44
พ่อแม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างไร ?

พ่อแม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างไร ?

โพสต์เมื่อวันที่ : August 24, 2022

 

ในวันที่เด็ก ๆ ต้องอยู่บ้านยาวนาน เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถจัดการ เรียนรู้ให้ลูกได้อย่างไรบ้าง

 

พ่อแม่อาจจะเป็นกังวลว่า “การที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียนจะทำให้เขาเรียนรู้ได้ช้ากว่าวัย” ในความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญของเด็กปฐมวัยไม่ใช่การเรียนวิชาการ แต่คือการเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะร่างกายที่พร้อมเท่ากับฐานที่มั่นคง

 

เมื่อมีฐานที่มั่นคง เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน ไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเรียนรู้ เพราะเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เราต้องเชื่อว่า “เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่จะช้าเร็ว หรือ ด้วยวิธีใด อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง" ดังนั้นก่อนจะเริ่มใส่เนื้อหาให้กับเด็ก ๆ เราควรควรเริ่มจาการปูพื้นฐานในช่วงปฐมวัยก่อน (0-6 ปี)

 

 

เริ่มปูพื้นฐานในช่วงปฐมวัย

● ข้อที่ 1 เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ดี ต้องมีร่างกายที่พร้อมก่อนเสมอ

ผู้ใหญ่จึงควรส่งเสริมเรื่อง ร่างกายและการช่วยเหลือตัวเองเป็นสำคัญ ก่อนจะกังวลเรื่องของการเขียน การอ่าน กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่แข็งแรง และเคลื่อนไหวได้ตามวัย ซึ่งเกิดจากการเล่นอย่างเต็มที่ ได้เดิน - วิ่ง - กระโดดขาคู่ - ขาเดียวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แขนแกว่งไกว ปีนป่ายอย่างคล่องแคล่ว มือกำ หยิบ จับ โยน ขว้าง อย่างแม่นยำ นิ้วมือทั้งสิบ หยิบ หนีบ กด ฉีก ตัด อย่างแข็งแรง

 

เมื่อร่างกายพร้อม เขาจะสามารถเขียนได้อย่างทนทาน มีสมาธิจดจ่อฟังในสิ่งที่เราสอนจดจำตัวอักษรซึ่งนำไปสู่การอ่านได้อย่างดี แม้จะเริ่มอ่านเขียนช้ากว่าเด็กที่เร่งเรียน แต่เด็กที่ฐานแน่นจะมั่นคงและเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน

 

 

● ข้อที่ 2 การช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)

ไม่มีประโยชน์อันใด หากเด็กท่อง ก - ฮ ได้ แต่เขากินข้าวเองไม่เป็น เพราะความมั่นใจในตนเองมี รากฐานมาจาก การรับรู้ความสามารถในร่างกายของตัวเอง “ฉันสามารถทำสิ่งนี้ด้วยตัวเองได้ ฉันสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาทำให้ฉัน” ดังนั้นเมื่อฉันอยู่ที่ไหน ฉันก็สามารถทำได้

 

ทักษะการช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรทำได้ก่อนพ้นวัย 6 ปีขึ้นไป ได้แก่ หยิบจับอาหารเข้าปาก และใช้ช้อน-ส้อมได้ตามวัย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ติดกระดุม รูดซิป ตามวัย และการควบคุมการขับถ่ายเมื่อพร้อม

 

 

● ข้อที่ 3 เรียนรู้การควบคุมตนเอง (Self-regulation)

เมื่อร่างกายแข็งแรง และควบคุมร่างกายได้สมวัย เขาจะมีความมั่นใจที่จะเรียนรู้หรือลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญเมื่อควบคุมร่างกายได้ เขาจะเริ่มควบคุมการกระทำของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การมีสมาธิจดจ่อ ตามวัยได้ในที่สุด

 

ดังนั้นในเด็กปฐมวัย ควรได้เน้นเรื่อง “การเตรียมพร้อมร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็กเล็ก - ใหญ่)” ผ่านการ เล่นให้เพียงพอ และเน้นเรื่อง “การช่วยเหลือตัวเองตามวัย” ผ่านการให้เด็กลงมือทำให้มากที่สุด ชะลอ การช่วยเหลือ และส่งเสริมให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ใหม่ ๆ เสมอ อย่ากลัวเลอะ หรือเร่งให้เขาทำให้เสร็จทันใจเรา

 

 

● ข้อที่ 4 เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบและลงมือทำ

เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบได้ดีที่สุดจากการได้ดูตัวแบบในชีวิตจริงและการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไป พร้อมกับเขา ไม่ใช่ผ่านการฟัง หรือ จากการดูในสื่อหน้าจอต่าง ๆ

ดังนั้น แม้หน้าจอจะมีเนื้อหามากมาย แต่ความสำคัญในเวลานี้ไม่ใช่เนื้อหาในหน้าจอ แต่เป็นการ ลงมือทำในชีวิตจริง เด็กจะมีสมาธิ และจดจ่อได้ดีกว่า เมื่อเขาได้ลงมือทำกับผู้ใหญ่

 

ที่สำคัญ การดูหน้าจอในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี มักจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้รับมา เช่น พฤติกรรมการ ติดหน้าจอ สมาธิที่ลดน้อยลง และอารมณ์ที่ไม่มั่นคง สาเหตุมาจาก “สมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex)” ของเด็กวัยนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้ควบคุมเรื่องของการควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการควบคุมตัวเองในเด็กเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้ม จะติดหน้าจอได้มากกว่าผู้ใหญ่ เขาห้ามตัวเองได้ยากกว่าเรา

 

 

● ข้อที่ 5 เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร การพูดและการฟัง

 

▶︎ “การพูด” เด็กเล็กควรเรียนรู้การสื่อสารอย่างเหมาะสม “บอกความต้องการ” “บอกปฏิเสธ” และ “ขอความช่วย เหลือ” เมื่อทำไม่ได้ด้วยตนเอง ถ้าเด็กยังไม่พูด เราสามารถให้เขาพาเราไปดู ชี้บอก หรือ ใช้ภาษากาย ช่วยสื่อสารได้ เพื่อลดความคับข้องใจ

 

ในเด็กที่สื่อสารไม่ได้ จะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำร้ายร่างกายตนเอง หรือผู้อื่น ร้องไห้ กรีดร้อง และอื่น ดังนั้นยิ่งเราสอนเขาให้สื่อสารอย่างเหมาะสมเท่าไหร่ เด็กจะลด พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงไปเท่านั้น

 

 

▶︎ “การฟัง” ฟังแล้วตอบสนองต่อคำสั่ง หรือ สื่อสารกลับมา

  • เด็กวัย 1-2 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 1 คำสั่งง่าย ๆ เช่น กิน หม่ำ ๆ ยิ้ม มา ๆ เป็นต้น

 

  • เด็กวัย 2-2.6 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 2 ขั้นตอน เช่น แม่อยู่ไหน (ให้เขาชี้บุคคล) นกอยู่ไหน (ชี้ในหนังสือ) มาหาแม่ เป็นต้น

 

  • เด็กวัย 2.6-3 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 2 ขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวกัน เช่น เอาบอลมาให้แม่ ป้อนข้าว น้องตุ๊กตา อันไหนใหญ่ ใครอยู่ที่ไหน เป็นต้น

 

  • เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป เข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนขึ้น การให้เด็กทำกิจกรรมต่อเนื่อง 2-3 ขั้นตอน เช่น เดินไป หยิบบอลกลับมาใส่ตระกร้า เอาผ้าไปหนีบบนราวตากผ้า เป็นต้น เริ่มมีการต่อรอง แต่ยังยึดตัวเองเป็น ศูนย์กลาง

 

  • เด็กวัย 4-5 ปี เด็กเริ่มเข้าใจเหตุผล เริ่มประนีประนอมกับเพื่อน เพราะเขาอยากเล่นกับคนอื่น ต่อรองเก่งขึ้น เขาจะเริ่มนับเลขและเข้าใจจำนวนในช่วงวัยนี้ เด็กที่ทราบจำนวน จึงจะเข้าใจว่า เลข 1 ต่างกับ เลข 2 เพราะ 1 มีจำนวนแค่ 1 อัน ส่วน 2 มีจำนวน มากกว่าจึงมาทีหลัง ไม่ใช่การนับเลขแบบท่องจำเหมือนช่วงวัยที่ผ่านมาอีกต่อไป

 

  • เด็กวัย 6 ปี เด็กเริ่มใช้เหตุผลกับผู้อื่น เริ่มเข้าใจลำดับ อะไรเกิดก่อนหลัง รู้จักและจำพยัญชนะได้ เข้าใจสัญลักษณ์ว่าเป็นตัวแทนของอะไร

 

ดังนั้นการให้เด็กเร่งท่องตัวอักษร หรือ เร่งให้เขียน ก่อนวัย เราจะพลาดโอกาสในการเติมฐานในเรื่อง ของการเข้าใจและการสื่อสารของเด็กไป เพราะเด็กจะรับสารทางเดียว และพัฒนาเพียงการท่องจำ แต่เขาไม่เข้าใจอย่างแท้จริง การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง คือ การส่งเสริมทักษะการฟัง และเพิ่มคลังคำศัพท์ให้เด็ก ๆ อย่างมากมาย

 

 

● ข้อที่ 6 เรียนรู้เรื่องอารมณ์

เด็กปฐมวัย สามารถเริ่มเรียนรู้อารมณ์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เศร้า มีความสุข ได้ตั้งแต่เขาเริ่มสื่อสาร และจะเรียนรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ละเอียดขึ้นในวัยต่อ ๆ มา ยิ่งเด็กได้เรียนรู้ว่า “ตนเองนั้นรู้สึกอย่างไรอยู่” จะนำไปสู่การเข้าใจตนเอง และการแสดงออกที่เหมาะสมมากขึ้น เราสามารถสอนเรื่องอารมณ์ในเด็กผ่านการแสดงสีหน้า หรือเล่นบทบาทสมมติกับเขา

 

 

● ข้อที่ 7 เรียนรู้การทำงานบ้าน

ไม่มีงานใด สอนเด็กได้ดีกว่า “งานบ้าน” เพราะงานบ้านได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ และการรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ก่อนเด็กจะได้การบ้าน เด็ก ๆ ควรได้รับงานบ้านก่อน เด็กที่รับผิดชอบต่องานบ้านได้ เขาจะสามารถรับผิดชอบต่องานอื่น ๆ ได้อย่างสบาย ๆ

 

 

สุดท้ายเด็กปฐมวัยทุกคน ควรได้รับความรักจากผู้เลี้ยงดูที่รักเขาอย่างปราศจากเงื่อนไข รักเขาใน แบบที่เขาเป็นและเตรียมความพร้อมให้เขาสำหรับการเรียนรู้ในขั้นที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่เร่งเขาให้เรียนรู้ ก่อนวัย และกลัวหรือไม่อยากเรียนรู้ในอนาคต

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง