ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
เคยไหม ? เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ทำไมบางครั้งถึงรู้สึกห่างเหินกันไปทุกที เรื่องที่น่าจะเข้าใจกันง่าย ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจ พูดอะไรไปก็ดูเหมือนจะไม่ฟัง พูดคุยกันน้อยลง ไม่ใช่เด็กน้อยคนเดิมที่เคยเชื่อฟังพ่อแม่อีกแล้ว นั่นเพราะพวกเขากำลังเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่กำลังมีความคิด อยากลอง ท้าทาย และอยากมีพื้นที่ส่วนตัว
ฉะนั้นการพูดคุย แนะนำหรือสอนวัยรุ่นคงจะไม่ง่ายเหมือนกับตอนที่พวกเขาเป็นเด็กอีกแล้ว พ่อแม่ควรทำความเข้าใจวัยรุ่นเสียก่อนว่าวัยนี้ พวกเขาต้องการอะไร และต้องสื่อสารกับเขาอย่างไร
ที่สำคัญ ควรรู้ด้วยว่าทำไมวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยอยากพูดคุยปรึกษาหารือกับพ่อแม่ ทั้งที่เมื่อวัยเด็กมีอะไรก็มักจะเล่าให้พ่อแม่ฟัง ทำให้พ่อแม่หลายคนที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่นรู้สึกเสียความมั่นใจ ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกมีอะไรก็ไม่พูดคุยเหมือนเมื่อก่อน บางคนก็โกรธลูก บางคนก็ไม่รู้จะเข้าหาลูกอย่างไร บางคนก็กลุ้มใจไม่รู้จะทำอย่างไร บางคนก็เอาแต่ต่อว่าลูกว่าเปลี่ยนไป ฯลฯ
บางทีก่อนที่พ่อแม่จะสื่อสารหรือปฏิบัติอย่างไรกับลูก อาจต้องย้อนคิดกลับไปสมัยพ่อแม่เป็นวัยรุ่นบ้างว่าเราเคยเป็นแบบนี้กับพ่อแม่ของเราด้วยหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เราไม่รักพ่อแม่ ไม่ใช่เราไม่เชื่อฟัง แต่ก็มีหลายเหตุผลในขณะนั้น
อีกหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ค่อยเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ก็เพราะวิธีอบรมสั่งสอนหรือสื่อสารของพ่อแม่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกต่อตัวเราไม่น้อย และก็มีหลายเรื่องที่ทำให้เราเลือกที่จะไม่เล่าให้พ่อแม่ฟังมิใช่หรือ ! ว่าแล้วก็ลองมาสำรวจกันว่าพ่อแม่แบบไหนที่ลูกไม่อยากเข้าใกล้ และไม่อยากเล่าอะไรให้ฟัง
☹︎ ชอบเล่าให้คนอื่นฟัง ☹︎
คุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบเล่าเรื่องที่ลูกมาปรึกษาหรือมาเล่าให้ฟังแล้วไปบอกเล่าให้คนอื่นฟังต่อหรือเปล่า บางคนชอบเอาเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่ลูกพูดคุยด้วยไปเล่าต่อกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะในทางอวด ข่ม ถ่อมตน หรือขบขันก็ตาม หารู้ไม่ว่าลูกไม่ชอบและรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังละเมิดเขาอยู่ ยิ่งถ้าเป็นความลับของเขาด้วย เมื่อลูกรู้เรื่องเข้าก็จะทำให้เขาไม่ไว้วางใจ และจะไม่ยอมพูดเรื่องราวของตัวเองให้พ่อแม่ฟังอีกเลย
☹︎ จ้องสั่งสอน ☹︎
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีนิสัยชอบอบรมสั่งสอนลูกเสมอ เวลาลูกเล่าสิ่งใดให้ฟัง ก็อดไม่ได้ที่จะตักเตือน หรือต่อว่า หรือจ้องจะสอนตลอดเวลา ถ้าเป็นเช่นนี้รับประกันว่า ส่วนใหญ่ลูกจะไม่ชอบ และรู้สึกหงุดหงิดเสมอ ทำให้ไม่อยากเล่าเรื่องใด ๆ ให้พ่อแม่ฟังในครั้งต่อไป
☹︎ เหมือนจะฟังแต่ไม่ฟัง ☹︎
พ่อแม่จำพวกนี้ก็มีเช่นกัน เวลาลูกมาปรึกษาหรือพูดคุยเรื่องต่างๆ ถ้าเขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ตั้งใจฟัง หรือทำเหมือนฟังให้จบ ๆ ไป ยกตัวอย่าง ลูกเล่าเรื่องให้พ่อแม่ฟังแบบเป็นเรื่องที่เขาตื่นเต้นมาก แต่ถ้าพ่อแม่ฟังแล้วเฉย ๆ ไม่มีการตอบสนองหรือถามไถ่เรื่องที่ลูกเล่ามา จึงมักทำให้ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีก เพราะทุกครั้งที่เล่าไปพ่อแม่ก็ไม่สนใจรับฟังอย่างจริงจัง ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจอีกต่างหาก
☹︎ ช่างวิตกเกินเหตุ ☹︎
หลายครั้งที่ลูกเล่าสิ่งใดให้พ่อแม่ฟัง ถ้าลูกรู้สึกว่าพ่อแม่วิตกกังวลเกินเหตุเมื่อไหร่ เขาจะถอยออกมา และไม่อยากทำให้พ่อแม่วิตกกังวล ก็อาจจะตัดสินใจเลือกที่จะไม่เล่าให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งบางครั้งเขาก็มักจะเก็บปัญหานี้ไว้คนเดียว เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรที่จะเปิดใจกับลูก สื่อสารให้เขารู้ว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังให้เขาทำทุกอย่างได้สมบูรณ์ แต่พร้อมยอมรับกับทุกปัญหาที่ลูกต้องเผชิญ
☹︎ ไม่ไว้ใจลูก ☹︎
ลูกต้องการความไว้วางใจจากพ่อแม่ และไม่อยากถูกพ่อแม่บ่น หลายครั้งที่ลูกวัยรุ่นไม่อยากปรึกษาพ่อแม่ เพราะคิดตามประสบการณ์ในวัยเด็กว่า เวลามีปัญหาอะไร พ่อแม่ก็มักจะตำหนิ ไม่เชื่อใจ ไม่ไว้ใจตนเอง หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เคยถูกตำหนิ หรือพ่อแม่เข้าไปยุ่งมากจนเกินความพอดี หรือบางครั้งก็มักตัดสินใจแทนเขา สุดท้ายก็ทำให้เขาไม่อยากเจอสิ่งเหล่านี้
☹︎ ชอบฟูมฟาย ☹︎
บางกรณีลูกก็มองว่าพ่อแม่อ่อนไหวและชอบฟูมฟายกับเรื่องที่เขาคิดว่าไม่น่ามีอะไร กลัวพ่อแม่เสียใจ ไม่อยากเห็นพ่อแม่เครียด เขาอาจคิดว่าการพูดคุยหรือปรึกษาเป็นการเพิ่มความเครียดให้พ่อแม่ หรืออีกรูปแบบหนึ่งก็คือ มองว่าพ่อแม่มีศักยภาพน้อยเกินไป ทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ และการใช้ชีวิต หรือคิดว่าพ่อแม่ไม่มีทางเข้าใจตนเอง เพราะพ่อแม่ไม่เคยเจอแบบที่เขาเจอมาก่อน
พ่อแม่ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากให้ลูกมีอะไรก็นึกถึงพ่อแม่เป็นคนแรก ๆ อยากให้เล่าสู่กันฟัง หรือปรึกษาหารือทุกเรื่อง ซึ่งมักตรงข้ามกับลูก ฉะนั้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และพยายามปรับตัว ปรับทัศนคติของตัวเองด้วยว่า โดยวัยของลูกควรปล่อยให้เขาได้เผชิญชีวิตด้วยตัวเอง ชีวิตเป็นของเขา วันหนึ่งเมื่อเขาต้องเติบโตขึ้นไปก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง พ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกไปได้ตลอดชีวิต จึงควรรับฟัง ทำความเข้าใจ และปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิตในแบบของเขา โดยมีพ่อแม่คอยดูแลอยู่ห่าง ๆ
..."ที่สำคัญควรทำให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะยืนเคียงข้างเขาเสมอเมื่อเขาต้องการ"...