1330
'ดื้อไม่ดื้อ' ต้องดูด้วย ?

'ดื้อไม่ดื้อ' ต้องดูด้วย ?

โพสต์เมื่อวันที่ : October 9, 2023

 

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมไม่ดีซ้ำ ๆ แถมสอนยังไงก็ไม่เปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ที่ไม่ดีบ่อย ๆ เหล่านี้ อาจหล่อหลอมให้พ่อแม่สร้างความเชื่อต่อลูกคนนี้ว่า “ดื้อต่อต้าน”

 

ความเชื่อนี้ก็อาจสร้างอคติต่อลูกโดยไม่รู้ตัว เช่น เราอาจบ่นลูกทั้ง ๆ ที่ลูกยังไม่ได้ทำอะไรผิด หรือไม่รู้ตัวว่ามีสีหน้าบึ้งตึงเวลาคุยกับลูก หรืออาจดุด่ารุนแรงเกินกว่าความผิดที่ลูกทำ ซึ่งตามปกติแล้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักมี “ความเชื่อ” กับลูกแต่ละคนโดยไม่รู้ตัว ถ้าลูกคนไหนเลี้ยงง่าย พูดง่าย หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เราจะเผลอส่งยิ้มให้บ่อยเวลาที่คุยกัน แต่หากลูกคนไหนขี้ดื้อขี้โมโห เจอหน้ากันเราก็อาจกังวล ทำให้สีหน้าไม่ยิ้มแย้มเท่าคนแรกเวลาที่คุยกัน (ถึงแม้จะรักเท่ากัน)

 

 

ความเชื่อที่มีอคติว่า "ลูกดื้อมักสร้างปัญหา" อาจทำให้เราต่อว่าลูกผิดคน

เช่น ลูกที่ดื้อชอบลืมเก็บกรรไกร พอเราเห็นกรรไกรวางอยู่ที่พื้น ก็จะดุคนนี้ก่อน “ทำไมไม่รู้จักเอากรรไกรไปเก็บไว้ที่เดิม” ทั้ง ๆ ที่เป็นลูกอีกคนทำ หรือมักเผลอเตือนลูกบ่อย ๆ ว่า เก็บรองเท้าเข้าชั้นด้วยนะ, ล้างมือก่อนกินข้าวด้วย, ไม่วิ่งในห้างฯนะ ทั้ง ๆ ที่ลูกยังไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ที่แย่ไปกว่านั้น บางครั้งลูกก็ทำตัวน่ารักแล้ว, เก็บรองเท้าเข้าชั้นแล้ว, ล้างมือเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้วิ่งในห้างเลย แต่พ่อแม่ก็ยังเตือนแบบเดิม โดยไม่สนใจพฤติกรรมดี ๆ ที่เกิดขึ้น

 

 

การดุ - บ่น - เตือน

ทั้ง ๆ ที่ลูกยังไม่ได้ทำอะไรผิด สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจของพ่อแม่ เป็นจิตใต้สำนึกที่เชื่อว่าลูกคนนี้ชอบก่อปัญหา การปล่อยให้จิตใต้สำนึกนำความคิด พูดในสิ่งที่เชื่อ ซึ่งไม่ใช่ความจริง ย่อมส่งผลเชิงลบต่อความรู้สึกและตัวตนลูก ลูกจะเสียใจ โกรธ ผิดหวัง เศร้า เบื่อ และอาจจะรับเอา “ความเชื่อจากพ่อแม่” เข้ามาเป็น “ความเชื่อของตนเอง” ลูกจะเชื่อว่า ตนเองเป็นเด็กไม่เอาไหน จะสูญเสียความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ทำให้ Self-esteem ต่ำ

 

ดังนั้นพ่อแม่จะต้องระมัดระวังตนเอง อย่าปล่อยให้จิตใต้สำนึกหรือความเชื่อจากประสบการณ์เก่า ๆ มากำหนดคำพูดในปัจจุบัน ซึ่งจะกำหนดชีวิตลูกของเราต่อไป หากลูกยังไม่ก่อปัญหาอะไร ก็อย่าเพิ่งพูด

 

หากลูกแสดงพฤติกรรมที่ดี พ่อแม่ก็ต้องชื่นชม เราต้องอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่อดีต มองให้เห็นพฤติกรรมดี ๆ ของลูก ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ดีกว่าไม่เปลี่ยนแปลง คำชมเล็กน้อยจากพ่อแม่มีคุณค่าต่อหัวใจลูกค่ะ ลูกจะรับรู้ได้ว่า ตัวเองก็มีข้อดีเหมือนกัน

 

เมื่อพ่อแม่อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น เราจะบ่นเรื่องอดีตลดลง จะลดอคติในใจ จะสอนลูกตามข้อเท็จจริงและใจเย็น เด็กทุกคนปรารถนาที่จะเป็นเด็กดีของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมองหาสิ่งดี ๆในตัวลูกและชื่นชมออกมาด้วยนะคะ

 

...“ลูกจะมองเห็นตนเองดีขึ้น ก็เมื่อพ่อแม่มองเห็นค่ะ”...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง