุ ขู่ หรือขำใส่ มักมีปัญหากลับมาพูดใหม่ พูดไม่เลิกหรือแอบพูด พ่อแม่จึงต้องหารับมือด้วยวิธีอื่นต่อไป ดังนี้

 

❍ 1. อธิบายให้ลูกฟังว่า "พ่อแม่ไม่ชอบ เพราะอะไร" หลายครั้งเด็กพูดก็เพื่อแหย่พ่อแม่ เพราะไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงพูดไม่ได้ พ่อแม่อาจบอกแค่ว่าเป็นคำไม่ดี ซึ่งลูกไม่เข้าใจว่า ไม่ดีอย่างไร พ่อแม่ควรอธิบายเหตุผลให้เห็นภาพแบบนี้ “คำว่า กรู หรือ ไอ้โง่ เป็นคำที่ฟังแล้วไม่น่ารักเลย คนอื่นจะเข้าใจว่าลูกไม่น่ารักเพราะคำ ๆ นี้คำเดียว ทั้ง ๆ ที่ลูกแม่น่ารักหลาย ๆ อย่าง ไม่พูดคำนี้อีกนะคะ” เมื่อเด็กได้เห็นภาพตนเองชัดขึ้น เข้าใจมากกว่าคำว่าไม่ดีเฉย ๆ เด็กจะอยากหยุดพูดเอง

 

 

❍ 2. ช่วยลูกหาคำพูดอื่น มาแทนคำนี้ บ่อยครั้งที่คำพูดหยาบนั้นสื่อถึงอารมณ์โกรธของลูก เช่น โกรธที่เพื่อนล้อ ชื่อแม่ แล้วด่าไปว่า “ไอ้บ้า” หรือ ไอ้เชี่ย” พ่อแม่ควรแสดงความเข้าใจลูก แล้วช่วยลูกระบายออกด้วยคำพูดอื่นแทน เช่น “ไปไกล ๆ เลย !” “จะฟ้องพ่อเธอ !” แล้วให้ลูกออกจากเหตุการณ์ตรงนั้น นอกจากนี้เราต้องช่วยลูกระบายความโกรธอย่างเหมาะสม ลองอ่านในบทความ 5 ขั้นตอนฟังลูกอย่างเข้าใจค่ะ  

 

 

❍ 3. สอนให้คิดถึงใจคนอื่น หากลูกล้อเพื่อน เด็กหลายคนโดนล้อไปมาก็กลายมาเป็นคนล้อแทน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ค่ะ พ่อแม่ต้องพยายามสอนให้ลูกคิดถึงใจคนอื่น แม้ว่าเพื่อนคนอื่นอาจไม่คิดถึงใจลูกก็ตาม “ลูกคิดว่าแก้มจะรู้สึกยังไงที่ได้ยินลูกล้อว่า “อีดำ” ลูกเคยโดนมาก่อน ลูกคงนึกออกใช่มั้ยว่าเป็นยังไง ลูกเองก็ไม่ชอบ ก็อย่าไปทำคนอื่นเลยนะ”

 

หรือกรณีไม่เคยโดนล้อมาก่อน “ลูกคิดว่าแก้มจะรู้สึกยังไงที่ได้ยินลูกล้อว่า “อีดำ” ถ้ามีคนมาล้อลูกแบบที่ลูกไม่ชอบล่ะ ลูกจะรู้สึกยังไง” ฝึกลูกให้คิดถึงใจเขาใจเราบ่อย ๆ เพราะเด็กมักไม่มองมุมนี้เอง ถ้าพ่อแม่ไม่ทักขึ้นมา

 

 

❍ 4. มีบทลงโทษที่สมเหตุผล หลังจากที่เราพยายามวางเฉย อธิบายให้ลูกเข้าใจ สอนให้ใช้คำพูดอื่น และสอนให้คิดถึงใจคนอื่นแล้ว แต่ลูกก็ยังติดพูดหยาบในบ้านหรือในสถานที่ไม่ควรพูดอยู่ พ่อแม่ควรมีบทลงโทษเพื่อให้ลูกรับรู้ว่า พ่อแม่ซีเรียสจริง ๆ

 

การลงโทษมีเป้าหมายให้ลูกรู้สึกเจ็บปวด เพื่อให้หยุดพฤติกรรมนั้น แต่ความเจ็บปวดนี้ ต้องไม่ใช่ความรุนแรงและต้องเคารพตัวตนลูกด้วย เช่น พ่อแม่จะลดจำนวนนาทีของการดูการ์ตูนลง 1 คำต่อ 5 นาที หรือ ลดเงินค่าขนม 5 บาทต่อ 1 คำ

 

เมื่อลูกเดือดร้อนใจ ลูกจะระมัดระมังคำพูดมากขึ้น ถือเป็นการฝึกควบคุมตนเองที่ดี อย่างไรก็ตาม จะทำข้อนี้ได้ พ่อแม่ต้องทำข้ออื่นให้ครบก่อน รวมทั้งคนในบ้านต้องไม่มีการพูดหยาบแล้วนะคะ สุดท้ายค่ะ เด็ก ๆ ซึมซับต้นแบบที่ดีได้มากกว่าคำสอน ขอให้ทุกคนในบ้านระวังการพูดสบถ คำหยาบต่อหน้าเด็ก ๆ ด้วย

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง