582
พ่อแม่อบอุ่นที่ลูกอยากเข้าหา

พ่อแม่อบอุ่นที่ลูกอยากเข้าหา

โพสต์เมื่อวันที่ : December 5, 2023

 

พ่อแม่ลองหมั่นสำรวจอารมณ์ และควบคุมอารมณ์ด้านลบของตัวเอง พร้อมสร้างวินัยและเวลาคุณภาพให้กับลูก ๆ ได้มีบรรยากาศที่แสนอบอุ่นอบอวลด้วยความรักของพ่อแม่

 

7 ลักษณะพ่อแม่ที่อบอุ่น

  1. ใส่ใจลูกทั้งคำพูดและท่าทาง (วางมือถือ, ก้มลงเพื่อสบตาเมื่อคุยกับลูก)
  2. ยอมรับในตัวลูก (สังเกตว่าลูกเป็นคนยังไง)
  3. รับฟังด้วยสมองและหัวใจ (ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกลูก)
  4. มีอารมณ์มั่นคง ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ 
  5. จัดการอารมณ์ตนเองได้ดี ก่อนสอนลูก
  6. ไม่คาดหวังลูกเกินไป (จนลูกแบกไม่ไหว)
  7. ไม่หยุมหยิมจุกจิก (วินัยก็ไม่ได้ ลูกก็รำคาญ)

 

เราจะเห็นว่าพ่อแม่ที่อบอุ่น จะไม่ขี้บ่นและอารมณ์ไม่ขึ้นลง ดังนั้นเมื่อต้องกำกับวินัย ขอให้เน้นกิจวัตรประจำวันของลูกให้ได้ก่อน เช่น เวลากิน เวลานอน รับผิดชอบการเรียนและการบ้าน เพราะเมื่อเด็กจัดการตนเองในเรื่องหลักได้ เจ้าสมอง EF จะพัฒนาไปอย่างมาก พวกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ สมองก็ทำงานแบบชิวล์ ๆ เด็กจะจัดการได้โดยไม่ต้องรอให้บ่นเละ อารมณ์พ่อแม่ก็ไม่ขึ้นลงค่ะ ดังนั้นเน้นเรื่องหลักก่อน อย่าเข้มทุกเรื่องจนกลายเป็นวินัยก็ไม่ได้ ลูกก็รำคาญ

 

 

พ่อแม่ที่อบอุ่นจะรู้ว่าลูกเป็นคนแบบไหน เพราะชั่งสังเกต รู้ว่าลูกถนัดอะไร ชอบทำอะไร ไม่ชอบทำอะไร และจะเดาได้ว่าลูกกำลังคิดหรือรู้สึกอะไรในสถานการณ์นั้น ๆ

การพูดคุยกันในแต่ละวันจึงสร้างความสนิทสนมขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากบ้านที่พ่อแม่ลูกพูดคุยกันน้อย ไม่มีโอกาสสังเกตลูก เรื่องที่คุยส่วนใหญ่ก็มักเป็นคำสอน คำตำหนิ ไม่สามารถเดาได้ว่าลูกคิดอะไรหรือรู้สึกอะไร ทำให้ลูกไม่อยากคุยกับพ่อแม่ เมื่อไม่สนิท โอกาสเล่าเรื่องเพื่อปรึกษาพ่อแม่ก็น้อยลง 

 

การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตัวลูก พ่อแม่ที่มีเวลาและชั่งสังเกตจะมองเห็น เช่น ลูกไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเดิม ลูกพูดถึงเพื่อนสนิทน้อยลง ลูกหงุดหงิดง่ายขึ้น กินน้อยลง ซึ่งอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า พ่อแม่กลุ่มนี้จะเข้าช่วยเหลือลูกได้เร็วกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาและไม่รู้จักลูก

 

ในการเลี้ยงลูกนั้น พ่อแม่ไม่ควรตั้งรับ “รอ” ลูกเข้ามาปรึกษา แล้วค่อยช่วย เพราะหลายครั้งเด็กก็ไม่รู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหา พ่อแม่ซึ่งมีประสบการณ์เยอะกว่าควรเป็นผู้ตั้งข้อสังเกตและชวนเด็กคิด เพื่อช่วยเหลือลูกได้ทันการ

 

 

เมื่อพ่อแม่ถามว่า “เป็นอะไร ช่วงนี้ไม่ค่อยร่าเริง มีอะไรเล่าให้ฟังได้นะ” ลูกรับรู้ได้ถึงความห่วงใยของพ่อแม่ ความรู้สึกอบอุ่นและมีที่พึ่งพิงนี้ จะช่วยให้ลูกอยากเล่าเรื่องที่อยู่ในใจ และยอมเปิดใจรับฟังคำแนะนำของพ่อแม่ง่ายขึ้น

 

พ่อแม่ที่ไม่ค่อยอบอุ่น ส่วนหนึ่งมาจากทำงานเยอะ เวลาที่เจอกับลูกน้อย เมื่อเห็นพฤติกรรมไม่รับผิดชอบของลูก ก็ต้องใช้เวลาไปกับการสั่งสอน ดุ ตำหนิ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูก มักไม่สังเกตุเห็น จึงไม่รู้ว่าลูกกำลังไม่สบายใจ ไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูกบ้าง แม้พ่อแม่กลุ่มนี้จะอยากช่วยลูกมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้หากลูกไม่เล่าปัญหาให้ฟัง ซึ่งลูกที่โดนดุเยอะ ๆ ส่วนใหญ่ก็มักปิดประตูการสื่อสารกับพ่อแม่ไปแล้ว

 

ยิ่งบ่น ยิ่งจิกไปทุกเรื่อง นอกจากลูกจะจัดการตนเองไม่ได้, ทักษะสมองEF ไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร, มีพฤติกรรมต่อต้านแล้ว พ่อแม่ยังกลายเป็นคนน่ารำคาญ, ไม่น่าเข้าหา ซึ่งเป็นไปได้สูงมากที่ลูกจะไม่กล้าบอกอะไร ไม่ว่าจะโดนแกล้ง หรือไปแกล้งเขา กลายเป็นวินัยก็ไม่ได้ ลูกก็รำคาญ ไม่เข้าหา

 

 

..."คุณพ่อคุณแม่ลองค่อย ๆ ปรับตัวเองเป็นพ่อแม่ที่อบอุ่น ลูกอยากเข้ามาหาและอยากปรึกษานะคะ สำคัญมากต่อการเลี้ยงลูกในยุคนี้"...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง