183
พ่อแม่กลัดกลุ้มเพราะ "ลูกกัดเล็บ"

พ่อแม่กลัดกลุ้มเพราะ "ลูกกัดเล็บ"

โพสต์เมื่อวันที่ : June 19, 2023

 

พฤติกรรมกัดเล็บในเด็ก มักสัมพันธ์กับความกังวล - ความเครียด - ความเบื่อ แต่บางครั้งก็เกิดจากการเลียนแบบ เช่น เลียนแบบเพื่อน และทำจนติดเป็นนิสัย

 

ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุไหน เด็กบางคนก็หยุดเองได้ แต่เด็กส่วนหนึ่งกลับกลายเป็น “นิสัย” ติดตัวไปจนโต ผลเสียของการกัดเล็บที่พ่อแม่เป็นห่วงมากที่สุดก็คือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ถ้าเป็นเด็กโต พ่อแม่จะห่วงเรื่องบุคลิกภาพด้วย และตัวเด็กเองก็เริ่มกังวลว่าเพื่อนจะล้อ

 

ดังนั้นพ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองที่จริงจัง เช่น สั่งให้หยุด ดึงมือออก บางคนก็ขู่ว่านิ้วจะกุด นิ้วด้วน หรือบางคนก็ดุ ตีมือ ตีปาก การแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ แม้จะทำให้ลูกหยุดทำทันที แต่ความรู้สึกกังวลยังคงอยู่ ยิ่งถ้าโดนดุบ่อย ๆ ก็ยิ่งกังวล ทำให้กัดเล็บบ่อยขึ้นอีก (ยิ่งดุ ยิ่งแย่)

 

 

ตามที่หมอเขียนไว้ตอนต้นว่า... พฤติกรรมกัดเล็บมักสัมพันธ์กับความเครียด การช่วยเหลือที่ถูกต้อง จึงควรค้นให้ลึกถึงความในใจลูก หาสาเหตุที่ทำให้ลูกวิตกกังวล และช่วยเหลือตรงนั้นด้วย

 

 

 

สาเหตุที่ “เด็กกังวลใจ” เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น มีน้องใหม่, ย้ายโรงเรียน, ครูใหม่ดุ, พ่อแม่ทะเลาะกันมากขึ้น, ตนเองโดนดุบ่อยขึ้น ฯลฯ ดังนั้น การช่วยเหลือเด็กกัดเล็บจึงประกอบด้วย

 

 

1. ช่วยเหลือที่สาเหตุ นั่นคือ “ความกังวลของลูก”

เด็กแต่ละบ้านมีเรื่องกังวลใจแตกต่างกัน พ่อแม่ต้องคอยสังเกต เช่น ถ้าสาเหตุมาจากการมีน้องใหม่ พ่อแม่ก็ควรแบ่งเวลาให้พี่มากขึ้น ดุพี่น้อยลง ให้พี่ช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วชื่นชม ให้รู้สึกว่าพ่อแม่ยังรักและสนใจอยู่ แต่ถ้าสาเหตุมาจากการทะเลาะกันของพ่อแม่ ก็ไม่ควรให้เด็กอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น เป็นต้น

 

แนะนำให้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกใหม่ อย่าขู่ หรือเน้นแต่ลงโทษ แม้ “ความกลัว” จะทำให้ลูกหยุดทำพฤติกรรมไม่น่ารักได้ แต่ความกังวลยังคงอยู่ในใจเด็ก ถ้าเด็กโดนขู่หลาย ๆ เรื่อง ถูกลงโทษบ่อย ๆ ความเครียดและความกังวลจะถูกสะสมไว้มากมาย และการกัดเล็บก็ช่วยระบายความกังวลเหล่านั้นได้ (แต่ไม่ใช่ทุกคนระบายความกังวลด้วยวิธีนี้) ดังนั้นอย่าขู่เด็กให้กังวลหรือกลัวจนต้องยอม เปลี่ยนมาใช้วินัยเชิงบวกแทน โดยพ่อแม่ตั้งกติการ่วมกับลูก มีเหตุผลในการพูดคุย (ไม่ใช่ให้กลัว) และหากจะลงโทษลูกก็ควรเป็นไปตามข้อตกลงที่คุยกันแล้ว

 

 

2. การช่วยในช่วงที่ลูกกำลังกัดเล็บ เน้นเชิงบวก ไม่ทำให้เครียด

พ่อแม่ควรชวนลูกให้ร่วมมือ โดยพยายามเข้าใจความรู้สึกลูก และอธิบายให้ลูกเข้าใจรายละเอียดที่เราจะช่วย ดังนี้

 

 

“แม่รู้ว่าหนูก็ไม่อยากกัดเล็บหรอก รู้ว่าชอบเผลออยู่เรื่อยเลยใช่มั๊ยจ๊ะ แม่จะช่วยให้หนูนึกออกนะ ถ้าหนูกัดเล็บ แม่จะแตะมือเบา ๆ แบบนี้ (ทำท่าแตะเบา ๆ ที่หลังมือแล้วยิ้ม) พอหนูนึกออก หนูก็เอานิ้วลงเอง ดีมั้ยคะ ?”

 

 

..."เด็กกัดเล็บทุกคนเครียดกับพฤติกรรมตนเองอยู่แล้ว พ่อแม่จึงควรเน้น “ช่วยลูก” โดยส่งสัญญาณให้ลูกสามารถ “จัดการตนเอง และภาคภูมิใจ” ตนเองค่ะ"...

 

 

การแตะหลังมือเบา ๆ เป็นการกระตุ้นให้สมองเด็กนึกออกว่าต้องเอานิ้วลง ถือเป็นการสอนให้ลูก “รู้ทัน” พฤติกรรมการกัดเล็บ และเมื่อลูกเอานิ้วออกจากปาก ก็ถือเป็นการควบคุมตนเองโดยสมองสั่งให้ทำ ลูกจะรู้สึกดีกับการรู้เท่าทันและสั่งการตนเองได้ เมื่อลูกทำได้บ่อย ๆ ก็จะมั่นใจตนเองว่าสามารถเลิกกัดเล็บได้ เราจะเห็นว่าแตกต่างจากการเอานิ้วออกจากปาก โดยพ่อแม่สั่งหรือดุ เพราะวิธีนี้พ่อแม่ควบคุมเด็ก โดยที่สมองเด็กไม่ได้สั่งการตนเองเลย

 

 

นอกจากนี้เราอาจเคยได้ยินว่า บางบ้านใช้วิธีทาบอระเพ็ด หรือพันนิ้วด้วยพลาสเตอร์ วิธีนี้ก็ใช้ได้ค่ะ แต่ควรให้เด็กรู้เหตุผลที่ทำ เช่น บอกลูกว่า “พันนิ้วไว้ ลูกจะได้รู้ตัวตอนพลาสเตอร์แตะโดนปาก ลูกจะได้ไม่เผลอกัด” หรือ “ทาบอระเพ็ดขม ๆ ลูกจะได้รู้ตัวตอนได้รสชาติขม และเอานิ้วลงเองได้” (ยังคงเป็นคอนเซปต์ “รู้เท่าทันและสั่งการตนเองได้”)

 

วิธีดังกล่าวลูกควรจะเห็นด้วยและยินดีลองทำกับพ่อแม่ หากลูกไม่เห็นด้วย พ่อแม่อย่าฝืนลูก เพราะหากฝืนทำ ก็เท่ากับเป็นการลงโทษเด็ก และหมอไม่แนะนำให้ใช้เป็นการลงโทษ เพราะหากไม่สำเร็จขึ้นมา เด็กจะต่อต้านพ่อแม่มากขึ้น ไม่ไว้ใจพ่อแม่ พ่อแม่จะช่วยให้ลูกเลิกกัดเล็บยากขึ้น

 

หรือบางบ้านที่มีลูกสาว อาจใช้วิธีทาเล็บให้สวยงามก็ได้ วิธีนี้ใช้ได้เพราะเป็นแรงเสริมทางบวก เด็กที่อยากเล็บสวยจะยับยั้งตนเองได้ค่ะ แต่พ่อแม่ต้องแน่ใจว่ายาทาเล็บนั้นปลอดภัยต่อเด็กจริง ๆ

 

 

3. ชื่นชมเมื่อลูกรู้ทันพฤติกรรมกัดเล็บและเอานิ้วออกเอง

เราสามารถชมได้ทั้งที่ทำสำเร็จ เช่น “ผ่านมาครึ่งวันแล้ว หนูไม่กัดเล็บเลย เยี่ยมยอดมาก” และชมที่ความพยายาม “หนูเก่งมากเลยนะคะ แม่เห็นหนูพยายามเอานิ้วออกจากปากหลายครั้งแนะ น่ารักมากลูก” คำชื่นชมของพ่อแม่จะทำให้ลูกภาคภูมิใจ และมั่นใจว่าจะควบคุมตนเองได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  

 

 

4. ใช้ระบบสติกเกอร์เข้าช่วย

'ระบบสะสมดาว' ผู้เชี่ยวชาญใช้เป็นตัวช่วยในการปรับพฤติกรรมที่แก้ไขยากของลูก ร่วมกับลูกมีอารมณ์ต่อต้านพ่อแม่มาก บางบ้านลูกไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมแปรงฟัน ถูกตีบ่อย จนกลายเป็นเด็กดื้อไม้เรียว ฯ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบ้านเราได้เลยนะคะ

 

 

5. กระตุ้นให้เด็กได้วิ่งเล่นบ่อย ๆ

อย่านั่งดูการ์ตูนมากไป เพราะการอยู่นิ่ง ๆ หรือแม้แต่ความเบื่อก็สามารถกระตุ้นให้เด็กเผลอกัดเล็บได้

 

 

โดยสรุป การแก้ไขปัญหากัดเล็บของลูก ต้องใช้วิธีเชิงบวก และต้องแก้ไขที่ความกังวลของลูกด้วยค่ะ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง