31
"ความรุนแรง" สร้างรอยแผลในใจเด็ก

"ความรุนแรง" สร้างรอยแผลในใจเด็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : December 28, 2024

 

ผู้ใหญ่ใช้อารมณ์แต่ไม่ลงกับลูก ? ลูกจะโอเคไหม หมอตอบได้ทันทีเลยว่า “ไม่มีทางโอเค”

 

เราทุกคนทราบดีว่าการใช้อารมณ์กับลูก นอกจากไม่ช่วยให้ลูกเข้าใจวิธีจัดการตัวเองแล้ว ยังสร้างพฤติกรรม “ยอมทำเพราะกลัว” และยังทิ้งบาดแผลทางใจ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคทางจิตเวชต่อไป แต่หากลูกไม่โดนโดยตรงล่ะ ? แต่ความเป็นจริง ลูกโดนผลกระทบด้วยค่ะ

 

พ่อดุด่าคนงานที่ทำงานไม่ได้เรื่องเป็นประจำทุกวัน วันละหลายรอบ
แม่ตะคอกใส่คุณอาที่ชอบมายุ่งเรื่องเลี้ยงลูก จนคุณอาไล่แม่ ด่าอย่างหยาบคายนับครั้งไม่ถ้วน
ยายดุ ตี ตะคอกใส่หลาน 2 -3 คน มานานหลายปี ตั้งแต่ยายไม่แข็งแรง
พ่อแม่ทะเลากันต่อหน้าลูก

 

ทุกครั้งที่ผู้ใหญ่ทะเลาะกัน เด็กจะหยุดทำกิจกรรมนั้นและหันไปดูด้วยความรู้สึกแย่ เศร้า กลัว กังวล โกรธฯ (บางคนร้องไห้ บางคนหลบมุม และบางคนหันกลับไปเล่นต่อได้ แต่เชื่อเถอะว่าเขารู้สึก)

 

ฉากที่ผู้ใหญ่รุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะคำพูด ท่าทางสีหน้าและแววตา สร้างบรรยากาศของ “ความกลัว” ให้กับเด็ก และบรรยากาศแบบนี้ ทำให้เด็กรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” แม้ลูกจะไม่โดนโดยตรง แต่ใจลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ค่ะ 

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก 4 ปีมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง

 

 

ความรู้สึกไม่ปลอดภัย สร้างความรู้สึก “ฉันควบคุมอะไรไม่ได้” เด็กไม่รู้เลยว่าจะจบเมื่อไร จบอย่างไร ใครจะเจ็บ ใครจะไป คนต่อไปเป็นใคร นี่คือ ตอนทะเลาะกันนะคะ แล้วตอนที่ไม่ทะเลาะกันก็อยู่กันแบบปกติดีนี่แหละ

 

เชื่อไหม…ที่เห็นเด็กยิ้มแย้ม วิ่งเล่นไปมา ลึก ๆ แล้วมีความกังวลตลอด ไม่รู้จะระเบิดลงเมื่อไร เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เลย แน่นอนว่ายังประเด็นอื่นอีก เช่น เด็กซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าว วิธีแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ รวมทั้งการไม่เคารพกัน ไม่ให้เกียรติกันด้วย

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ฮึดฮัด ฟึดฟัด ทำยังไงดีนะ ? ถ้าลูกก้าวร้าว"

 

เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน ภูมิต้านทานความรุนแรงยังไม่มี เด็กจะต้องเติบโตในบ้านที่ไม่มีความรุนแรง จะต้องถูกวางฐานราก “ความมั่นคงทางจิตใจ” ที่แข็งแกร่งก่อน ถึงจะสามารถรับมือความรุนแรงอย่างเหมาะสมเมื่อโตขึ้นได้

 

หากเด็กโดนใช้ความรุนแรงโดยตรง เกิดผลเสียมากแน่ ๆ แต่หากไม่โดนตรง ๆ ก็เกิดผลเสียเหมือนกันนะคะ ไม่ใช่ไม่มีผลเสีย หากคนที่ทะเลาะกันอยู่ในวงความสัมพันธ์ที่สนิท เช่น พ่อกับแม่ทะเลาะกัน ผลกระทบจะเยอะกว่าวงความสัมพันธ์ที่ห่างออกไป เช่น พ่อดุด่าคนงาน แต่ยังไงก็ส่งผลเสียต่อเด็กอยู่ดี ยิ่งถ้าเกิดขึ้นบ่อย และรุนแรง

 

แนะนำให้หาทางแก้ไข เพราะสุขภาพจิตที่เสียหาย แม้ตาเรามองไม่เห็นเป็นลักษณะเหมือนน้ำเสียที่ซึมบ่อทราย กว่าจะมองเห็นว่าลูกแย่ นั่นแปลว่า “น้ำเสียเยอะ” จนเอ่อล้น ท่วมท้นออกมา ซึ่งแก้ไขยากหรือบางเคสก็แก้ไขไม่ได้

 

เลี้ยงลูกเน้นป้องกันดีกว่าแก้ไข แต่หากต้องแก้ไขจริง ๆ ก็เริ่มแก้ไขตอนเป็นน้อย ๆ ดีกว่า แก้ไขตอนที่เป็นมากๆ เพราะอาจแก้ไม่ได้ค่ะ “สร้างง่ายกว่าซ่อม” จริง ๆ 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง