‘ธรรมชาติ’ ตำราเล่มใหญ่ ที่ไม่มีโรงเรียนไหนสอน
เด็กได้สัมผัสธรรมชาติรอบตัวอย่างเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น
หลายโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังเป็นระบบการเรียนออนไลน์อยู่ หมอรู้ว่าการเรียนออนไลน์ของลูก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพ่อแม่มาก เพราะหมอเองก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน
อันที่จริงแล้ว การที่ลูกไม่ตั้งใจเรียนออนไลน์เท่ากับตอนที่เรียนอยู่ในห้องเรียนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายประเทศนะคะ
ศาสตราจารย์ Ilana Horn แห่งมหาวิทยาลัยVanderbilt ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาพบว่า ปัญหาหลักคือเด็ก “ขาดแรงจูงใจในการเรียน” และนั่นทำให้เด็กวอกแวก ออกจากหน้าจอบ่อย ๆ ตอนออนไลน์ (ขนาดบ้านเขา online learning แต่ละช่วงก็สั้น ๆ และมีเบรคบ่อย ๆ แล้วนะคะ เด็กเขายังออกอาการเลย บ้านเรานั่งต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง น่าจะหมดแรงและขาดแรงจูงใจมากกว่าเยอะ)
ดังนั้น หากลูกเรียนออนไลน์แล้วรู้สึกเบื่อ ไม่ค่อยตั้งใจเรียน อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าลูกผิดปกติ เพราะเด็กส่วนใหญ่ในหลายประเทศก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน
พวกเราคุณพ่อคุณแม่ซึ่งไม่ใช่คุณครูก็ต้องรับบทหนัก เพราะเด็กไม่ได้มองว่าเราคือคุณครูนะคะ เราไม่มีอำนาจในรูปแบบของการสอนวิชาการต่าง ๆ เหมือนคุณครู ลูกรับรู้และชินกับอำนาจของพ่อแม่ในรูปแบบของพ่อแม่เท่านั้น
ช่วยลูกสามารถตั้งใจเรียนได้มากกว่านี้อย่างไร ?
1. สิ่งแวดล้อม
ถ้าลูกเรียนออนไลน์ในบ้าน ความรู้สึกว่าบ้านเป็นบ้าน อาจไม่กระตุ้นให้ลูกอยากเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน หากลูกเรียนออนไลน์ในห้องนอน จะทำให้ลูกมีโอกาสเดินไปนอนแทนเรียนได้สูงมาก จึงไม่ควรเรียนในห้องนอนนะคะ
❤︎ ท่าทางตอนเรียน ไม่แนะนำให้เด็กนั่งเรียนบนพื้น เพราะมีโอกาสที่เด็กจะล้มตัวลงนอนได้ง่ายกว่านั่งบนเก้าอี้ ลูกควรนั่งเก้าอี้และมีโต๊ะไว้สำหรับเรียน ดูเป็นทางการ เหมือนตอนเรียนหนังสือที่โรงเรียนมากกว่า
❤︎ บรรยากาศรอบตัวต้องสงบไม่มีสิ่งเร้าความสนใจ ไม่ควรมีน้องมานั่งเล่นข้าง ๆ ไม่ควรมีเสียงทีวีเปิดอยู่ใกล้ ๆ ไม่มีของเล่นวางไว้ใกล้ตัว รวมทั้งไม่ควรมีของเล่นวางบนโต๊ะเรียนด้วย
นอกจากไม่ควรตั้งโต๊ะเรียนในห้องนอน และไม่ควรอยู่ในบริเวณคนเยอะแล้ว ควรตั้งโต๊ะเรียนชิดฝาผนังห้อง ลดสิ่งล่อตาล่อใจ เมื่อลูกเงยหน้าขึ้นก็จะมีเพียงกำแพงเปล่า ๆ เท่านั้นค่ะ
2. พ่อแม่สวมบทครู
อย่างที่หมอบอกไปแล้วว่า ลูกมองไม่เห็นภาพความเป็นคุณครูในตัวพ่อแม่ หมอขอแนะนำให้เรารับบทครูในช่วงนี้
❤︎ พ่อแม่ต้องบอก ”เวลา” ให้ชัดเจน ว่าเวลานี้...(บอกเวลา) ลูกต้องเรียนอะไร และเวลานี้...(บอกเวลา) ลูกจะได้พัก ซึ่งควรมีตารางเรียนแปะไว้ให้เหมือนตอนไปโรงเรียน และบอกลูกว่า ระหว่างนี้ถ้าลูกไม่ตั้งใจ แม่จะเตือนนะคะ
❤︎ ถ้าลูกไม่ตั้งใจเรียน ชอบเดินออกจากโต๊ะ พ่อแม่ควรประกบลูกไปก่อน ในที่นี้หมายถึง นั่งอยู่ในระยะที่จะเตือนลูกได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งตัวติดกัน
❤︎ วิธีเตือน พ่อแม่ต้องพูดสั้น ๆ ย้ำอีกครั้งนะคะ พูดสั้น ๆ เช่น เรียกชื่อลูกหรือกระแอมหรือเคาะโต๊ะ เพราะเราต้องการเตือนให้ลูกกลับไปสนใจเรียน ไม่ได้ต้องการสั่งสอน และเวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาสั่งสอนด้วยค่ะ ถ้าพ่อแม่พูดเยอะ บ่นเยอะในช่วงที่ลูกกำลังเรียน ก็เท่ากับว่าเราทำให้ลูกวอกแวกออกจากบทเรียน อย่าทำนะคะ อย่าจุกจิกจู้จี้ จนเด็กเสียสมาธิ
❤︎ ควรชื่นชมเมื่อลูกพยายามหรืออดทน และการชื่นชมก็ควรพูดสั้นและกระชับเช่นกัน เช่น ...“ต้นอดทนได้เก่งมากเลยครับ”... หรือ ...“แม่ภูมิใจที่ต้นพยายามตั้งใจนะครับ”...
3. พ่อแม่ต้องยืดหยุ่นขึ้น
เมื่อหมดการเรียนออนไลน์ เราจะกลับมาสวมบทแม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ลูกจำความเครียดจากความเป็นครูของเราได้ ดังนั้น แม่ในช่วงเวลานี้ต้องลดการบ่น ลดการดุ ลดความจู้จี้... ไม่เช่นนั้น ลูกจะต่อต้านเราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นครูหรือแม่ เราและลูกจะเครียดมากกกกกกกกกกกกกก
คำว่า “ยืดหยุ่น” ของหมอ ไม่ได้แปลว่าให้ปล่อยทุกเรื่อง หมอขอให้ลดเรื่องจุกจิกหยิมหยิมลง เช่น ลูกทิ้งขยะไม่ลงถัง ก็หยวน ๆ ไปก่อน, ลูกกินข้าวไม่เรียบร้อย ก็หยวนได้ แต่พวกความรับผิดชอบหลัก คือถึงเวลาต้องอาบน้ำ, กินข้าว, เรียนหนังสือ, เข้านอน พวกนี้ต้องยึดตามกติกาเดิม ไม่ควรยอม... ไม่ใช่ยอมให้ลูกไม่อาบน้ำ หรือ ให้ลูกนอนดึกมากขึ้น
...”ให้ลดเรื่องหยุมหยิม แต่ให้ยึดความรับผิดชอบหลักเอาไว้ค่ะ ลองนำไปปรับใช้นะคะ จะได้ลดความเครียดทั้งของลูกและเราค่ะ”...