“มนุษย์ลูก” ผู้ที่ต้องการเลือกสถานที่เที่ยวเอง
ทริปท่องเที่ยวที่เตรียมกันมาช่วงเวลาหนึ่งเดือนถึงกับล่ม
เมื่อเราพูดถึง ‘การพาลูกเที่ยว’ เรามักจะกล่าวถึงประโยชน์สำหรับ ‘เด็กโต’ เป็นหลัก เนื่องจากเด็กโตจะเริ่มเข้าใจและเข้าถึงกับการเดินทาง รวมถึงประสบการณ์ที่เขาได้เจอตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทาง ระหว่างทางและการเดินทางกลับ แต่การเดินทางสำหรับ ‘เด็กเล็ก’ ในความคิดของคุณพ่อคุณแม่นั้นอาจเป็นเหมือนเพียง ‘การย้ายที่เลี้ยงลูก’ ไปยังที่ใหม่เท่านั้นเอง ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่งและก็ไม่จริงอีกส่วนหนึ่ง เพราะการเดินทางออกจากบ้านนั้นได้ประโยชน์เสมอสำหรับทุกคน (หากเราใช้ให้เป็นประโยชน์)
การเดินทางสอนให้ทุกคนในครอบครัว ‘ปรับตัว’ ได้เก่งขึ้น เนื่องจากต้องเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ รับประทานอาหารที่ร้านใหม่ ๆ (ที่ไม่ใช่การทำอาหารกินเองที่บ้านอีกต่อไป) รวมถึงที่พักใหม่ ๆ ซึ่งเด็กจะต้องปรับตัวเข้ากับบริบทของการเดินทาง และได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองยามที่เกิดอารมณ์ ‘หงุดหงิด’ และ ‘ไม่ได้ดั่งใจ’ ขณะที่เดินทาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยบริบทเรื่องของ ‘เวลา’ ที่จะไม่ได้สม่ำเสมอคาดเดาได้เหมือนตอนอยู่ที่บ้าน เช่น ไปถึงร้านอาหารแล้วต้องรอโต๊ะอาหาร ขับรถคร่อมเวลาอาหารหรือมืดแล้วยังไม่ถึงที่พัก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะสอนให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวยืดหยุ่น เข้าใจและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้น
"การเดินทาง" คือ การก้าวเดินออกจาก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ เพื่อออกไปเจอประสบการณ์ใหม่
ทั้งการผู้คนใหม่ สถานที่ใหม่ให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง ทะเล-ทราย-สายลมแสงแดด ภูเขา - น้ำตก - เสียงสายน้ำ - เสียงนก ท้องฟ้ายามกลางวันและกลางคืนที่ต่างจากเดิม สถานที่ที่แปลกตา พิพิธภัณฑ์ที่มีเรื่องราวให้เรียนรู้ อวกาศ - งานศิลปะ - พืชพันธุ์ - สิงสาราสัตว์ ความเงียบสงบ - ความจ๊อกแจ๊กจอแจ ผู้คนที่พูดคุยกันด้วยภาษาไทยที่แปลกหูหรือภาษาอื่นที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต อาหารรสชาติต่างไปจากเดิม ขนมที่พ่อแม่ไม่ค่อยให้กินตอนอยู่ที่บ้าน การใช้ชีวิตชิล ๆ ไม่ต้องทำอะไรมากมายไม่มีตารางเวลาให้เดินตามหรือชีวิตที่ต้องตื่นตามหลัก 6 - 7 - 8 ของบริษัททัวร์ (ในกรณีไปเที่ยวกับทัวร์) ทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางจะสอนอะไรบ้างอย่างให้กับเราและลูกเสมอ
"การเดินทาง คือ การสร้างความทรงจำที่ดี"
นั่นคือบททดสอบการเลี้ยงลูกขั้นสูงที่สดุอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะการเดินทางกับเด็กเล็ก เพราะเมื่อเราพูดถึง "การไปเที่ยวกับลูก" แค่พูด ขนหัวก็ลุกซู่ ๆ ใจสั่น เหงื่อเริ่มไหลซึมจากไหลาผมลงรักแร้แล้ว หลายคนคงคิดถึง การแบกบ้านไปด้วย กระเป๋าประมาณร้อยกว่าใบ ข้าวของเครื่องใช้อีกเพียบ การซักผ้าแบบไร้จุดมุ่งหมายตอนกลับมาถึงบ้าน รวมถึงความปวดเมื่อยทั่วร่างกับความอ่อนล้าจากการเดินทาง
จริง ๆ แล้วการไปเที่ยวกับลูกจริง ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องไปไกล ไม่จำเป็นต้องไปค้างคืนแต่อย่างใด ไม่ต้องยกบ้านหรืออุปกรณ์ไปมากมาย หากแต่เป็นการใช้เวลาอยู่กับลูกในสถานที่ที่ต่างไปจากที่ที่คุ้นเคยอย่าง 'บ้าน' และไม่ใช่ไปแค่โลตัสใกล้บ้านเพื่อซื้อของนะครับ มันต้องไปในที่ที่ต่างไปจากเดิม เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยนไป ความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องใช้มีจำกัด เหล่านี้ต่างสอนให้เรารู้จักพลิกแพลงในการดูแลลูก ขี้ราดกลางห้างจะทำยังไง ลูกลงไปดิ้นอาละวาดจะรับมือได้ไหม หรือจู่ ๆ พี่แกสลบหลับไปเลยดื้อ ๆ จะทำอย่างไรต่อ (ที่พูดมาคือ ผ่านมาหมดแล้ว)
ในขณะที่เรากลับไม่ได้ไปไม่ถึง รถไม่ได้เอามา ข้าวของไม่ได้มีครบ ในขณะเดียวกันก็สอนให้ลูกรู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวมากขึ้่นไปโดยปริยาย การอดทนรอคอย ห้องน้ำยังต้องเดินหา คิวซื้อข้าวยังต้องต่อรอแถว จะขึ้นรถ - เรือก็ต้องรอรอบขึ้น ไม่ใช่จะไปก็ไปได้เลย และอีกหลายเรื่อง
นี่คือการฝึกการเลี้ยงลูกขั้นสูงขึ้นไปอีกขั้น และจะสูงไปกว่านั้น ก็คือ การไปเที่ยวกับลูกแบบลำพัง 2 คนแม่ - ลูก หรือ 2 คนพ่อ - ลูก อันนี้ ‘ขั้นสูง’ เพราะสามารถประเมินทักษะในการเลี้ยงลูกของเราได้เลยว่า ‘เอาอยู่’ หรือ ‘พ่ายแพ้’ แต่ในขณะเดียวกันมันก็คือ แมตช์กระชับมิตรระหว่างลูกและเรา คือ การใช้เวลาที่ดีร่วมกัน สร้างความทรงจำและประสบการณ์ระหว่างกันที่ดี แม้จำไม่ได้หมดแต่มันจะยังเหลือตะกอนแห่งความทรงจำที่ดีที่ใครก็หาจะรู้ได้ว่า "ลูกจะจดจำสิ่งไหนได้บ้าง" แต่ไม่ว่าจะอะไร นั่นคือ ความทรงจำที่เราได้ทำร่วมกันนั่นเอง
การไปเที่ยวกับลูกแบบลำพัง คือ สิ่งที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ
เราจะรู้สึกได้เลยว่าทุกครั้งที่ได้พาเขาออกไปด้วยกัน ตอกย้ำว่า เราเอาอยู่ ชิลมากเวลาไปกับลูก ข้าวของไม่ต้องพร้อมมาก ไปหาเอาดาบหน้า ซึ่งแม้จะโดนบ่นบ้าง เราก็ชิล ๆ เพราะเรามีสกิลหูทวนลมขั้น 9 อยู่แล้ว ที่สำคัญ คือ ลูกเชื่อฟังเรามากขึ้น ลูกรู้จักพ่อมากขึ้น พ่อรู้จักลูกมากขึ้น ลูกถามคำถามมากขึ้น เราตอบคำถามมากขึ้น มีแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นเลยเนอะ (เราไม่นับเรื่องความเหนื่อยจากการเดินทางนะ)
ซึ่งก็ไปมาหลายแบบแล้ว นั่งรถไฟไปต่างจังหวัดแบบ 1 day trip พาลูกไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนพ่อ พาลูกไปงานศพก็ไปมาแล้ว นั่งเรือไปเที่ยววัด นั่งเรือต่อรถ นั่งรถต่อรถไฟฟ้า ไปอควาเรียมที่ลูกตื่นเต้นมาก วิ่ง 4x100 ตลอดเวลา วิ่งวนไปมา 3 รอบตั้งแต่ทางเข้าถึงทางออก สักพักฮีวิ่งจากทางออกไปทางเข้าวนไปวนมา บอกเลยว่า “หอบเหนื่อยจ้ะ” แต่ก็สนุกดี สีสันของคนเป็นพ่อแม่อะเนอะ
ถ้าพาออกไปแล้ว 'พ่ายแพ้' ทุกครั้ง นั่นหมายความว่า เรายังต้องปรับวิธีการรับมือกับลูกในสถานการณ์นอกบ้านให้ได้ดีมากกว่านี้่ และสอนให้ลูกควบคุมตัวเองให้ได้มากกว่านี้ครับ อย่าแก้ปัญหาด้วยการเลี่ยงหรือไม่พาไปไหนเลย เพราะนั่นอาจทำให้คุณและลูกเสียโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้นั่นเอง