8183
พ่อแม่ธรรมดาที่มีอยู่จริง

พ่อแม่ธรรมดาที่มีอยู่จริง

โพสต์เมื่อวันที่ : July 21, 2024

 

การเป็นพ่อแม่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ณ วินาทีที่เรารับรู้ว่ามีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องของเรา แต่ “ความเป็นพ่อแม่” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้สร้างสายสายสัมพันธ์กับลูกอย่างแน่นแฟ้น

 

สอนสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้กับเขาเพื่อสักวันหนึ่งลูกจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป สายสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อ พ่อแม่ได้มอบความรักและเวลาคุณภาพให้กับลูก ทำให้ลูกรับรู้ว่าตนเป็นที่รักและเป็นที่ต้องการของพ่อแม่

 

ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า “พัฒนาการขั้นแรกของมนุษย์ (วัย 0-2 ปีแรก) เริ่มจากการที่พ่อแม่ต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้กับลูก โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ (Attachment) ซึ่งเกิดขึ้นจากความรัก ที่แสดงออกผ่านการให้ความสนใจ ดูแลอย่างใกล้ชิดและตอบสนองต่อความต้องการของลูกขั้นพื้นฐาน หรือ กล่าวโดยสรุปว่า “พ่อแม่ต้องเป็นผู้ที่ลูกสามารถพึ่งพิงได้ในยามที่เขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง”

 

เช่น...

  • เมื่อลูกหิว แม่ให้นมลูกกิน
  • เมื่อลูกร้องไห้ พ่อแม่อุ้มกอดปลอบประโลม
  • เมื่อลูกรู้สึกเฉอะแฉะ พ่อแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้
  • เมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ดูแลและพาไปรักษาจนหายดี

 

สิ่งที่สำคัญของพ่อแม่ คือ การบอกรักลูกผ่านการเล่น กอด อุ้ม หอม เล่านิทาน และพูดคุยกับลูกแม้ในวันที่เขายังไม่รู้ภาษาก็ตาม การปรากฏตัวของพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก ทำให้เด็กรับรู้ว่า 'พ่อแม่มีอยู่จริง' และเขาสามารถเชื่อใจพ่อแม่ได้ ซึ่งความเชื่อใจดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อใจที่มีต่อโลกภายนอกในเวลาต่อมา

 

 

หากพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก เด็กจะพัฒนา ความไม่ไว้วางใจ (Mistrust) ต่อบุคคลหรือโลกภายนอกขึ้นมา ซึ่งผลที่ตามมาอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี

🔹 กรณีแรก: เรียกร้องอย่างไร้ขอบเขต

เด็กอาจพยายามเรียกร้องสิ่งที่ต้องการอย่างสุดกำลัง โดย ไม่สนใจว่าวิธีการนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะสำหรับเด็กที่ขาดความรักและความสนใจ... แค่ได้ "ถูกมองเห็น" ก็เพียงพอแล้ว เรามักเห็นเด็กกลุ่มนี้ทำพฤติกรรมที่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เสมอ และเขาจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคำชม หรือแม้แต่คำตำหนิก็ตาม

 

🔹 กรณีที่สอง: แข็งนอก เปราะใน

เด็กอาจแสดงออกว่าเข้มแข็ง เพราะเขา เคยต้องพึ่งพาตัวเองตั้งแต่เล็ก แต่ภายในใจอาจเปราะบางลึกซึ้ง เพราะไม่เคยได้รับการเติมเต็มความรัก เด็กบางคนอาจต่อต้านสังคม เพราะการได้รับความรักในวันนี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่ เขารับไม่ไหว ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการ แต่เพราะเขา กลัวเหลือเกินว่า “ความรักนั้นจะไม่ยั่งยืน” เขา กลัวจะต้องเสียใจอีกครั้ง หากความรักที่เพิ่งได้รับ...หายไปอีก

 

 

💡 แล้วพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเต็มที่กับลูกควรทำอย่างไร ?

แน่นอนว่าในโลกความจริง หลายครอบครัวมีภาระหน้าที่มากมาย พ่อแม่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว บางคนเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำทุกอย่างเพียงลำพัง ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่ “ทำได้” และ “สำคัญมาก” ก็คือ “การจัดสรรเวลาที่มีอยู่น้อยนิด...ให้กลายเป็น ‘เวลาคุณภาพ’”

 

ขอเพียงแค่... เมื่อพ่อแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูก แม้เพียงช่วงสั้น ๆ ในแต่ละวัน ขอให้เวลานั้นเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเขา ชดเชยสิ่งที่ลูกขาดหายไประหว่างวัน วางโทรศัพท์และโลกภายนอกลง มอบสายตาและหัวใจทั้งดวงให้กับลูกตรงหน้า เพราะ ความรักไม่วัดที่ปริมาณ แต่คือ ความตั้งใจและความสม่ำเสมอที่ลูก “รับรู้” ได้เสมอ 💛

 

 

ให้ความรักผ่านการสัมผัส กอด เล่น อ่านนิทาน และกล่อมเขาเข้านอน เคียงข้างจนลูกหลับไป เพื่อสร้างสายใยในใจลูกในทุก ๆ วันที่กลับมา ณ ที่เดิม เวลาเดิม อย่างสม่ำเสมอ ลูกจะสามารถสร้างความเชื่อใจขึ้นมากับพ่อแม่ได้ ทำให้ “พ่อแม่มีอยู่จริง” ในชีวิตของเขา และสิ่งนี้จะส่งผลให้เขาสามารถ “วางใจในโลก” ได้เช่นกัน

 

สำหรับลูกแล้ว เมื่อพ่อแม่มอบความรักผ่าน “เวลาคุณภาพ” ที่มีร่วมกัน ลูกจะรับรู้ว่า ‘ตนเองมีคุณค่าสำหรับพ่อแม่เพียงใด’ และการรับรู้คุณค่าตรงนี้ จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘ตนเองมีอยู่จริงสำหรับพ่อแม่เช่นกัน’ เมื่อเขารู้สึกว่าตนเอง “มีอยู่จริง” และ “มีคุณค่า” ในวันข้างหน้า เด็กจะสามารถยืนหยัดเพื่อตัวของเขาเองได้ โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค หรือเสียงจากใครก็ตาม

 

 

ไม่มีหรอกค่ะ... “พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ” สิ่งที่มีและมีคุณค่าที่สุด คือ “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” เราไม่จำเป็นต้องดีเลิศในทุกด้าน ไม่ต้องเพียบพร้อมในทุกบทบาท แค่เป็นพ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกอย่างมีคุณภาพ เป็นพ่อแม่ที่มีความสุข และเป็นพ่อแม่ที่ ‘มีอยู่จริง’ สำหรับลูก รวมถึงรับรู้ด้วยว่า ‘ลูกก็มีอยู่จริงสำหรับเรา’ ...แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ ♡

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

 

อ้างอิง : Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง