ในวันที่...เราทะเลาะกับลูกมากขึ้น
หรือเรากำลัง ‘จับผิด’ ลูกมากกว่าที่จะมองหาพฤติกรรมที่ดีของเขา ?
ใช่หรือไม่...หลายพฤติกรรมที่พ่อแม่อาจรู้สึกขัดใจลูก บางครั้งบอกให้ลูกทำสิ่งใด แต่ลูกมักบ่ายเบี่ยงหรือไม่ยอมทำตาม พ่อแม่ก็จะรู้สึกหงุดหงิด โมโห และสุดท้ายมักจบลงด้วยการทะเลาะกัน !
พ่อแม่ท่านใดที่ประสบปัญหาเหล่านี้บ่อยๆ อาจต้องลองปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ ก่อนอื่นต้องลองหาสาเหตุก่อน ว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่
◆ ชอบขัดจังหวะลูก ◆
เวลาจะให้ลูกทำสิ่งใด พ่อแม่ได้สังเกตหรือเปล่าว่าลูกกำลังจดจ่อกับสิ่งใดอยู่หรือไม่ เช่น กำลังดูหนัง อ่านหนังสือ เล่นเกม หรือทำสิ่งใดที่ติดพันอยู่ ลองคิดถึงตัวเราเวลาทำสิ่งใดติดพันอยู่ แล้วมีใครมาบอกให้เราไปทำสิ่งอื่น เราก็ยังไม่อยากทำ พยายามบ่ายเบี่ยง หรือถ้าทำ ก็เป็นการทำแบบไม่ค่อยพอใจนัก เด็กก็เหมือนกัน เขาก็จะรู้สึกหงุดหงิดและไม่อยากทำแน่นอน
◆ มองเรื่องของลูกว่าไม่สำคัญ ◆
ปัญหานี้มักเกิดจากพ่อแม่มักมองว่าเรื่องที่ลูกกำลังทำเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เป็นเรื่องไร้สาระ ขณะที่เรื่องที่พ่อแม่บอกให้ทำเป็นเรื่องสำคัญ เด็กก็จะรู้สึกหงุดหงิด เพราะแม้เขาจะกำลังเล่นเกมอยู่ เขาก็ไม่อยากให้พ่อแม่มองว่าไม่สำคัญ เพราะเขากำลังเพลิดเพลิน การที่ไปบอกให้เขาทำสิ่งใดในขณะที่เขายังไม่อยากทำ และบอกว่าเขากำลังทำเรื่องไร้สาระ เขาจะยิ่งต่อต้าน และจะปฏิเสธที่จะทำทันที
◆ อารมณ์ไม่พร้อม ◆
เรื่องภาวะอารมณ์เป็นอีกประการที่สำคัญ ทุกคนมีช่วงภาวะอารมณ์ที่ไม่พร้อมกันได้ทั้งนั้น และตอนที่อารมณ์ไม่พร้อม เช่น หงุดหงิด อารมณ์เสีย กำลังทะเลาะกับใครอยู่ เครียด เพิ่งตื่นนอน ฯลฯ ทุกคนเคยเป็นทั้งนั้น เด็กก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ในช่วงอารมณ์ไม่พร้อมก็ไม่อยากทำอะไร ถ้าพ่อแม่เรียกให้ทำให้ช่วงอารมณ์แบบนี้ก็อาจไม่ได้ผล เหมือนเวลาที่ผู้ใหญ่เองต้องการสิ่งใดจากใคร ก็มักจะบอกว่าต้องดูอารมณ์ของอีกฝ่ายด้วยมิใช่หรือ เด็กก็ต้องการเช่นกัน
แล้วสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ?
