8388
แก้ปัญหา ลูกไม่ยอมทำการบ้าน

แก้ปัญหา ลูกไม่ยอมทำการบ้าน

โพสต์เมื่อวันที่ : November 13, 2023

 

อะไรเอ่ย ? ตอนเช้าไปส่งลูก "ไม่มี" ตอนเย็นรับลูกกลับ "มี" สามารถสร้างสงครามขนาดย่อมระหว่างพ่อแม่ลูกได้

 

บางบ้านตอบได้ทันทีอย่างไม่ลังเลว่า “สิ่งนั้นก็คือ 'การบ้าน' นั่นเอง" ! ช่วงนี้โรงเรียนหลายโรงเริ่มทยอยเปิดเทอม จากแต่ละวันช่วงปิดเทอม เด็กแค่วิ่งเล่น กินข้าว แล้วอาบน้ำนอน เมื่อไปโรงเรียนก็ถึงเวลาต้องปรับตัวกันเสียหน่อย พ่อแม่อย่างเราก็เช่นกัน ไม่ว่าจะต้องตื่นเช้าขึ้น กินข้าวแต่งตัว ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แล้วยังไม่วาย กลับบ้านมามีภาระจากโรงเรียนต้องรับผิดชอบต่อ

 

 

..."โจทย์ใหญ่ของทุกบ้าน คือ "ลูกไม่อยากทำการบ้าน" (คำตอบนี้จะใช้ได้ดีตั้งแต่เด็กอนุบาล - ประถม)"...

 

 

 

Trick 3 ข้อแก้ปัญหา "ลูกไม่ยอมทำการบ้าน"

 

1. มี "มุมทำการบ้าน"

จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การทำการบ้าน มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีอุปกรณ์เครื่องเขียนที่จำเป็น และที่สำคัญไม่มีสิ่งที่จะมารบกวนสมาธิของเขา เช่นโทรทัศน์ เครื่องเล่นเกม ของเล่น คอมพิวเตอร์ (ในกรณีเด็กโตที่ต้องทำงานในคอมนั้นจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง) และอื่น ๆ

 

ที่สำคัญคนรอบตัวเขาไม่ควรรบกวนด้วยเช่นกัน เช่น ถ้ามีน้องเล็กเล่นอยู่ในบริเวณนั้น เด็กอาจจะไม่อยากทำการบ้าน เพราะอยากไปเล่นกับน้องมากกว่า หรือ คุณพ่อกลับมาเปิดโทรทัศน์ดูข่าวในขณะที่เขาทำการบ้านอาจจะไม่เหมาะสม เด็กจึงควรมีมุมสงบสำหรับทำการบ้านของเขา

 

 

2. มี "กติกา" ชัดเจนและผู้ใหญ่ที่ใจดี แต่ไม่ใจอ่อน

ควรตั้งกติการกันไว้ก่อนไปโรงเรียนว่า "การบ้าน" คือ หนึ่งในสิ่งที่เขาต้องทำ (ถ้ามี) และถ้าการบ้านเสร็จ เขามีสิทธิ์เลือกทำกิจกรรมที่ชอบได้หลังจากนั้น โดยต้องทำการเสร็จก่อนจึงจะได้ทำกิจกรรมนั้น (ไม่มีข้อแม้ เพื่อฝึกให้เขาเรียงลำดับความสำคัญก่อน - หลัง และวินัยความรับผิดชอบ) ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านว่าจะตกลงกันอย่างไร ซึ่งในทางกลับกันถ้าเด็กไม่ยอมทำการบ้าน หรือทำการบ้านไม่เสร็จก็มีผลตามมาเช่นกัน เช่น อาจจะถูกงดกิจกรรมที่ชอบ

 

โดยข้อนี้จะสำเร็จได้ถ้าผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่ทำตามกติกา เด็กจะเรียนรู้ว่า เขาอยู่กับคนนี้เขาไม่ต้องทำตามกติกาก็ได้ หรือ เด็กจะเรียนรู้ว่าเราไม่ได้เอาจริงเสียหน่อย กติกาจะไม่เป็นกติกาอีกต่อไป เพราะเป็นได้เพียงคำบ่นของผู้ใหญ่เพียงคนเดียวในบ้านเท่านั้น

 

 

3. มี "ผู้ใหญ่เคียงข้าง" ให้อุ่นใจ

พ่อหรือแม่ (หรือผู้ใหญ่) สักคนหนึ่ง ควรเริ่มด้วยการชวนเขาทำการบ้านไปด้วยกัน ระหว่างที่เขาทำการบ้าน เราอาจจะนั่งสังเกตอยู่ห่าง ๆ อาจจะนั่งใกล้ ๆ แต่เราก็ทำงานของเราไปพร้อมกับเขา เพื่อว่า ถ้าเด็กสงสัยอยากถาม เราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ทันที เราจะไม่ดุเมื่อเขาทำผิด อย่าลืมว่า เป้าหมายของการทำการบ้านมี 2 ข้อ

 

  • ข้อที่ 1 "เด็กต้องทำการบ้าน" เพราะเขายังไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจึงมาฝึกด้วยการบ้าน ถ้าเขาทำผิดก็แค่สอนเขาในสิ่งที่ถูก ผู้ใหญ่ต้องใจเย็นให้มาก ๆ เรารู้คำตอบเพราะเราเรียนมามากขนาดไหนแล้ว อย่าเปรียบเทียบลูกกับลูกบ้านอื่น

 

  • ข้อที่ 2 "การบ้าน" มีไว้เพื่อฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และการควบคุมตนเอง แค่เด็กยอมมานั่งทำการบ้านของเขา ควบคุมตนเองให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น (อดเปรี้ยวไว้กินหวาน) เพียงเท่านี้จุดประสงค์ข้อนี้ก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่อาจจะลืมไป เพราะเรามัวแต่มองผลลัพธ์ หรือ ความถูกต้องเป็นสำคัญ

 

 

กรณีที่เราทำข้อ 1-3 แล้ว แต่เด็กก็ยืนยันไม่อยากทำการบ้าน เราต้องหาสาเหตุก่อนว่า เป็นเพราะอะไร ?

 

▶︎ 1. การบ้านมีเนื้อหายากเกินวัยของเด็ก เด็กอาจรู้สึกท้อได้ เพราะไม่สามารถทำการบ้านด้วยตนเองเนื่องจากไม่เข้าใจบทเรียน ดังนั้นเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ เราสามารถสอนโดยทำให้เขาดู แล้วตั้งโจทย์เพิ่มให้เขาลองด้วยตนเองหลังจากดูเราทำ

 

แต่ถ้าการบ้านนั้นยากเกินไปมาก ๆ (ไม่เหมาะกับวัยของเขา) และคุณแม่คุณพ่อช่วยเหลือไม่ได้ ถามลูกว่า เราไปคุยกับคุณครูด้วยกันไหม ? หรืออยากปรึกษาเพื่อน ครอบครัวอื่นไหม ว่าเขาทำอย่างไร ?

 

 

▶︎ 2. การบ้านง่ายเกินไปอาจทำให้เด็กเบื่อหน่าย ไม่อยากทำ ตรงนี้เราสามารถบอกเขาได้ว่า "การบ้าน...นอกจากเป็นการฝึกฝนเราแล้ว เรายังฝึกการควบคุมตนเองให้ทำหน้าที่ของตนเองด้วย ถ้าเรารู้ว่าง่าย แล้วไม่ทำ แสดงว่าเรายังฝึกการควบคุมตนเองไม่ได้" แม้จะง่ายแต่ก็ช่วยให้เราเก่ง และเชี่ยวชาญขึ้น

 

แต่ในกรณีที่ง่ายเกินไป คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มความยากให้ท้าทายเด็กได้ด้วยตนเอง หรืออาจจะไปปรึกษาคุณครูเรื่องการบ้านที่ลูกทำก็เป็นอีกข้อสำคัญ เพราะบางทีลูกของเราอาจจะมีพรสวรรค์ (Gifted) หรือ เป็นเด็กอัจฉริยะ (Genius) เราจะได้หาทางส่งเสริมเขาในทางที่เหมาะสมต่อไป

 

 

▶︎ 3. เด็กอยากทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การบ้าน ข้อนี้ต้องกลับไปย้ำข้อ 2. มี "กติกา" ที่ชัดเจน" ผนวกกับผู้ใหญ่ที่เอาจริง ทำข้อตกลงให้ชัดเจนว่า "ถ้าทำการบ้าน ต้องทำเวลาไหน และถ้าไม่ทำจะได้รับผลอย่างไร เช่น งดทำกิจกรรมที่ชอบ"

 

สุดท้าย อย่าลืมว่าเป้าหมายของ "การบ้าน" คือการได้ฝึกฝนในสิ่งที่เรียนไป กับการฝึกวินัยความรับผิดชอบในตัวเด็ก ลูกเราอาจจะทำช้าบ้าง ทำไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร เพราะการบ้านไม่ใช่ข้อสอบที่เราห้ามบอกคำตอบลูก ให้กำลังใจ อย่าใจร้อน อย่าโมโห เราไม่ได้อยากสร้างความกลัวให้ลูกเวลาเขาต้องทำการบ้านที่บ้านกับเรา

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง