ทำไมพ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานกับลูก
ช่วงเวลาสั้น ๆ ของวัน แต่มีค่ายาวนานสำหรับลูก
เด็กเพิ่งลืมตาดูโลกได้ปีกว่า ๆ สมองเขาไม่ได้เตรียมมาเพื่อถูกห้ามนะคะ จริง ๆ แล้วเซลประสาทมากมายของเด็กถูกสร้างมาให้ “เรียนรู้” เพื่อที่จะเก่งขึ้นค่ะ
วัยนี้เด็กต้องการพัฒนาหลายอย่าง ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร คือ การฟังและการพูด ทักษะการใช้มือแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งการเล่น การช่วยเหลือตนเอง และงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องการพัฒนาร่างกายให้เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ไม่หกล้มง่าย ไม่ขี้กลัว รู้จักใช้ร่างกายอย่างอิสระตามวัย เพื่อความมั่นใจ
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรใช้เวลา “สร้างลูก” มากกว่า "ขัดลูก" ใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับเขานะคะ ให้ลูกเห็นและ “เลียนแบบ” สิ่งที่พ่อแม่ทำหรือสอน ฝึกทำทีละเล็กละน้อย ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ขอแค่โอกาสลงมือทำตาม พยายามอธิบายช้า ๆ ชัด ๆ เน้นภาษากายมาก ๆ ลูกจะได้ฝึกตีความสิ่งที่พ่อแม่พูด เกิดเป็นความเข้าใจภาษา และยังได้เลียนแบบคำพูดตามที่ได้ยิน ทีละคำ สองคำ เป็นวลี จนเป็นประโยคในที่สุด
แต่ถ้าพ่อแม่ไปผิดทาง ไม่ค่อยใช้เวลากับลูก แยกลูกออกไปเล่นของเล่นเองบ่อย ๆ และคอยขัดใจเมื่อเห็นลูกซุกซนเท่านั้น ลูกจะไม่ได้พัฒนาตามที่ควรจะเป็น มองพ่อแม่ใจร้าย จะต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง เอาแต่ใจบ่อย ๆ ค่ะ
พ่อแม่จึงควรหยุดคิดเรื่องขัดใจลูกไปก่อน ให้สมองเราหมกหม่นกับการคิด “สร้างลูก” ทำให้เป็นและพูดให้เก่งดีกว่า และเมื่อชีวิตลูกยุ่งอยู่กับการเรียนรู้ เขาจะเหลือเวลาทำสิ่งต้องห้ามน้อยลงมาก
❤︎ เก็บของเล่นเข้าที่ทุกครั้งที่เล่น ❤︎
โดยสอนตั้งแต่การเปิดกล่อง หยิบใส่ หยิบเก็บให้หมด ปิดฝา ถ้าของล้น ก็สอนให้เดินไปหากล่องอื่นเพิ่มฯ
❤︎ เอาขวดนม จานชามที่ใช้แล้วใส่ในอ่าง (เลือกจานไม่แตก) ❤︎
ถ้าถือแล้วทำหล่น ก็สอนให้เก็บขึ้นมา สอนให้เอาผ้ามาเช็ดที่เปื้อนและเอาไปเก็บ
❤︎ เอาผ้าอ้อมสำเร็จรูปไปทิ้ง ❤︎
สอนให้เปิดถังขยะเอง และหย่นใส่เอง หากทำหล่นก็สอนให้เช็ด
❤︎ สอนให้ช่วยงานง่าย ๆ ❤︎
เช่น ทิ้งขยะ เอาของให้คนอื่น จัดบ้านง่าย ๆ สอนทีละขั้นตอนอย่างช้า ๆ
❤︎ ให้อาหารปลา รดน้ำต้นไม้ ❤︎
สอนทำตั้งแต่เปิดขวดอาหารปลา ตักอาหารเอง เทให้ปลา (หกไม่เป็นไร) สอนเปิดก๊อกน้ำ สอนถือสายยาง ลากสายยางไปยังต้นไม้ทุก ๆ ต้น ถ้าน้ำแรงไปก็สอนให้เดินไปปิดก๊อกเอง
❤︎ สอนถอดรองเท้า ❤︎
ถ้าทำไม่ได้ให้จับมือลูกทำ ใจเย็น ๆ ไม่ได้วันนี้ก็ต้องได้วันอื่น เด็กเรียนรู้ทีละนิดได้
❤︎ สอนเก็บรองเท้าเข้าชั้น ❤︎
รวมเปิดตู้และปิดตู้เองด้วย อย่ากลัวอันตรายเกินไป
❤︎ สอนเล่นของเล่นในกลุ่มแก้ปัญหา ❤︎
เช่น ก้อนไม้หยอดหลุมรูปทรงต่าง ๆ จับคู่ของฯ
❤︎ สอนลูกพูดคุย ผ่านกิจกรรมที่เขียนไปข้างบน ❤︎
พ่อแม่ต้องอธิบายประกอบการสอน เช่น “เปิดก๊อกตรงนี้นะลูก” “อันนี้เรียกว่าก๊อก” และควรตั้งคำถามเพื่อชวนลูกตอบ ฝึกพูดให้เก่ง ไม่ใช่พูดอยู่คนเดียวนะคะ เช่น “ลูกเปิดอะไรอยู่จ้ะ” ถ้าลูกไม่ตอบก็สอนให้ตอบ “ก๊อก” เว้นจังหวะให้ลูกพูดตาม เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้พูดเก่ง อยู่ตรงนี้แหละ
...“อธิบายตอนสอนลูกทำและตั้งคำถามลูก เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง”...
❤︎ สอนการสื่อสารให้มากมายคำศัพท์ โดยใช้นิทานเป็นผู้ช่วยสำคัญ ❤︎
เด็กใช้ตามองภาพในนิทานเป็นหลัก ไม่สามารถตีความหมายคำในหนังสือนิทาน ถ้าพ่อแม่อ่านตามตัวหนังสือในนิทานอย่างเดียว ลูกจะไม่เข้าใจเรื่องราวในภาพนั้น หมอขอแนะนำให้พ่อแม่อธิบายภาพแต่ละหน้าให้ลูกฟังด้วย เมื่อใดก็ตามที่คำอธิบายเข้าหูลูกในจังหวะที่ตาลูกมองภาพนั้นอยู่ ลูกจะเข้าใจเรื่องราวนั้น ทำให้สนุกขึ้น จดจ่อกับนิทานดีขึ้น และยังทำให้สมอง “เชื่อมโยง” เรื่องราวในแต่ละหน้า จนสามารถเข้าใจเรื่องทั้งเล่มได้ในที่สุด
เราควรมีนิทานหลากหลายรูปแบบ เพราะการเปิดนิทานคือการเปิดโลก ลูกจะได้ทั้งความรู้, จินตนาการและรูปแบบคำต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าเด็ก ๆ มีงานเยอะ แขนขาที่ไม่คล่องแคล่ว ทำให้แต่ละงานต้องใช้เวลามาก ที่เราเห็นว่าลูกดื้อ อาจเพราะเราปล่อยให้ลูกมีอยู่งานเดียวคือเล่นของเล่นก็ได้ ซึ่งถือว่าผิดหลักธรรมชาติมาก วันนี้ชวนลูกมาทำงานต่าง ๆ นะคะ ลูกจะไม่ค่อยเหลือเวลาไปทำสิ่งที่ทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่ต้องขัดใจลูกแล้ว
..."สร้างลูกดีกว่าขัดลูก ลูกจะต่อต้านลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างกันจะดีขึ้น และยังได้พัฒนาลูกด้วยนะคะ"...