✚ 1. สังเกตพฤติกรรมลูก ✚
สังเกตพฤติกรรมของลูกขณะนั้นด้วย ถ้าเห็นว่าลูกกำลังทำสิ่งใดอยู่ อย่าคิดว่าลูกกำลังทำเรื่องไร้สาระหรือไม่สำคัญ แล้วให้หยุดสิ่งนั้นเพื่อไปทำสิ่งที่พ่อแม่บอกทันที แต่อาจบอกให้ลูกรู้ตัวว่าเมื่อลูกดูหนังเสร็จ หรือทำภารกิจที่ติดพันเสร็จ หรือให้เวลาอีก 15 นาที ลูกต้องไปทำอีกสิ่งหนึ่ง แรกๆ อาจจะอิดออดบ้าง แต่เมื่อพ่อแม่ส่งสัญญานแบบนี้บ่อยๆ เขาก็จะเข้าใจ และพยายามปรับตัว
✚ 2. อย่ารีบตำหนิติเตียน ✚
จริงๆ อาจไม่ใช่เพราะลูกดื้อ หรืออยากขัดคำสั่งของพ่อแม่ แต่เป็นเพราะเขายังไม่เห็นถึงเหตุผลหรือความสำคัญว่า ทำไมเขาจะต้องทำสิ่ง ๆ นั้นทันที พ่อแม่ควรจะให้เหตุผลในสิ่งที่ร้องขอให้ลูกทำด้วยว่าทำเพราะอะไร เพื่ออะไร และทำไมต้องรีบทำ
✚ 3. สร้างกฏกติกาในบ้านร่วมกัน ✚
ในยามสถานการณ์ปกติ พ่อแม่อาจสร้างกฏกติกาในบ้านโดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เช่น ทุกคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรในบ้าน และในบางสถานการณ์ที่อาจมีเรื่องที่พ่อแม่ต้องร้องขอให้ลูกช่วยเหลือ ลูกควรทำอย่างไร การสร้างกฎกติการ่วมกันนี้ เท่ากับเป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกอย่างสร้างสรรค์ เพราะการสร้างวินัยหรือการขอให้ลูกทำสิ่งใดๆนั้น ไม่ใช่แค่การใช้วิธีขู่ ดุ ตำหนิ หรือลงโทษ แต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก
✚ 4. เป็นแบบอย่างที่ดี ✚
บางครั้งพ่อแม่อาจลืมคิดไปว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ลูกทำนั้น เกิดจากการเลียนแบบที่ลูกเห็นจากพ่อแม่นั่นแหละ เช่น พ่อแม่ชอบเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง ชอบบ่ายเบี่ยงบางเรื่องที่ควรทำทันที ฯลฯ ลูกอาจไม่เข้าใจว่าทำไมทีผู้ใหญ่ทำได้ แต่เด็กทำไม่ได้ วิธีง่าย ๆ คือ การทำตัวเป็นแบบอย่าง และสร้างแรงจูงใจให้กับลูก เพราะพ่อแม่คือแรงบันดาลใจสำคัญของลูก
✚ 5. ชื่นชมซะบ้าง ✚
คำพูดที่ดีของพ่อแม่ การพูดชื่มชมเมื่อเด็กทำได้ดี หรือทำตามข้อตกลง เป็นการเสริมแรงบวก และช่วยสร้างแรงจูงใจได้ แม้ลูกจะโตเป็นวัยรุ่นแล้วก็ตาม คำพูดที่ดีของพ่อแม่ยังสำคัญเสมอ แม้ลูกจะไม่แสดงออกแต่เขาจะรู้สึกดีที่พ่อแม่พูดดีหรือชื่นชมเขา
ปัญหาเรื่องที่พ่อแม่ขอให้ลูกทำสิ่งใดแล้วลูกมักบ่ายเบี่ยง หงุดหงิด ชักสีหน้าไม่พอใจ ไม่อยากทำมักเกิดขึ้นเสมอภายในบ้าน แต่ถ้าไม่อยากให้ปัญหาบานปลายกลายเป็นทะเลาะกันอีกแล้ว ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่สามารถปรับแก้ได้ เพียงแต่พ่อแม่อาจต้องมีเทคนิคและพยายามหาช่วงเวลาสื่อสารและปรับตัวร่วมกันค่ะ