ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ไปงานศพบ่อยมากที่สุดในชีวิต และเป็นคนใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนสิ้นปี แม้แต่วันส่งท้ายปีเก่าจนกระทั่งข้ามมาสู่ต้นปีใหม่ ก็ยังคงได้รับข่าวคราวคนที่รู้จักทั้งที่มักคุ้น ทั้งที่รักใคร่ ทั้งที่เคารพรัก ล้วนมาจากพรากในเวลาใกล้เคียงกันแบบต่างกรรมต่างวาระ และนั่นหมายความว่าความตายไม่เลือกเพศ วัย เวลา และสถานที่
ดิฉันไปร่วมงานศพบ้าง ไม่ได้ไปบ้าง และไปไม่ได้บ้าง ด้วยข้อจำกัดของชีวิต แต่เมื่อมีโอกาสก็มักพาลูกชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปร่วมงานศพด้วย เพราะเชื่อว่าเขาจะได้เรียนรู้เรื่องความตาย หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นอนุสติให้เขาได้บ้าง ยิ่งสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ทั่วโลก ยิ่งตอกย้ำว่าชีวิตไม่มีความแน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนคือความตาย
การทำความเข้าใจและเรียนรู้เพื่อที่จะรับมือกับความตายจึงเป็นเรื่องจำเป็นของคนทุกวัย แม้แต่วัยเด็กและวัยรุ่น การฝึกให้ตัวเราและลูกคิดถึงเรื่องความตายก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อวินาทีนั้นมาถึง เราจะได้มีสติตั้งมั่นรับมือได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายอยู่หรือฝ่ายจากไป
ความเข้าใจเรื่องความตายของเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เด็กเล็กยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า “ความตาย” คืออะไร ความคิดเกี่ยวกับความตายในวัยนี้เป็นเพียงการหายไปหรือถูกทอดทิ้ง แม้เด็กบางคนอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับความตาย แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่องความตายได้ชัดเจน ไม่เข้าใจว่าตายแล้วจะไม่ฟื้น ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องตาย ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นกับทุกคน แต่เข้าใจว่าเหมือนสิ่งของที่หายไปชั่วคราวและกลับมาใหม่ได้ หรือเข้าใจว่าคนที่ตายแล้วยังคงอยู่ด้วย
ส่วนเด็กโตเริ่มเข้าใจได้ว่าตายแล้วไม่กลับมาอีก และค่อย ๆ พัฒนาความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งต้องตายในวันใดวันหนึ่ง รวมทั้งตัวเขาเอง เด็กสามารถเข้าใจความเป็นเหตุและผลแบบง่าย ๆ อยากรู้และกล้าถามเรื่องความตาย
ในขณะที่เด็กวัยรุ่นจะเข้าใจเรื่องความตายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เห็นถึงธรรมชาติของคนว่าต้องตายทุกคน และอาจเริ่มคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้แลกเปลี่ยนสื่อสารประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความตายและการสูญเสียได้มากขึ้น
การสื่อสารทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการตั้งคำถาม ตอบคำถาม ชวนพูดคุย เล่าถึงประสบการณ์ หรือนำสถานการณ์จริงมาพูดคุย โดยพยายามให้การสื่อสารทำให้เด็กได้สะท้อนความรู้สึกของตัวเอง
✚ ความตายไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ✚
พ่อแม่จำนวนมากยังมีทัศนคติที่ว่าห้ามพูดเรื่องตายเพราะเป็นลาง ผลที่ตามมาก็คือ ไม่ได้มีการเตรียมกายใจในการรับกับความตายที่เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก และเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาก็ยากที่จะทำใจยอมรับได้
ตรงกันข้ามหากเราพูดคุยเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติ และทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ อาจจำลองสถานการณ์จริงว่าถ้าแม่ตาย หรือพ่อตาย หรือทั้งพ่อแม่ตาย หรือลูกตาย จะเป็นอย่างไร ลองตั้งคำถามกับลูก และพูดคุยกับลูกว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนควรจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร
ประสบการณ์เกี่ยวกับความตายที่เด็กรับรู้ผ่านการกระทำของพ่อแม่นั้นสำคัญมาก หากพ่อแม่ไม่กล้าพูดถึงเรื่องความตาย มองความตายเป็นเรื่องต้องห้าม ปกปิดการแสดงออกทางอารมณ์เกี่ยวกับความตาย สุดท้ายลูกก็จะซึมซับเอาอารมณ์เหล่านั้นไปด้วย
✚ เปิดใจและรับฟัง ✚
ควรเปิดใจและรับฟังเด็ก ให้เขาได้แสดงความรู้สึก หรือพูดเรื่องความตายในแบบที่เด็กต้องการ ผู้ใหญ่ควรบอกให้เด็กรู้ว่าไม่มีผิดถูกเรื่องการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น แต่หากเด็กเข้าใจเรื่องความตายไม่ถูกต้องก็ควรอธิบายให้ฟัง ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องความตาย ก็ไม่ควรบังคับ
เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่อเรื่องความตายจึงเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรตัดสินหรือบังคับให้เด็กรู้สึกอย่างไรและควรพูดอะไร แต่ให้สังเกตว่าควรจะสื่อสารกับเด็กอย่างไรให้ตรงกับความต้องการและลักษณะของเด็กแต่ละคน
✚ เรียนรู้จากความตายที่อยู่รอบตัว ✚
การพูดเรื่องความตายในลักษณะเป็นธรรมชาติ เป็นการสื่อสารความจริงที่ดีที่สุด ทำให้เด็กได้เชื่อมโยงเห็นความตายที่อยู่รอบตัว เช่น สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ผู้คน รวมถึงการไปงานศพก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องความตายผ่านพิธีกรรม และสามารถสอดแทรกคติธรรมให้ลูกได้ด้วย
✚ ใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท ✚
หยิบยกกรณีเรื่องความตายใกล้ตัวมาเป็นบทเรียนสอนลูกได้ว่า คนที่มีอายุมากกว่าไม่จำเป็นต้องตายก่อนคนที่อายุน้อยกว่าเสมอไป เด็กก็สามารถตายก่อนผู้ใหญ่ได้ ความตายมีหลายสาเหตุ เพราะโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทั้งกายและใจ ใส่ใจเรื่องสภาพแวดล้อม อาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท ไม่ควรไปในสถานที่อโคจร หรือใช้ชีวิตแบบสุ่มเสี่ยงโลดโผนจนเกินไป
✚ อาจเกิดกับคนในครอบครัว ✚
สุดท้ายควรตั้งคำถามกับลูกว่า ถ้าไม่มีพ่อแม่แล้วลูกจะอยู่อย่างไร เพื่อฝึกให้ลูกมีทักษะเรื่องความเข้มแข็ง มั่นใจในตัวเอง พร้อมเผชิญชีวิตให้อยู่รอด หรือสามารถอยู่ได้โดยไม่มีพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว
5 ประการนี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น อาจมีการพูดคุยเรื่องความตายในประเด็นอื่นที่ยกระดับทางปัญญาขึ้นไปอีก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละครอบครัว สภาพแวดล้อม วัยและประสบการณ์ของลูก อาทิ ประเด็นในเชิงศาสนาเปรียบเทียบ แต่ไม่ว่าจะประเด็นไหนก็ตาม พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องพื้นฐานของความตายก่อนเป็นปฐม