1255
ในวันที่ลูกถูกเพื่อนแกล้ง พ่อแม่ ควรรับมืออย่างไรดี

ในวันที่ลูกถูกเพื่อนแกล้ง พ่อแม่ ควรรับมืออย่างไรดี

โพสต์เมื่อวันที่ : September 14, 2022

 

..."ลูกถูกเพื่อนตี ลูกถูกแย่งของ ลูกถูกเพื่อนล้อเลียน"...

 

ในช่วงวัยเด็กเล็ก การกลั่นแกล้งระหว่างเด็กเล็กด้วยกันมักจะพบในรูปแบบของ การทำร้ายร่างกาย เช่น ตี ผลัก กัด ดึง และอื่น ๆ การแย่งของหรือแซงคิว ในช่วงวัยถัดมา

 

เมื่อเด็กเริ่มใช้ภาษาสื่อสารได้ดีขึ้นรูปแบบของการกลั่นแกล้งที่พบมากขึ้นจะแปรเปลี่ยนเป็น การล้อเลียน การไม่ยอมให้เข้ากลุ่มด้วย และการไม่ยอมพูดด้วย บทความนี้จะกล่าวถึงการรับมือเมื่อลูกถูกแกล้ง ในเด็กวัย “อนุบาล - ประถม” เป็นหลัก

 

 

▶︎ เหตุการณ์ที่ 1 ถ้าลูกถูกตี กัด หรือ ทำร้าย

 

  • 1. เข้าไปสังเกตก่อนว่า "เด็ก ๆ แก้ปัญหากันเองได้หรือไม่ ? " บางครั้งแค่เพียงพวกเขาทะเลาะกัน อาจจะมีเผลอลงไม้ลงมือกันบ้าง แต่ไม่อันตรายจน เกินไป เราควรให้โอกาสเขาได้ไกล่เกลี่ยกันเอง แต่ถ้าเราดูลาดเลาแล้วว่า เด็ก ๆ ไม่มีการสื่อสารกันเลย และอีกฝ่ายเริ่มถอยหนีหรือไม่ สามารถรับมือได้แล้ว เราควรเข้าไปหยุดทันที

 

  • 2. เข้าไปหยุด และแยกลูกของเราออกมาก่อน (ถ้าเป็นพี่น้องทะเลาะกัน แยกคนที่ไม่ พร้อมออกมาก่อน)

 

  • 3. พาไปนั่งลงมุมสงบปราศจากคนอื่น ๆ เพื่อให้เด็กสามารถสงบอารมณ์ พร้อมคุยกับ เราว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่สามารถนั่งลงข้าง ๆ รอลูกสงบ

 

  • 4. คุยกับลูกโดยคำถามปลายเปิด งดตำหนิและบ่นว่า เพื่อให้ลูกสามารถเล่าเรื่องราว ออกมาได้ “เกิดอะไรขึ้น” “ลูกรู้สึกอย่างไร” “ลูกจะทำอย่างไรดี" “อยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรบ้าง” ถ้าลูกไม่ตอบคำถามให้พ่อแม่พูดคุยกับเขาว่า "พ่อแม่พร้อมที่จะช่วยเหลือเขาเสมอ ถ้ามีอะไรอยากเล่าบอกได้ตลอด ไม่ใช่ตอนนี้ก็ได้แต่พร้อมเมื่อไหร่พ่อแม่พร้อมฟังลูกนะ" ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก จะทำให้ลูกไว้ใจเรามากพอที่จะเปิดใจ และเล่าถึงปัญหาของเขา

 

  • 5. เมื่อเด็กสองฝั่งสงบแล้ว ให้มาเจอกันเพื่อพูดคุย ขอโทษ และแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าลูกเป็นฝ่ายถูกทำร้าย ให้เราบอกเด็กอีกคนว่า “เราควรขอโทษเพื่อนนะ” หากผู้ใหญ่อีกฝ่ายไม่พอใจและไม่ยอมให้เด็กมาขอโทษลูกเรา อย่างน้อยเรากล้าไปคุยกับพ่อแม่ แต่ถ้าลูกเป็นฝ่ายไปทำร้ายเขา ลูกก็ควรขอโทษเพื่อนเช่นกัน

 

  • 6. จบด้วยการสอน เขาว่า “ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นครั้งหน้า ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ได้” หรือ “ถ้าเพื่อนไม่ยอมหยุด ให้ลูกเดินหนีออกมาจากตรงนั้น และให้มาหาผู้ใหญ่”

 

 

▶︎ เหตุการณ์ที่ 2 ถ้าลูกถูกเพื่อนแย่งของ

 

  • 1. เข้าไปสังเกตก่อนว่า “ลูกสามารถขอของคืนกลับมาได้ด้วยตัวเองหรือไม่ ?” ถ้าเขาสามารถพูดคุยได้ด้วยตัวเอง ให้เราปล่อยเขาจัดการด้วยตัวเขาเอง ถ้าเขาไม่สามารถขอของคืนมาได้ และเริ่มมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ลูกขอให้เราช่วย ให้เราเข้าไปได้

 

  • 2. พูดกับอีกฝ่ายชัดเจน ว่า “นั่นเป็นของ ๆ ถ้าต้องเล่นหรือใช้ของชิ้นนั้น ให้ขอก่อนนะ” ในกรณีนี้อาจจะต้องพูดคุยกับพ่อแม่ของอีกฝ่ายด้วยว่า ของเป็นของลูกและเขายังไม่ พร้อมจะให้เพื่อนนำไปใช้หรือเล่นกับของชิ้นนั้น

 

  • 3. คุยกับลูก ว่า “เขามีสิทธิ์ขอของชิ้นนั้นคืน เพราะของชิ้นนั้นเป็นของเขา และเขามีสิทธิ์ ที่จะแบ่งปันหรือไม่แบ่งก็ได้เช่นกัน”

 

 

▶︎ เหตุการณ์ที่ 3 ถ้าลูกถูกเพื่อนล้อเลียน

 

  • 1. พูดคุยกับลูกว่า “เขารู้สึกอย่างไร” และ “ลูกคิดว่าเพราะอะไรเพื่อนถึงทำเช่นนั้น”

 

  • 2. สอนลูก ว่า “เขาสามารถบอกเพื่อนได้ว่าเขาไม่ชอบ และอยากให้หยุดพูดแบบนั้น”

 

  • 3. เมื่อลูกบอกชัดเจนกับอีกฝ่ายว่าเขาไม่ชอบแล้ว เพื่อนยังล้อเลียนเขาต่อ ให้สอนลูก ว่า “ให้เขาเดินออกมาจากตรงนั้น และขอให้ผู้ใหญ่ (คุณครูหรือพ่อแม่) มาจัดการเรื่องนี้ต่อ” เพราะถ้าลูกเดือดร้อนกับคำพูดของเพื่อนและตอบสนองต่อ อีกฝ่ายจะมีแนวโน้มล้อ เลียนเขาต่อไป

 

  • 4. ให้การสอนลูกเสมอถึงคุณค่าภายในตัวเขา และสิ่งที่เขาสามารถทำได้

 

  • 5. พ่อแม่เคียงข้างลูก ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเขาในสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาต่อไป ถ้าด้านนั้นพ่อแม่ทำไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ แพทย์ พัฒนาการ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และอื่น ๆ

 

 

สุดท้ายเด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย และมีความมั่นใจในตนเองจะสามารถ รับมือกับปัญหาได้ดี ดังนั้น พ่อแม่ควรให้การสอนลูกช่วยเหลือตัวเอง และให้การสอนด้วยเหตุผลมากกว่า การสั่งหรือการตามใจและทำให้ทุกอย่าง เพราะเด็กที่ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองจะสามารถ พัฒนาการสื่อสารและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในสังคมต่อไป

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง