2278
 ช่วยลูกค้นหาตัวเองให้เจอ !

ช่วยลูกค้นหาตัวเองให้เจอ !

โพสต์เมื่อวันที่ : January 15, 2021

...เรียนจนจะจบแล้วลูกบอกว่าไม่ชอบคณะที่เรียน...

...สิ่งที่เรียนกับสิ่งที่อยากทำงานไม่สัมพันธ์กัน...

...ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร หรือทำอะไรได้ดี...

 

ลูกของคุณเข้าข่ายปัญหาประมาณนี้หรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็ ลูกของคุณกำลังประสบปัญหาในการค้นหาตัวเอง เพราะยังไม่ตระหนักชัดเจนว่าตัวเองมีความชอบ ความถนัด หรือมีเป้าหมายชีวิตอะไรกันแน่ที่จะเหมาะสม 

 

เด็กจำนวนไม่น้อยในบ้านเรามีปัญหานี้ ! ส่วนหนึ่งเพราะขาดโอกาสในการเรียนรู้จักตัวเอง ส่วนใหญ่เดินตามสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดที่มีอิทธิพลต่อตัวเด็กเป็นผู้ออกแบบชีวิตให้ จึงทำให้มักไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไรจริง ๆ 

การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนไม่คิดว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ เพราะคิดว่าตัวเราย่อมรู้จักตัวเราดีอยู่แล้ว แต่แท้จริงแล้วเราอาจแทบไม่รู้จักตัวเองเลย อันเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนแม้จะมีความรู้มากมาย เก่งสารพัด แต่ก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่รู้จักตัวตนอย่างถ่องแท้ หรือไม่รู้จะนำความรู้นั้นไปใช้อย่างไร

 

การรู้จักตัวเองเป็นทักษะสำคัญในการสร้างพื้นฐานชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เพราะการรู้จักตัวเองจะนำไปสู่การมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน รู้ว่าตนเองมีความถนัด ความชอบ และความสามารถในด้านใด รู้วิธีเฉพาะตัวที่ถนัดในการเรียนรู้ของตนเองว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือรู้จุดอ่อนของตัวเองก็ทำให้สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที หรือรู้วิธีที่สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้

 

Dr. Jenny Yip นักจิตวิทยาคลินิกเคยให้ความหมายของการค้นหาตัวเองว่า ...“เพราะคนเราอยากรู้ความหมายในการมีชีวิตอยู่ เลยต้องค้นหาตัวเองให้เจอ”... ฉะนั้นเรื่องการค้นหาตัวเอง หรือส่งเสริมความถนัดและความสนใจของลูก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดเด็ก ควรฝึกฝนทักษะตั้งแต่วัยเยาว์ ในการช่วยให้ลูกค้นหาตัวเอง และหาตัวเองให้เจอ

❤︎ เปิดโอกาสด้วยคำว่า “ลอง” ❤︎

คำว่า “ลอง” มักมาพร้อมกับคำว่า “โอกาส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยเด็ก พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองผิดลองถูก และให้เขาได้ทดลองด้วยตัวเอง มิใช่ทำให้ลูกทุกอย่าง เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ของลูก ซึ่งรวมไปถึงการให้ลูกได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่หลากหลาย

 

❤︎ ปล่อยอิสระให้ได้ใช้ความคิด ❤︎ 

พ่อแม่ควรให้อิสระแก่ลูกในการคิดอ่านหรือทำสิ่งใดไม่ควรเป็นผู้บงการชีวิตลูก เช่น อยากให้ลูกสานฝันของพ่อแม่ที่ไม่สามารถเรียนในสาขานั้น ๆ ได้สำเร็จ โดยไม่ได้คำนึงว่าลูกจะชอบหรือถนัดในด้านนั้นหรือไม่ พ่อแม่ที่ปรารถนาให้ลูกรู้จักตัวเองจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สามารถตัดสินใจในการเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่มีหน้าที่คอยชี้แนะอยู่ห่าง ๆ

 

❤︎ เป็นกระจกให้ลูก ❤︎

พ่อแม่ต้องพยายามมองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง มิใช่อคติหรือลำเอียง จากนั้นก็ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้ลูกได้เห็นตนเองในมุมต่าง ๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี จุดด้อย ฯลฯ การสะท้อนภาพด้วยวัยและประสบการณ์ของลูก อาจทำให้เขามองเห็นภาพของตัวเองได้หลากหลาย เหมาะสม ซึ่งพ่อแม่คือผู้ที่เห็นลูกใกล้ชิดที่สุด และสามารถเข้าใจความเป็นตัวตนของลูกมากที่สุด

 

❤︎ สนับสนุนสิ่งที่ลูกชอบ ❤︎

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือคอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี อย่าพยายามคิดและตัดสินใจแทนลูก แต่เปลี่ยนมาสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้รู้ว่าลูกคิดอย่างไร ลูกอยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้แนะนำ เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักตัวเอง มีความถนัดอะไร ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี และควรปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร

 

โดยมีข้อแม้ว่า เมื่อลูกค้นหาและค้นพบว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงใจพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจ ยอมรับและเคารพในตัวลูกด้วย 

 

❤︎ ส่งเสริมให้ลูก “อ่าน” ❤︎

การอ่านเป็นประตูบานสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเปิดโลกทัศน์ เปิดความสนใจ เปิดประสบการณ์ช่วยให้ลูกได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ซึ่งหมายความว่าถ้าเด็กได้รับโอกาสที่ดีและเหมาะสม ก็จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ด้วย

 

เมื่อลูกโตขึ้นก็ขยับความสนใจให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น ซับซ้อนตามวัย ยิ่งถ้าเป็นการให้เขาเรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาชอบ ก็จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีต่อไปในอนาคต

 

การรู้จักตัวเองเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูก เพื่อนำไปสู่การรู้จักตัวเองอันเป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ รู้อะไรไม่สู้รู้จักตัวเอง