174
ปัญหาลูกไม่กินข้าว แนวทางสงบสงครามบนโต๊ะอาหาร

ปัญหาลูกไม่กินข้าว แนวทางสงบสงครามบนโต๊ะอาหาร

โพสต์เมื่อวันที่ : October 10, 2022

 

“ไม่กินข้าว” “ไม่กินเอง” “กินน้อย” ปัญหาเด็กไม่กินข้าวมักเป็นปัญหาที่หลาย ๆ บ้านเจอตรงกัน ซึ่งบางครั้งปัญหาไม่ได้มา จากตัวลูกเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

 

ในความเป็นจริงแล้ว มื้ออาหารของเรากับลูกควรเริ่มต้นจาก งดจอ > กินเอง > กินด้วยกัน > ครบ 30 นาทีเก็บ > กินหมด กินของว่างได้, กินไม่หมด ไม่กิน ให้รอมื้อต่อไป ไม่ตำหนิ ไม่บ่น ไม่ลงโทษ ไม่ใช้อารมณ์

 

 

แนวทางในการรับมือกับลูกเรื่อง "การกิน"

▶︎ ก่อนมื้ออาหาร

“ลูกกินของว่าง ขนม นม และอื่น ๆ มาก่อนหรือเปล่า ?”

ถ้าคำตอบคือ 'ใช่' เราควรงดของว่างเหล่านั้นเมื่อใกล้เวลามื้ออาหาร หรือเน้นมื้อหลักเป็นสำคัญ

 

“ลูกได้ออกแรงเคลื่อนไหวร่าง ออกกำลังกาย เล่นระหว่างวันอย่างเพียงพอหรือเปล่า ?”

ถ้าคำตอบคือ 'ไม่' เราควรเพิ่มเวลาเคลื่อนไหวร่างกายให้กับลูกเพื่อให้เขาได้ระบายแรง ออกอย่างเหมาะสม ความหิวจะตามมา เด็ก ๆ ควรได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเราสามารถแบ่งเวลา เป็นเช้า กลางวัน เย็น ให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกายครั้งละ 30 นาที - 1 ชั่วโมงได้

 

 

▶︎ ระหว่างมื้ออาหาร

“เรากดดันลูกให้กินสิ่งต่าง ๆ และพุ่งเป้าไปที่การกินของลูกเป็นสำคัญหรือไม่ ?”

ถ้าคำตอบคือ 'ใช่' ให้เราลองปรับที่ตัวเราก่อน อาหารที่เราจัดเตรียมให้ลูก หากเรามั่นใจว่ามีสารอาหารครบถ้วนแล้ว เราควรปล่อยให้ เขาได้กินเองจากสิ่งที่เราเตรียมไว้ให้ การจัดสภาพแวดล้อมให้อบอุ่น ไม่กดดัน ขอแค่มีเวลากำหนดชัดเจน (30 นาที) กินบน โต๊ะร่วมกัน ลูกนั่งเก้าอี้เด็กของลูก เรานั่งเก้าอี้ของเรา มีอาหารวาง กินด้วยกัน ปิดหน้า จอ บนโต๊ะมีเพียงอาหาร ไม่มีสิ่งอื่น และหันหน้าเข้าหากัน ลูกเราอาจจะค่อย ๆ กินได้เอง

 

 

“อาหารของเรากับลูกคล้ายกันไหม ?”

ลูกมักอยากจะกินอาหารแบบเดียวกับเรา ถ้าเราสามารถจัดเตรียมอาหารแบบเดียวกัน ได้ให้ลูก ปรับเปลี่ยนเพียงรสชาติ (ไม่เผ็ด ไม่รสจัด) ให้เขาก็เพียงพอแล้ว ลูกมักจะรู้สึกว่า "ของกินในมือพ่อแม่ อร่อยกว่าของกินในมือตัวเองเสมอ (แม้มันจะเหมือนกัน)"

 

สาเหตุที่เด็กวัย 0-3 ปี อยากกินของกินที่ผู้ใหญ่กินอยู่ เนื่องจากพัฒนาการของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้จากการเลียนแบบคนใกล้ตัวเขา พ่อแม่ทำอะไร เด็กก็จะทำสิ่งนั้น และอยากรู้อยากเห็น อยากสำรวจ อยากทดลอง (ทั้งทางร่างกายและจิตใจของตัวเขา และผู้เลี้ยงดู) พ่อแม่ทำอะไร กินอะไร เด็กจะอยากรู้ทุกอย่าง แม้ในเวลาที่เราแอบกินอะไร หรือเข้าห้องน้ำอยู่ ดังนั้นถ้าพ่อแม่บอกให้เขากินอะไร แม้ของกินนั้นจะเหมาะสำหรับเด็กอย่างเขาทั้งขนาด และรสชาติ แต่เด็กอยากจะลองกินในสิ่งที่พ่อแม่กินอยู่ดี

 

 

▶︎ หลังมื้ออาหาร

“เราจบมื้ออาหารด้วยการตำหนิหรือไม่”

ถ้าคำตอบคือใช่ ให้เรางดการตำหนิ แม้ลูกจะกินไม่หมด กินได้น้อย สิ่งที่เราทำคือ เมื่อหมดเวลา 30 นาที ให้เราเก็บจานอาหารของลูก และงดขนม นม ของว่างระหว่างมือ ให้ลูกเรียนรู้ว่ามื้อหลักเป็นมื้อที่สำคัญ หากเขาเลือกไม่กินก็ต้องรอมื้อต่อไป พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องตำหนิ โมโห หรือลงโทษเขาเพิ่มแต่อย่างใด เราตกลงกับลูกให้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วทำตามที่พูดเท่านั้นเอง

 

“ลูกร้องไห้ เพราะหิวระหว่างมื้อ” ให้พ่อแม่รับมืออย่างสงบและบอกลูกว่า “เมื่อถึงมื้อต่อไป ให้ลูกกินให้เยอะขึ้น เราจะได้ ไม่หิวแบบนี้” “ถ้าลูกกินข้าวหมด เขาสามารถเลือกกินขนมหรือของว่างได้”

 

 

สร้างทัศคติที่ดีเกี่ยวกับอาหารให้กับลูก

หากลูกไม่รู้จักอาหารบางชนิด เราสามารถเล่นเกมปิดตาชิมอาหารต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งชวนลูกทำอาหารด้วยกัน เมื่อลูกได้ออกไปเลือกซื้อวัตถุดิบ เขาจะได้เห็นรูปร่างหน้าตาของสิ่งต่าง ๆ เมื่อลูกได้ล้าง หั่น จับ ลงมือทำอาหาร เขาจะได้เรียนรู้ว่าก่อนจะเป็นอาหารที่เขากิน เกิดอะไรขึ้นกับอาหารบ้าง

 

สุดท้ายเมื่อเขารู้ว่าอาหารนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เขาจะรู้จักมันมากขึ้น ความกลัวและกังวล จะลดลง เด็กหลายคนจะอยากชิมอาหารที่ตัวเองทำมากกว่าอาหารที่เราทำให้ แม้มันจะเหมือนอาหารที่เราทำให้เขาเลยก็ตาม

 

 

ในทางตรงกันข้าม หากเราใช้การบังคับขู่เข็ญ ตำหนิ ลงโทษ ใช้อารมณ์เมื่อลูกกินน้อย กินไม่หมด ลูก(และเรา)จะเกิดความเครียด มื้ออาหารจะกลายเป็นสิ่งที่ลูกเข็ดขยาด แนวโน้มจากที่กินน้อยอยู่แล้วอาจจะกินน้อยกว่าเดิม

 

แม้เราจะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและแนวทางในการรับมือกับลูกแล้ว แต่ลูกก็ยัง กินยากอยู่ เด็กบางคนอาจจะเกิดมาพร้อมกับความไวต่อการรับสัมผัส (Highly sensitivity) หรือ มี ความผิดปกติบางประการที่จะนำไปสู่การกินยาก เช่น โรคกลัวอาหาร โรคออทิสติก โรคกลัวอ้วน ในกรณีนี้แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ แพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์ เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมต่อไป

 

สุดท้ายแม้เวลาอาหารจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่หากพ่อแม่และผู้ใหญ่ทำให้ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นและมีความหมาย เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเป็น ผู้ใหญ่ พวกเขาจะจดจำช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้ติดตัวเขา และส่งต่อไปให้กับเด็ก ๆ หรือลูก ๆ ของพวกเขาในอนาคต

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง