288
"ความสนุกสนาน" แรงเสริมช่วยเด็กออกกำลังกาย

"ความสนุกสนาน" แรงเสริมช่วยเด็กออกกำลังกาย

โพสต์เมื่อวันที่ : July 6, 2023

 

“เด็กเล็กไม่ควรถูกปล่อยให้นั่งนิ่ง ๆ หรืออยู่ในรถเข็นเด็กนานเกิน 60 นาทีต่อวัน ในขณะที่เด็กโตควรได้เคลื่อนไหวร่างกายผ่านการออกกำลังกายที่หลายหลายอย่างน้อยวันละ 180 นาทีขึ้นไป” - องค์การอนามัยโลก

 

การเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายถูกบรรจุเป็น “คำแนะนำ” ในการใช้ชีวิตต่อวันสำหรับทุกคนในครอบครัว มิได้จำกัดเฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น โดยผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีควรทำกิจกรรมออกกำลังกายแบบที่มีระดับการเคลื่อนไหวร่างกายแบบปานกลางอย่างร้อยสัปดาห์ละ 150 - 300 นาที หรือทำกิจกรรมที่มีความเข้มข้นสูง (ออกกำลังกายหนักที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง) สัปดาห์ละ 75 - 150 นาที

 

สำหรับเด็ก การได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระนั้นเป็นสิ่งที่เด็กทั่วไปทำกันอยู่แล้วผ่าน ‘การเล่น’ โดยพบว่าเด็กเป็นวัยที่เรียนรู้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวผ่านการเล่นอยู่แล้วโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวอย่างการเดิน การวิ่ง การปีนป่าย และการกระโดดโลดเต้น ทั่วไปหากเด็กไม่ได้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวจากสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราหยิบยื่นให้อย่างรถเข็น รถหัดเดิน (ซึ่งไม่ได้หัดเดิน แถมยังอันตรายและส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กอีกด้วย) รวมถึง ‘หน้าจอ’ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถตรึงเด็กให้อยู่กับที่ได้จนน่าอัศจรรย์และน่ากลัวไปพร้อม ๆ กัน

 

 

วิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือ การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างที่เขาต้องการ

หลักสำคัญในการส่งเสริมการออกกำลังกายในเด็กก็คือ ‘ความสนุก’ การเล่นต้องสนุก เด็กต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสนุกสนาน ซึ่งจะแตกต่างจากการออกกำลังกายของผู้ใหญ่ที่มักเป็นมีความชัดเจนของวิธีการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเล่ห์บอล โยคะ หรือเต้นแอโรบิค เป็นต้น กิจกรรมสำหรับเด็กจึงต้องเน้นที่ความสนุกสนาน ความมีส่วนร่วมให้เหมาะสมตามวัยและพัฒนาการของเด็ก

 

ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งไล่จับ การปีนป่ายต้นไม้ละแวกบ้าน การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น การโยนรับลูกบอล เตะบอลรับส่ง และเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยประถมศึกษาก็อาจปรับเปลี่ยนเป็นการเล่นกีฬาที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้ในลักษณะเดียวกับการออกกำลังกายของผู้ใหญ่ได้ หลายครอบครัวก็พากันไปวิ่งจ็อกกิ้งกันตอนเย็นหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น อย่าบังคับให้ลูกทำกิจกรรมที่เขาไม่ได้สนใจหรือไม่ได้อยากเข้าร่วมลงมือทำ

 

เหตุที่การเคลื่อนไหวร่างกายนั้นจำเป็นต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ก็เพราะ การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นวิธีการปลดปล่อยพลังงานที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เด็กยังได้เรียนรู้ผ่านการใช้มือ เท้าและร่างกาย ฝึกการทรงตัว การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อแขน - ขา - มือ - เท้าและสายตาผ่านการวิ่ง การไถจักรยานทรงตัว การปั่นจักรยาน การปีนป่ายเครื่องเล่น ต้นไม้ และบันได นอกจากนั้นยังดีต่อสุขภาพกายและใจอีกด้วย และนั่นเป็นเหตุผลเดียวกันที่ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

 

ผลดีต่อสุขภาพ ผลดีต่อกล้ามเนื้อ (เพิ่มประสิทธิภาพและมวลกล้ามเนื้อ) ต่อระบบการหายใจและระบบหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกหลายโรค (ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก) ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงลดการหกล้มและการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ในระยะยาวยังพบว่ากาลดพฤติกรรมการนั่ง ๆ นอน ๆ ที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย อย่างการดูหน้าจอมือถือ โทรทัศน์ รวมถึงการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 เทียบกับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

งานวิจัย พบว่า การออกกำลังกายส่งผลต่อการทำงานของสมองทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองถึงในระดับของ ‘สารเคมีสื่อประสาท’ ที่ส่งผลดีต่ออารมณ์และพฤติกรรมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลั่งสารอะดรีนาลินและเอ็นดอร์ฟินที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีและมีความสุข (ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างการซึมเศร้า วิตกกังวลและความเครียดดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย)

 

 

งานวิจัยพบอีกว่า การออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายในระดับหนักปานกลาง - หนักมาก (Moderate - to - Vigorous Exercise) ในเด็กช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซึมเศร้าในเด็กวัยเรียนได้ นอกจากนี้เมื่ออารมณ์ดีขึ้น ส่งผลให้การควบคุมตัวเองดีขึ้น และทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้ดีขึ้นด้วย สรุปก็คือ ทุกคนควรต้องออกกำลังกาย หากไม่รู้จะเริ่มวันไหน ให้เริ่มที่วันนี้ได้เลย

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง