218
โลกของลูกจะปลอดภัย ถ้าเราไม่ปล่อยให้ลูกหลงทาง

โลกของลูกจะปลอดภัย ถ้าเราไม่ปล่อยให้ลูกหลงทาง

โพสต์เมื่อวันที่ : February 1, 2024

 

"โลกนี้ปลอดภัยหรือไม่ ?" เป็นคำถามแรกที่เด็กเล็กคนหนึ่งเฝ้าถามตัวเองเสมอ ผ่านความสัมพันธ์ในทุกวันที่เติบโตระหว่างเขากับแม่

 

เมื่อโลกนี้ปลอดภัยเพียงพอ เขาจะพร้อมที่จะออกไปสำรวจร่างกายของตัวเอง ขยายออกไปสำรวจพื้นที่รอบร่างกายของเขา ภายในบ้าน รอบบ้าน สนามหญ้าหน้าหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ที่เขาได้พบเจอ และโลกทั้งใบที่อยู่เบื้องหน้า โลกรอเขาให้ไปสร้างประสบการณ์ เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย โลกนี้ก็จะเป็นพื้นที่ที่เขาจะไว้ใจได้ 

 

  • ยามเมื่อเขาหิว...มีใครสักคนมาอุ้มกอดให้นม 
  • ยามเมื่อเขาไม่สบายตัว...มีใครสักคนมาดูแล 
  • ยามเมื่อเขาต้องการ...มีใครสักคนอยู่ตรงนั้นข้าง ๆ เขา 
  • ใครสักคนคนนั้น...เรามักกล่าวถึงผู้ (ทำหน้าที่) เป็น “แม่” 

 

แม่ที่อยู่ตรงนั้นข้าง ๆ เขา แม่ที่เอาแน่เอานอนได้ แม่ที่ทำให้เด็กน้อยคนหนึ่งไว้วางใจได้ว่า เมื่อเขาต้องการ แม่จะอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา เพื่อที่จะทำให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และเมื่อนั้น เขาจะเริ่มรู้สึกว่า "โลกใบนี้ปลอดภัย"

 

 

เมื่อเด็กคนนั้นเติบโตขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น จากพลิกคว่ำพลิกหงาย คืบคลาน นั่ง เกาะยืน ปีนป่าย เดิน จนไปถึงวิ่ง จากเสียงอืออาที่อยู่ในลำคอ เป็นเสียงหัวเราะชอบใจ เป็นภาษาเด็ก จนกลายเป็นคำที่มีความหมาย จาก 1 เป็น 2 เป็นประโยคสั้น ๆ จนพูดไม่หยุด

 

เขาจะเรียกหา แม่ เขาต้องการให้แม่อยู่ข้างเขาตลอดเวลา เขาจะถามคำถามแม่ทั้งวัน เขาอยากที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้แม่ได้ดู ได้เล่นไปกับเขา ได้อ่านหนังสือให้เขาฟัง ได้หัวเราะไปพร้อมเขา และในขณะเดียวกัน เขาก็อาจจะทำตัวไม่น่ารัก เพื่อเรียกร้องแม่ให้เห็นเขาในสายตา 

 

“ได้ยินหนูไหม”
“เห็นหนูหรือเปล่า” 
“หนูเป็นเด็กน่ารักใช่ไหม” 
“เป็นตัวหนูแบบนี้ โอเคใช่ไหม” 

 

นี่คือ กระบวนการสร้าง ‘ตัวตน’ ของเด็กคนหนึ่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อแม่ และทุกพฤติกรรมของลูก คือ วิธีการสร้างความสัมพันธ์ สร้างตัวตนในแบบของเขา ดังนั้นทั้งด้านดีและร้าย พฤติกรรมของลูกเองก็เป็นตัวสะท้อนพ่อแม่เช่นกัน

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูกเสมอ อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา ให้โลกที่อยู่รอบตัวเขานิ่งขึ้น รู้สึกน่าไว้วางใจมากขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย แต่เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมที่เขาเริ่มออกไปลงมือเรียนรู้โลกภายนอกผ่านร่างกายและนิ้วมือทั้ง 10 นิ้วของเขา

 

 

พ่อแม่ต้องให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ห้ามให้น้อย ขีดเส้นให้ชัดว่าสิ่งใดทำไม่ได้บ้าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรุนแรง ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ และมีความรับผิดชอบให้ความร่วมมือในกิจวัตรของตนเองอย่างการอาบน้ำ แปรงฟัน กินอาหาร) เน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกมีอิสระในการเคลื่อนที่และเล่นเต็มที่ นี่คือ วัยที่เด็กจะเริ่มสร้างตัวตนของเขาอย่างเต็มที่ มิใช่ห้ามไปหมด ติไปหมด เป็นตัวตนของตนเองไม่ได้ เพราะคำถามต่อไปของลูกที่เขาจะถามตัวเองก็คือ 

 

...“มันโอเคไหมที่จะเป็นตัวของตัวเอง”...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง