395
1...2...3...4... ฉันจะไม่ปรี๊ดใส่ลูก

1...2...3...4... ฉันจะไม่ปรี๊ดใส่ลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : July 4, 2023

 

ของเล่นที่กระจัดกระจาย กับข้าวที่ถูกทิ้งลงพื้นตอนกินข้าว เสียงกรีดร้องอาละวาดที่ไม่ยอมอาบน้ำ ฯลฯ พฤติกรรมของลูกต่าง ๆ นานาในยามที่สมองและร่างกายของเขาเติบโต

 

พฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อเติบโตของลูก เรียนรู้ที่จะใช้แขนขาปีนป่าย วิ่งเล่น เรียนรู้ที่จะทำตาม เรียนรู้ที่จะพูดปฏิเสธ ไม่ทำตามคำบอกของพ่อแม่ เรียนรู้ความรู้สึกหงุดหงิด เสียใจ ดีใจ โกรธ และอีกหลายร้อยอารมณ์ความรู้สึกที่กระทบสมองส่วนอารมณ์ให้ร่างกายแสดงออกมาภายนอกในรูปแบบของเสียงร้องไห้ เสียงตะโกน การใช้มือตีตัวเอง ตีตนอื่น ทำลายข้าวของ หรือจะร้องไห้เงียบ ๆ ไม่พูด ไม่มองหน้า งอน และอีกหลายร้อยการแสดงออกในวันที่สมองน้อย ๆ ของเขาถูกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบในแต่ละวันที่เขาเติบโต

 

 

พฤติกรรมเหล่านี้อาจเพื่อระบายความรู้สึก หรืออาจเพื่อ ‘ทดสอบ’

พ่อแม่ผู้ปกครองว่าจะตอบสนองต่อการกระทำของเขาอย่างไร ร้องแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า ขว้างแล้วเกิดอะไรขึ้น หรือร้องไห้ไม่ยอมอาบน้ำแล้วสามารถดึงเวลาที่จะไม่อาบน้ำได้นานแค่ไหน

 

หาก 'ได้' เขาก็จะเรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำหากเกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำอีกครั้ง ดังนั้นเสียงร้องไห้ เสียงตะโกนจึงมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ กับเรื่องเดิม ๆ เกิดสงครามก่อนอาบน้ำแปรงฟันซ้ำ ๆ เกิดอาการกรีดร้องอยากกินขนมทุกครั้งที่ไปที่ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ยิ่งตอบสนอง พฤติกรรมที่ปวดเศียรเวียนเกล้าเหล่านี้ยิ่งเกิดซ้ำ ๆ เพิ่มขึ้น

 

 

..."ทุกวันในการเลี้ยงลูก คือ การทดสอบความอดทนอดกลั้นของจิตใจพ่อแม่เสมอ"...

 

 

ดังนั้นหน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ 'การปรับพฤติกรรมของลูก' ขีดเส้นแบ่งว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ สิ่งใดสามารถต่อรองได้ สิ่งใดต่อรองไม่ได้แล้ว โดยอยู่บนพื้นฐานว่า สิ่งที่ห้ามทำและทำไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือ การทำร้ายตัวเอง การทำร้ายคนอื่น และการทำลายสิ่งของ สิ่งที่ต่อรองไม่ได้แล้วคือสิ่งที่พ่อแม่และลูกได้ตกลงกันอย่างชัดเจนกันตั้งแต่ต้นแล้ว เช่น ต้องทำการบ้านก่อนแล้วจึงเล่นได้ หรือขอเล่นเกม 30 นาทีก็ไม่ควรมีการต่อรองอีก เป็นต้น

 

 

บางพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจเรา บางครั้งการไม่ทัก ไม่ให้ค่า เพิกเฉยบ้างก็เป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้พฤติกรรมนั้นหายไป เช่น การทิ้งอาหารลงพื้น ส่วนใหญ่ยิ่งทักยิ่งทิ้ง ลูกดูด นิ้ว แค่จับเอานิ้วออกแล้วหาอะไรอย่างอื่นให้ลูกทำ ไม่ทักไม่ห้าม ก็ดีขึ้นได้ เป็นต้น

 

ส่วนพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก วิธีการดูแลที่ดีที่สุดก็คือ สงบนิ่งและสื่อสารด้วยความเข้าใจ เพราะขณะที่อารมณ์ลูกนั้นพุ่งพล่าน เขาต้องการคนที่อยู่เคียงข้าง คนที่สงบ คนที่เป็นเหมือนน้ำเย็นที่ช่วยให้เขาควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ นี่คือ การพัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้าของเด็ก หรือที่เราเรียกว่า Executive Function หรือ EF นั่นเอง

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการจัดการกับพฤติกรรมของลูกก็คือ ‘ความอดทนของพ่อแม่’ และ ‘สติ’ นั่นเอง เพราะทุกวันในการเลี้ยงลูกคือการฝึกสติขั้นสูงสุด เราควรต้องรู้เท่าทันและควบคุมความรู้สึกของตัวเราได้ก่อนที่จะสอนให้ลูกควบคุมตัวเอง เพราะหากพ่อแม่คุมตัวเองไม่ได้ ปรี๊ดแตก สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วจะแย่ลงได้อีก และมักจบลงที่บาดแผลระหว่างกันทั้งทางจิตใจ และหลายครั้งจบลงที่การลงไม้ลงมือตีลูกนั่นเอง

 

วิธีการควบคุมอารมณ์เฉพาะหน้าที่ทำได้ เช่น การหายใจลึก ๆ นับ 1-10 ก่อนจะพูดหรือทำอะไรลงไป เพื่อให้การกระทำช้าลงบ้าง หลายอย่างฝึกเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง (เพราะบางทีลูกยังไม่ได้ทำอะไรผิด แต่แค่ไม่ถูกใจเราเท่านั้น) และอย่าลืมคิดถึงเหตุการณ์ตรงหน้าด้วยมุมมองของลูกด้วยนะครับ แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ แนะนำให้เดินออกไปจากเหตุการณ์นั้นเพื่อไปสงบสติอารมณ์คนเดียวสักพักก่อนก็เป็นทางเลือกที่ดีนะครับ

 

 

..."เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขและมีสติกันดีกว่าครับ"...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง