507
ร้องไห้ไม่เท่ากับอ่อนแอ

ร้องไห้ไม่เท่ากับอ่อนแอ

โพสต์เมื่อวันที่ : February 15, 2021

 

เสียงร้องไห้ ท่าทาง และการโวยวายของเด็กนั้นเป็นสิ่งที่กระตุ้นความหงุดหงิดของพ่อแม่และคนรอบข้างได้อย่างดี

 

แม้ว่าเด็กกับการร้องไห้นั้นจะเป็นสิ่งที่คู่กัน แต่หากลูกเป็นเด็กที่ร้องไห้ง่ายเกินไป โวยวายมากเกินไปก็ไม่ง่ายเลยสำหรับพ่อแม่ที่จะรับมือกับลูกเช่นกัน

 

‘การร้องไห้’ เป็นวิธีที่เด็กใช้ในการสื่อสารกับคนรอบข้างว่าเขารู้สึก ‘ไม่โอเค’ และนี่คือทักษะแรกที่ติดตัวเด็กทารกมาตั้งแต่แรกเกิด ในช่วงแรกเกิดเด็กจะร้องไห้เมื่อร่างกายของเขารู้สึกไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความง่วง ท้องอืด ผ้าอ้อมเปียก หรือขณะถ่ายอุจจาระในเด็กบางคน

 

ต่อมาการร้องไห้จะเริ่มสัมพันธ์กับเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกมากขึ้นเช่น เสียใจ หงุดหงิด ผิดหวัง รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อไม่เห็นพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูหลัก รวมถึงเริ่มเชื่อมโยง ‘ผล’ ของการร้องไห้นั้นกับ ‘การตอบสนองของผู้เลี้ยงดู’ ต่อการร้องไห้ของเขามากขึ้น

 

 

ในเด็กเล็กที่ยังไม่รู้จักอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง รวมถึงเด็ก ๆ ก็ยังไม่เชี่ยวชาญที่จะจัดการความรู้สึกที่พุ่งพล่านอยู่ในสมองน้อย ๆ ของเขาได้

 

เขาจึงร้องไห้ออกมาอย่างไร้เหตุผลกับเรื่องเล็กน้อยหลายเรื่องในสายตาของผู้ใหญ่อย่างเรา ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่อย่างเราก็มีส่วนที่จะทำให้เด็กร้องไห้ง่ายขึ้น และกลายเป็นเด็กขี้แงได้ง่ายขึ้นหากเราตอบสนองกับพฤติกรรมการร้องไห้ของลูกอย่างไม่เหมาะสมเช่นกัน วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจกับเด็กขี้แยกัน

 

ในแง่ของเด็ก เด็กหลายคนมีพื้นอารมณ์ที่ซับซ้อนและเรียกร้องความสนใจเมื่อเกิดเหตุที่ทำให้เขาไม่พอใจหรือไม่ปลอดภัยได้ง่ายทั้งที่ตัวเขาเองยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเขาร้องไห้ออกไปเพื่อเรียกร้องความสนใจของคนรอบข้าง

 

ในขณะเดียวกันเด็กหลายคนก็ยังไม่เก่งในการจัดการอารมณ์และปัญหา โดยเฉพาะคนที่มีความอดทนต่อการแก้ไขปัญหาต่ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเชิงทักษะผ่านกิจกรรมการเล่นอย่างการต่อรางรถไฟ หรือการต่อบล็อกไม้ หรือทักษะเชิงสังคมอย่างการจัดการปัญหาการทะเลาะกันระหว่างพี่น้องอย่างการแย่งของเล่น ทำให้เด็กจึงร้องไห้เพื่อดึงเอาคนกลางอย่างพ่อแม่เข้ามาช่วยเหลือเขา มาช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหาให้ทันที

 

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองอย่างเราต้องตอบสนองไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงทันทีที่ลูกร้องไห้ เพราะนั่นอาจทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะใช้เสียงร้องไห้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าเขามากขึ้น

 

 

สติ สงบ สื่อสาร และรับฟัง เพื่อให้ให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกทอดทิ้งจากอารมณ์และปัญหาตรงหน้าก่อน

 

สื่อสารเมื่อลูกเริ่มพร้อม เพื่อทำให้เหตุการณ์ตรงหน้าชัดในด้านอารมณ์ความรู้สึก ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอย่างง่าย ๆ ที่ฟังเข้าใจ ไม่โวยวาย ไม่โอ๋จนเกินไป เช่น “หนูเสียใจใช่ไหมที่ต่อรางรถไฟไม่ได้” สื่อให้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้น สื่อให้รู้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นแบบตรงไปตรงมา แล้วรอให้ลูกสงบลงในอ้อมกอดของเรา

 

จากนั้นค่อยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกว่าเขาสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้หากเขาใจเย็นมากขึ้น แล้วลงมือทำใหม่อีกครั้งโดยมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ ตรงนี้ และชื่นชมหากทำได้ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ถูกทอดทิ้ง และปลอดภัยในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเขามีดีพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ และยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นและความมั่นใจในตนเองของลูกได้ดีอีกด้วย

 

สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การเอาความรู้สึกและความเห็นของผู้ใหญ่อย่างเราลงไปตัดสินการร้องไห้ของลูก และเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเขา อย่างคำว่า...

“ร้องไห้ทำไม ไม่เห็รมีอะไร”
“เรื่องเล็กแค่นี้เอง”
“ทำไมเป็นเด็กขี้แงแบบนี้”
“ทำไมไม่รู้จักโตเสียที”
“ก็สมควรแล้วที่เป็นแบบนี้”
“โดนแบบนี้ซะบ้าง จะได้จำ” ฯลฯ

 

คำตัดสินและซ้ำเติมเหล่านี้จะยิ่งกดให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่าเสียงของเขาไม่มีความหมายในสายตาของผู้ใหญ่ ตรงกันข้าม ก็คือ เราก็ไม่ควรโอ๋หรือลงมือแก้ปัญหาให้กับลูกทันทีที่ลูกร้องไห้ เพราะนั่นไม่ได้ช่วยทำให้เขาเติบโตขึ้นจากน้ำตาและความรู้สึกสักนิดเดียว

 

น้ำตาและเสียงร้องคือเรื่องปกติของเด็ก แต่จะทำอย่างไรให้เขาเติบโตและจัดการกับการร้องไห้ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญก็คือ การร้องไห้ ไม่เท่ากับ ความอ่อนแอ เพราะไม่ว่าคนเราจะแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม ทุกคนร้องไห้ได้นะครับ

..."สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ ‘ตั้งสติ’ ก่อนเป็นอันดับแรก"...

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง