92
"เทคโนโลยี" ไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง

"เทคโนโลยี" ไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง

โพสต์เมื่อวันที่ : November 14, 2021

เทคโนโลยีไม่ได้ทำร้ายเด็กโดยตรง แต่ผู้ใหญ่ที่ส่งมอบเทคโนโลยีเหล่านั้นให้กับเด็กก่อนวัยอันควร และไม่สอนให้เขาใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธีต่างหากท่ีทำร้ายเขาโดยตรง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ การชะลอเวลาในการให้เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เข้าถึงเทคโนโลยีให้ช้าที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย

 

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเขา การอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟัง การชวนเขาทำงานบ้าน และการสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย เพราะ ...“การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งเขาควรจะได้เรียนรู้จากของจริง และการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง”...

 

คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยี

ถ้าหากเด็กปฐมวัยมีความจำเป็น (ย้ำว่าจำเป็นจริง ๆ) ต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จริง ๆ (ดูหน้าจอ) อ้างอิงจาก The American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่า...

 

❤︎ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือน ❤︎

ไม่ควรดูหน้าจอใด ๆ เลย มากที่สุดที่เด็กวัยนี้สามารถเข้าถึงหน้าจอ คือ อาจจะแค่เป็น video call เพื่อให้คนไกลได้เห็นลูกหลานของตัวเองเท่านั้น ในกรณีอื่นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

 

❤︎ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือน ถึง 2 ปี ❤︎

ถ้าหากมีความจำเป็น (จำเป็นมาก ๆ ไม่ใช่ดูเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือเล่นสำหรับเด็ก) ต้องดูหน้าจอจริง ๆ ไฟล์นั้น (วิดีโอนั้น) ต้องมีคุณภาพความละเอียดสูง และมีผู้ใหญ่คอยควบคุมกำกับดูแลตลอดเวลา ระยะเวลาในการดูแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 นาที ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 1 ครั้ง

 

❤︎ เด็กที่มีอายุ 2-5 ปี ❤︎

ถ้าหากจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องดูหน้าจอ ผู้ใหญ่ควรให้การกำกับดูแลตลอดเวลา และระยะเวลาในการดู ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อ 1 วัน รายการ หรือ Application นั่นควรมีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของเด็ก

 

❤︎ เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ❤︎

ควรได้รับการจำกัดเวลา ตามตารางกิจกรรมต่อวันที่เหมาะสมของเด็ก (เด็ก ๆ ควรทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาก่อนการมาดูหน้าจอ เช่น การกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เก็บที่นอน ทำงานบ้าน ทำการบ้าน หน้าจอควรมีไว้สำหรับเวลาว่าง ไม่ใช่เวลาหลักในชีวิตของเขา) และควรอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่และผู้ใหญ่

 

ก่อนจะมอบหน้าจอให้กับลูก พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า ลูกเราไม่ได้มีปัญหาเหล่านี้

 

1. พัฒนาการที่ล่าช้า เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ทำงานได้ไม่ตรงตามวัย และ มีปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร

2. มีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมรุนแรง เช่น ไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้เหมาะสม ทำผิดกฎ 3 ข้ออยู่เสมอ (ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ)

3. มีปัญหาเรื่องสมาธิ(สั้น)

4. ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย หรือรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้

5. ไม่มีใครอยู่ดูแลและคอยให้คำแนะนำกับลูกในการใช้หน้าจอได้

 

หากลูกหรือพ่อแม่ยังประสบปัญหาเหล่านี้ เราควรชะลอเวลาในการมอบหน้าจอให้กับเขาลง เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาและเติมเต็มในส่วนที่เขายังต้องการความช่วยเหลืออยู่

 

การทำข้อตกลงร่วมกับลูก

ก่อนจะมอบเทคโนโลยีให้กับลูกที่อยู่ในวัยดูหน้าจอได้แล้ว พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรกำหนดข้อตกลงร่วมกับลูกให้ชัดเจน เพราะการมาลดปริมาณและห้ามทีหลังนั้นทำได้ยากมาก ตัวอย่างข้อตกลงร่วมกัน (ตัวอย่างของบ้านที่มีลูกอายุ 9 ปี แต่ละบ้านสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)

 

1. ลูกต้องดูแลตัวเองได้ เช่น ตื่นนอน กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เตรียมตัวไปโรงเรียน ออกกำลังกาย

2. ลูกต้องดูแลการบ้านหรืองานบ้านที่ได้รับมอบหมายได้

3. ลูกสามารถดูหน้าจอได้วันละ 30 นาทีในวันจันทร์-พฤหัสบดี หลังทำกิจวัตร การบ้านและงานบ้านเสร็จแล้ว หรือในช่วงเวลา 19:00-19:30 ส่วนวันศุกร์เป็นเวลา Movie Time พ่อแม่และลูกจะผลัดกันเลือกหนังมาดูด้วยกัน

4. ลูกสามารถดูหน้าจอได้ 1 ชั่วโมงในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังจากทำการบ้านและงานบ้านเสร็จแล้ว

5. หากลูกไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และไม่สามารถรับผิดชอบการบ้านและงานที่ได้รับมอบหมายได้ พ่อแม่มีความจำเป็นต้องงดหน้าจอลูก จนกว่าลูกจะสามารถรับผิดชอบได้

6. หากลูกทำผิดกฎ 3 ข้อ ได้แก่ ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง และทำลายข้าวของ พ่อแม่มีความจำเป็นต้องงดหน้าจอลูกทันที และลูกจะได้คืนเมื่อพ่อแม่เห็นว่า ลูกสามารถทำตามกติกาได้

7. เวลากินข้าว เวลาก่อนนอน และเวลาที่เราเล่นบอร์ดเกม พ่อแม่และลูกจะงดใช้หน้าจอร่วมกัน

 

เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทน “เวลาคุณภาพระหว่างพ่อแม่ลูก” ได้ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เด็กทุกคนต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ ไม่ใช่พี่เลี้ยงหน้าจอ เด็กทุกคนต้องการสัมผัสรักจากพ่อแม่ของพวกเขา ทั้งสายตาจากพ่อแม่ที่มองมาที่เขา มือของพ่อแม่ที่พร้อมจะกอดพวกเขาด้วยรัก และการใช้เวลาร่วมกัน โดยไม่มีหน้าจอหรือสิ่งใดมาแย่งความสนใจของพ่อแม่จากพวกเขาไป

 

อ้างอิง 

AAP.org. (n.d.). Retrieved April 6, 2021, from https://www.aap.org/en-us/Pages/Default.aspx

 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง