302
รู้เปล่า ? เล่นกับลูกมีแต่ได้

รู้เปล่า ? เล่นกับลูกมีแต่ได้

โพสต์เมื่อวันที่ : August 23, 2023

 

เมื่อพูดถึงการเล่น พ่อแม่ส่วนใหญ่นึกถึงความสนุกและลูกได้พัฒนาการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องจริงว่าการเล่นช่วยพัฒนาลูกได้

 

เช่น เมื่อเด็กวิ่งเล่นปีนป่ายขึ้นต้นไม้ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ฝึกเคลื่อนไหวให้คล่องแคล่วและแข็งแรง ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กนั้น เด็กก็ต้องใช้มือจับเชือกหรือกิ่งไม้ให้กระชับก่อนดึงตัวเองขึ้น ต้องคอยขยับข้อต่อ ใช้แรงกล้ามเนื้อทั้งส่วนแขน มือและนิ้ว หากลูกชักชวนเพื่อน ๆให้ปีนสูงขึ้น เด็กก็ได้ฝึกพัฒนาการด้านภาษาและสังคม นอกจากประโยชน์ด้านพัฒนาการแล้ว ยังมีอีกหนึ่งประโยชน์ที่พ่อแม่อาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือ การเล่นช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ได้  

 

ในชีวิตประจำวันพ่อแม่ต้องสั่งสอนลูกในเรื่องมากมาย และเด็กส่วนใหญ่ก็ต่อต้านมากกว่าเชื่อฟัง ซึ่งพฤติกรรมต่อต้านหลายครั้งก็เกิดจากความโกรธที่พ่อแม่บ่นเยอะ สอนเยอะ หรือใช้อารมณ์นั่นแหละค่ะ สัมพันธภาพระหว่างกันจึงแย่ลง ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วย

 

การเล่นหรือทำกิจกรรมกับลูก จะทำให้ลูกมีภาพจำดี ๆ ของพ่อแม่ หมอขอให้พ่อแม่เล่นหรือทำกิจกรรมกับลูกบ่อย ๆ จะมีเวลาน้อยหรือมีเวลามากก็ได้ แต่ขอให้บ่อยหรือทุกวันได้ก็ยิ่งดี เพราะลูกจะมีภาพความสุขกับพ่อแม่ต่อเนื่อง เปรียบเสมือน ลูกจับต้องความรักของพ่อแม่ได้ทุกวัน มีน้ำหนักมากกว่าการบอกรักลูกอย่างเดียวค่ะ เมื่อภาพดี ๆ มีมากกว่าภาพลบ สัมพันธภาพก็ดีขึ้น ลูกจะต่อต้านลดลง 

 

 

เวลาคุณภาพ คืออะไร ?

ช่วงเวลาที่พ่อแม่เล่นหรือทำกิจกรรมกับลูก และมีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน พ่อแม่ควรปล่อยความเป็นเด็กในตัวเองออกมา ให้เก็บมือถือไว้ที่ไกล ๆ แล้วอยู่กับลูกทั้งร่างกายและหัวใจ เมื่อเราไม่คิดเรื่องอื่น สมองก็จะโฟกัสลูก ทำให้การเล่นหรือกิจกรรมนั้นสนุก มีรสชาติ และลูกก็รับรู้ได้ถึงความใส่ใจ ซึ่งมันมีความหมายต่อเขามาก

 

 

พ่อแม่หลายคนบอกว่า “เล่นกับลูกไม่เป็น” จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเล่นในสิ่งที่ลูกชอบ ลองนึกถึงความถนัดของตนเอง แล้วเริ่มจากตรงนั้นดูค่ะ เช่น หากคุณแม่ไม่ถนัดวิ่งเล่นปีนป่าย แต่ชอบพูดคุยก็ลองเล่นบทบาทสมมติกับลูก หรือคุณพ่อไม่ถนัดเล่นสมมติ ก็ลองชวนลูกเล่นปีนป่ายหรือต่อตัวต่อ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่พ่อแม่อาจจะทำได้ เช่น วาดรูป ปั้นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ กิจกรรมอะไรก็ได้ ที่ดึงความเป็นเด็กในตัวเราออกมา สบาย ๆ ไม่ต้องรีบ

 

หากเป็นเด็กโตที่ไม่ชอบเล่นแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ชวนลูกทำอาหาร ชวนลูกประดิษฐ์ ชวนจัดห้อง ชวนเล่นบอร์ดเกมส์ ที่สำคัญเราต้องเน้นที่ความสุขร่วมกัน พ่อแม่ต้องไม่บ่น ไม่สนใจผิดถูกมากเกินไปนะคะ 

 

 

“เวลาคุณภาพ” จะทำให้เราและลูกมีความรู้สึกร่วมกัน ไม่ว่าจะสนุก ตื่นเต้น มันส์ เราก็รู้สึกพร้อม ๆ กันหรือแบบเดียวกัน มันช่วยสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวหรือทีมเดียวกัน ลูกรู้สึกได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ (ตอนลูกโดนสั่งสอน ลูกรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ) แม้แต่ตอนเคร่งเครียดที่ต้องแก้ปัญหา เช่น ใส่ของกลับเข้าไปไม่ได้ หรือเล่นตัวต่อแล้วติดขัด พ่อแม่ต้องช่วยเหลือ ซึ่งความเป็นทีมเวิร์ค จะทำให้ลูกอดทน ไม่โวยวาย รอพ่อแม่ช่วยแก้ไขได้ และบ่อยครั้งยังเชื่อฟังพ่อแม่ง่าย 

 

ใน “การแก้ปัญหาร่วมกับลูก” พ่อแม่ควรทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม นั่นคือ ให้ลูกค่อย ๆ แก้ไขเองก่อน ถ้าลูกทำไม่ได้จึงค่อยช่วย เช่น พ่อช่วยคิดว่าจะวางตัวต่อตรงไหน ไม่ให้ล้ม โดยให้ลูกลองเองก่อน ส่วนพ่อช่วยตามหลัง หรือถ้าเป็นบทบาทสมมติ คุณแม่กระตุ้นจินตนาการลูกให้ต่อยอด เช่น จะทำเมนูอื่น ๆ อะไรได้อีกบ้าง นอกจากเมนูเดิม ๆ

 

เมื่อลูกได้รับความรู้เพิ่มหรือมีจินตนาการมากขึ้น การเล่นจะสนุก ลูกจะประทับใจ มองเห็นพ่อแม่เป็นฮีโร่ เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ที่ไม่ได้สร้างแค่ความสุขแต่ยังสร้างความรู้สึกมั่นคงในจิตใจลูกด้วยค่ะ ขอให้พ่อแม่มีเวลาคุณภาพกับลูกนะคะ แล้วคำว่า “รัก” ที่บอกลูกทุกวันจะมีน้ำหนักมากขึ้น ช่วยให้การเลี้ยงลูกเชิงบวกประสบความสำเร็จค่ะ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง