256
ปรับพฤติกรรมด้วย “คำชื่นชม”

ปรับพฤติกรรมด้วย “คำชื่นชม”

โพสต์เมื่อวันที่ : July 2, 2023

 

...“คุณหมอคะ ลูกมีปัญหา (ปัญหาพฤติกรรม) แม่ต้องทำอย่างไรดีคะ”... - คุณแม่ท่านหนึ่ง

 

การปรับพฤติกรรม (ที่ไม่ดี) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องประสบไม่มากก็น้อยในการเลี้ยงลูก เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีปัญหาพฤติกรรมที่พบได้ตามวัยที่แตกต่างกัน เด็กวัยสองขวบก็มีปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กอายุ 5 ขวบและเด็กวัยรุ่น

 

โดยปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย ได้แก่ พฤติกรรมรุนแรงอย่างการตีตัวเอง ตีคนอื่น การทำลายสิ่งของ พฤติกรรมการร้องอาละวาด การควบคุมอารมณ์และตัวเองที่ไม่ดี โกรธแรง เสียใจแรง การร้องไห้บ่อย การเป็นเด็กขี้แย เด็กขี้กลัว เด็กพูดน้อย เด็กพูดมาก เด็กพูดแทรกตลอดเวลา การพูดคำหยาบ การติดหน้าจอ เด็กติดเกม เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน การถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน การไปกลั่นแกล้งเด็กคนอื่นที่โรงเรียน

 

พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคบเพื่อนที่ไม่ดี ปัญหาการใช้สารเสพติดตั้งแต่สิ่งเสพติดทั่วไปอย่างบุหรี่ สุรา จนไปถึงยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอย่างยาบ้า และอื่น ๆ ฯลฯ

 

 

หลากหลายพฤติกรรมที่ไม่ดีที่อาจพบได้ตามช่วงอายุ และจัดการก่อนจะปรับพฤติกรรม ต้องทราบก่อนว่าพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่ต้องได้รับการดูแลจริง ๆ หรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่พบได้ปกติเพียงแต่ถูกใจผู้เลี้ยงหลักอย่างเราเท่านั้น โดยถ้าเป็นประการหลัง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเป็นฝ่ายที่ต้องปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้ตรงกับความเป็นจริงตามวัยก่อน เช่น การคาดหวังให้เด็กวัย 2 - 3 ขวบหยุดเคลื่อนไหวร่างกาย หรือหยุดพูดนั้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามวัยของเด็ก

 

ซึ่งเราก็พบเสมอว่า การเคลื่อนไหวร่างกาย วิ่งไม่พัก พูดไม่หยุดนั้นถูกแปลความว่าลูกเป็น “เด็กดื้อ” ในหลายครอบครัว หรือกระทั่งลามไปกังวลว่าลูกจะเป็น “โรคสมาธิสั้น” ทั้งที่เขาก็เป็นเพียงแค่ “เด็กปกติ” คนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นต้น

 

 

การปรับพฤติกรรม คือ การพัฒนาพฤติกรรมที่มีอยู่เดิมให้มีความเหมาะสมมากขึ้นจนถึงการสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ดีขึ้นมา ซึ่งในทางปฏิบัติในหน่วยของครอบครัวเรามักใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขการกระทำ (Operant Conditioning Theory) เป็นหลักผ่านการเลี้ยงลูกเชิงบวก โดยทฤษฎีการวางเงื่อนไขการกระทำเป็นการปรับพฤติกรรมด้วยการเสริมแรง (Reinforcement) และการลงโทษ (Punishment) เป็นหลัก

 

 

การเสริมแรง เป็นไปได้ทั้งเชิงบวกและลบ

แรงเสริมเชิงบวกที่เรามักคุ้นเคยสำหรับการเลี้ยงลูกที่สดก็คือ “คำชื่นชม” หรือ “การจับถูกไม่จับผิด” นั่นเอง เพราะพฤติกรรมใดที่ดีควรได้รับการตอบสนองเชิงบวกเพื่อเสริมแรงให้การกระทำนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนกลายเป็น ‘สันดานที่ดี’ ที่ติดตัวเขาไปในอนาคตโดยจะพัฒนาจากการลงมือทำเมื่อได้ ‘คำชื่นชม’ และ ‘การมองเห็น’ 

 

จากพ่อแม่ไปเป็นการลงมือทำมันด้วยจิตใต้สำนึก กระทำเพราะมันคือเรื่องที่ดี กระทำแล้วรู้สึกดีได้ด้วยตัวเองนั่นเอง ดังนั้นการชื่นชมมิได้ทำให้เหลิงหรือลืมตัวแต่อย่างใด หากแต่ต้องชมให้ถูกต้องโดยต้องมุ่งเน้นที่สิ่งที่ควบคุมได้อย่าง ‘การกระทำ’ และ ‘ความตั้งใจ’ รวมถึง ‘ความพยายาม’ ที่เกิดขึ้นโดยไม่เน้นการชื่นชมที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่กล่าวรวมอย่างหยิบจับพฤติกรรมไม่ได้อย่างการบอกว่า “เป็นคนเก่ง” “เป็นคนดี” เป็นต้น

 

 

▶︎ การเสริมแรงบวก อีกประเภทที่พ่อแม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมก็คือ “รางวัล” ไม่ว่าจะเป็น ของขวัญ ชาร์ตดวงดาว (ทำดีแล้วได้ดาวแปะบนชาร์ต) ใบประกาศ หรือเงิน หากแต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ทำได้จริง ราคาค่างวดไม่มากเกินไป เน้นเป็นรางวัลปลอบประโลมจิตใจเป็นผลแห่งการทำดี มิใช่การแข่งขันหรือประกวดประชัน และที่สำคัญหากการกระทำใดที่มีเป้าหมายเพื่อการได้มาซึ่งเงินตรา การกระทำนั้นอาจกลายเป็น “งาน” มิใช่พฤติกรรมที่ทำด้วยความอยากทำ เช่น หากให้ลูกทำงานบ้านเพื่อแลกมาซึ่งเงิน งานบ้านนั้นจะกลายเป็น “งาน” และเงินจะกลายเป็น “ค่าจ้าง” ซึ่งสุดท้ายแล้ว ลูกก็อาจเลือกที่จะไม่ทำเพราะเขาไม่ได้อยากทำงานบ้านเพื่อการได้มาซึ่งเงิน เป็นต้น

 

▶︎ การเสริมแรงเชิงลบ มักเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเจ็บตัว เช่น ความเจ็บปวด ความหนาว ความเจ็บป่วย รวมถึงความรู้สึกที่ไม่ดีอย่างความอับอาย การถูกตำหนิจากผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นจาก ‘ผลลัพธ์’ การกระทำที่ไม่ดีโดยที่พ่อแม่อย่างเราอาจไม่ต้องยื่นมือไปสั่งสอนให้เกิดการเรียนรู้แต่อย่างใดก็สามารถเกิดการปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมได้ เช่น หากวิ่งเร็วเกินไปอย่างไม่ระมัดระวังก็หกล้มเจ็บตัวได้ เด็กก็เรียนรู้ที่จะระมัดระวังมากขึ้น การไม่ยอมทำการบ้าน ก็อาจนำมาสู่การถูกตำหนิของครู หรือคำแนนการเรียนที่ลดลง การไม่จดการบ้านก็อาจนำมาสู่การลืมส่งงานหรือส่งผลต่อกิจกรรมที่ต้องทำอย่างการแต่งตัวไปโรงเรียนผิดวัน ก็จะทำให้เกิดความอายเพื่อน เป็นต้น

 

 

สิ่งสุดท้ายก็คือ “การลงโทษ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมโดยปราศจาก ‘ความรุนแรง’ อย่างการตีหรือดุด่าว่ากล่าวที่รุนแรง เช่น การเล่นเกม หากไม่ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้หรือเล่นเกินเวลา แม่ก็มีสิทธิ์ที่จะปิดหรือเก็บเครื่องเกม (หรือปิดไวไฟ) เป็นการลงโทษเพื่อให้รู้ขอบเขตและบังคับใช้ข้อตกลงที่ให้ไว้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

 



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง