296
Overprotective Parents ปกป้องมากไป ทำให้ลูกไม่เติบโต

Overprotective Parents ปกป้องมากไป ทำให้ลูกไม่เติบโต

โพสต์เมื่อวันที่ : May 9, 2023

 

พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินเหตุทำทุกอย่างให้ลูกจนทำให้เด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองตามวัย หรือพ่อแม่ที่ตำหนิทุกสิ่งทุกอย่างเวลาลูกทำอะไรจนลูกไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง และรอคำสั่งจากผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว

 

เด็กจะเกิดข้อสงสัยในตัวเองว่า “แท้จริงแล้วเขาสามารถทำอะไรได้บ้างซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวลและไม่มั่นใจใน ตนเองในเวลาต่อมา” แม้ลูกจะดูสุขสบายที่เขาไม่ต้องทำอะไรเองและไม่ต้องเผชิญความยากลำบากใด ๆ เพราะพ่อแม่พร้อมจะปกป้องเขาจากสิ่งนั้น

 

แต่เมื่อใดที่เขาก้าวเท้าออกจากบ้าน ไปในที่ ๆ เราไม่สามารถไปอยู่กับเขาได้เขากลับหวาดหวั่น และรู้สึกไม่มั่นคงทันทีเพราะเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือรับรู้ว่าตนเองทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนได้นั่นเอง

 

 

เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย ที่โรงเรียนไม่มีใครป้อนข้าว ไม่มี ใครใส่เสื้อผ้าให้หรือ ทำสิ่งต่างๆให้ทำให้เขารู้สึกลำบากเมื่อต้องอยู่ที่โรงเรียน ในความเป็นจริงความรักที่พ่อแม่ควรมอบให้คือ “การสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย”

 

  1. ขั้นแรก ทำให้ดู 
  2. ขั้นที่สอง พาเขาทำ (จับมือเขาทำ) 
  3. ขั้นที่สาม ทำด้วยกัน 
  4. ขั้นสุดท้าย ปล่อยให้เขาทำเอง

 

ฝึกฝนซ้ำ ๆ ทำสม่ำเสมอจนเขาสามารถทำได้เอง แม้ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น การไม่ปล่อยให้ลูกลำบากเลย ลูกจะเติบโตไปโดยปราศจากภูมิคุ้มกันทางใจซึ่งน่ากลัวกว่าความลำบากที่ลูก เผชิญทีละน้อยในวันนี้ 

 

เด็กทำไม่ได้ให้เราสอนก่อน ไม่ใช่รู้ใจและทำให้ทันที เด็กทำพลาด เราควรให้กำลังใจไม่ใช่ซ้ำเติมหรือลงโทษ เด็กทำผิดแล้วอาละวาดให้รอสงบแล้วจึงสอนให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำ เด็กทำผิดซ้ำ ๆ ให้ทบทวนว่าเขาไม่เข้าใจหรือเขาต้องการความสนใจ เด็กไม่กล้าเผชิญ ให้เชื่อมั่น และการเคียงข้างแต่ไม่พาหนี เด็กควรเผชิญความยากลำบากบ้าง เพราะชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้น 

 

 

ความยากลำบากเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ พ่อแม่ที่สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัยของเขาได้ แม้ว่าเขาจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีในช่วงแรก เขาอาจจะทำผิดทำพลาด แต่เมื่อมีพ่อแม่เคียงข้าง และสอนเขาให้ทำอย่างไร เด็กจะสามารถพัฒนาสิ่งที่เขาทำจนกลายเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ ณ จุดนั้น เด็กจะรับรู้ถึงความสามารถในตัวเอง นำไปสู่ความกล้าที่เผชิญโลกต่อไปเขาจะไม่กลัวที่จะต้องลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือ กลัวที่จะทำผิดพลาด เพราะเขารู้ว่า ตัวเองสามารถลุกขึ้นมาได้ใหม่เสมอ 

 

สิ่งสำคัญเมื่อเด็กดูแลรับผิดชอบร่างกายตัวเองได้แล้ว ค่อย ๆ สอนให้เขาดูแลข้าวของเครื่องใช้และพื้นที่ส่วนตัว ของตัวเอง เพื่อที่เขาจะพัฒนาไปสู่การดูแลพื้นที่ส่วนรวม และเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปในอนาคต 

 

พ่อแม่บางคนอาจจะเผลอทำสิ่งต่างๆให้ลูกจนเคยชิน ข้าวของของลูกให้เขาได้ดูแลรับผิดชอบ ด้วยการให้เขาถือเอง และเก็บเอง พ่อแม่ไม่ควรถือให้เขา เช่น กินข้าว ให้ลูกกินเอง เล่นของเล่นแล้วก็ต้องเก็บเอง กระเป๋านักเรียน กระติกน้ำของลูก ก็ควรให้เขาถือเอง นอกจากนี้หากลูกต้องการสิ่งใดหรือความช่วยเหลืออย่างไร 

 

 

พ่อแม่ควรฝึกให้เขาสื่อสารด้วยตัวเอง ไม่ใช่พูดแทนเขาทุกอย่าง เช่น ลูกไม่เข้าใจการบ้าน พ่อแม่ก็เข้าไปคุยกับครูแทนลูก แทนที่จะให้ลูกได้เขาไปพูดคุยกับคุณครูด้วยตัวเองก่อน ลูกไม่กล้าสั่งอาหารที่อยากกิน พ่อแม่ก็ช่วยพูดแทนให้ทันทีโดยไม่ให้ลูกพยายามก่อนเลย

 

พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูก “คิด” “ทำ” และ “พูด” เพื่อตัวเขาเอง เพราะเมื่อเด็กได้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เด็กได้รับรู้ความสามารถและคุณค่าภายในตัวเอง ที่สำคัญเมื่อถึง เวลาสำคัญเขากล้าที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเองได้ 

 

หากเรารับรู้ว่าวันนี้เรากำลังจะเป็นพ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินพอดี เราควรหยุดปกป้องลูกจากความลำบากและให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้ลูกเติบโตต่อไปตามวัยของเขาอย่างที่ควรจะเป็น เด็กทุกคนควรได้เติบโตแข็งแรงทั้งภายในและภายนอก ไม่ใช่เพียงเติบโตร่างกายที่เติบโตสูงใหญ่ แต่ความคิด จิตใจก็ควรจะเติบโตตามไปด้วย เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะสมวัย

 



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง